• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ถาม : บุศกร/กรุงเทพฯ

ดิฉันอายุ ๔๐ ปีแล้ว เป็นคนหนึ่งที่ชอบกลั้นปัสสาวะบ่อย เพราะการจราจรที่ติดหนักเวลาเดินทางไปทำงาน ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ต่อมาระยะหลังปวดปัสสาวะบ่อย แต่พอเข้าห้องน้ำก็ออกมากะปริดกะปรอยเท่านั้น  จากการหาข้อมูลสุขภาพทางเว็บไซต์ พบว่ามีอาการใกล้เคียงกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดิฉันจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรดี

 

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

อาการของผู้ที่เข้าข่ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็คือขัดเบา ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย ออกทีละน้อย รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ มักจะต้องเข้าห้องน้ำทุกชั่วโมงหรือชั่วโมงละหลายครั้ง มีอาการคล้ายถ่ายไม่สุดอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย (หัวหน่าว) ร่วมด้วย ปัสสาวะมักจะออกใสๆ แต่บางคนอาจขุ่นหรือมีเลือดปน
เมื่อมีอาการขัดเบาซึ่งสงสัยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรปฏิบัติตัวดังนี้

๑. ดื่มน้ำมากๆ วันละ ๓-๔ ลิตร (เฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ ๑ แก้ว) แล้วถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด น้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออก และช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ

๒. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน ๒-๓ วัน จึงค่อยกินยาปฏิชีวนะ การใช้ยาปฏิชีวนะควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน โดยทั่วไปถ้าไม่เคยแพ้ยา มักจะแนะนำให้กินยาเม็ดอะม็อกซีซิลลิน (ขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม) หรือยาเม็ดโคไตรม็อกซาโซล วันละ ๒ ครั้ง ทุก ๑๒ ชั่วโมง ผู้ใหญ่กินครั้งละ ๒ เม็ด เด็กโตครั้งละ ๑ เม็ด ถ้ารู้สึกดีขึ้น ควรกินให้ครบ ๓ วัน เป็นอย่างน้อย

๓. เมื่อรักษาหายแล้ว ต่อไปต้องพยายามอย่าอั้นปัสสาวะเป็นอันขาด มิเช่นนั้นอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็จะกลับมาเป็นได้อีก

๔. จะต้องไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

► มีอาการไข้ หนองไหล ตกขาว ถ่ายเป็นเลือด หรือกระหายน้ำบ่อยร่วมด้วย

► ดูแลตัวเอง ๒-๓ วัน แล้วยังไม่ดีขึ้น

► เป็นๆ หายๆ บ่อย

► มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

► ผู้ชายทุกคนที่มีอาการขัดเบา แม้ว่าจะเริ่มเป็นครั้งแรก ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่ใจ เนื่องจากสรีระของผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบน้อยมาก ถ้ามีอาการอาจมีโรคอื่นซ่อนเร้นอยู่ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะพื้นฐาน เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล กิน ๓ วัน แต่ถ้าสงสัยมีการแพ้ยา หรือดื้อยาเหล่านี้ ก็อาจให้ยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ นอร์ฟล็อกซาซิน

ในรายที่เป็นๆ หายๆ บ่อย อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น การนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ แล้วให้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อที่พบ การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะแล้วแก้ไขตามสาเหตุที่พบ ตรวจเลือดดูว่าเป็นเบาหวานร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าพบก็ให้ยารักษาเบาหวานไปพร้อมกัน เป็นต้น มีวิธีป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบง่ายๆ คือ พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ และอย่าอั้นปัสสาวะ ควรฝึกถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวดจนเป็นนิสัย เวลาเดินทางไกล ต้องฝึกให้เคยชินที่จะเข้าห้องน้ำนอกบ้าน ถ้ากลัวไม่สะอาดก็ชำระล้างโถส้วมให้สะอาดเสียก่อน เวลาเข้านอน ถ้าไม่สะดวกจะลุกเข้าห้องน้ำ ควรเตรียมกระโถนไว้ข้างเตียง