เมื่อเอ่ยถึงคำว่า เพชรหึง คนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึง ลมพายุขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งมักถูกเอาไปเปรียบเทียบกับอารมณ์หึงหวงอย่างรุนแรงของสามีภรรยา หรือคนรัก ทำให้เห็นภาพพจน์ว่า สามารถสร้างความเสียหายได้เทียบเท่ากับลมเพชรหึงเลยทีเดียว
แต่เพชรหึง ยังมีอีกความหมายหนึ่ง สำหรับคนไทย นั่นคือเป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไทยแต่ก่อนเรียกว่า ว่านเพชรหึง ทั้งที่ความจริง เพชรหึง อยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) แต่เป็นกล้วยไม้ขนาดใหญ่กว่ากล้วยไม้ทั่วไปมาก คนไทยจึงมักจะไม่คิดว่าเพชรหึงเป็นกล้วยไม้
เพชรหึง : กล้วยไม้ใหญ่ที่สุดในโลกจากป่าไทย
เพชรหึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Grammatophyllum specinocum BL. อยู่ในวงศ์ Orchidaceae หรือวงศ์กล้วยไม้ นั่นเอง
ลำต้น อาจสูงถึงกว่า 3 เมตร มีข้อตามลำต้นห่าง กันประมาณ 4 เซนติเมตร ลำต้นแก่มีสีเหลือง เส้น ผ่าศูนย์กลางลำต้นอาจถึง 5 เซนติเมตร แตกหน่อออกทางด้านข้าง
ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันบนลำต้น ใบกว้างราว 3 เซนติเมตร ยาวราว 60 เซนติเมตร ใบอ่อน โค้งลงด้านล่าง ใบเมื่อแก่จัดจะร่วงหลุดไปจากลำต้นทิ้งรอยแผลเป็นไว้เป็นระยะๆ ที่มองคล้ายข้อบนลำต้นนั่นเอง
ดอก ออกราวเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม โดยดอกจะทยอยบานติดต่อกันนานถึง 3 เดือน ช่อดอกมีทั้งชนิดช่อตั้งและช่อห้อย แต่ละช่ออาจยาวได้ 1.5 ถึง 2 เมตร ก้านดอกยาว 15-30 เซนติเมตร แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 3 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน มีรังไข่อยู่ 3 ห้อง
เพชรหึงออกดอกตามบริเวณยอด ครั้งละ 2-3 ช่อ กลีบดอกสีเหลือง มีจุดประสีแดงเข้ม แต่บางต้นก็ไม่มีจุดสีแดงเลย
ผล ผลมี 3 พู รูปร่างยาว เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ มีเมล็ดสีดำขนาดเล็กอยู่มากมายปลิวไปตามลม
เพชรหึงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และหมู่เกาะตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบอยู่ตามธรรมชาติในป่าของจังหวัดพิษณุโลก เลย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และ นราธิวาส
ชื่อที่เรียกในประเทศไทยคือ ว่านเพชรหึง ว่านหางช้าง ว่านงูเหลือม กล้วยกา เอื้องพร้าว เป็นต้น ในภาษาอังกฤษเรียก Leopard Flower
เหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ในอดีตเรียกเพชรหึงว่าว่านนั้น เพราะเพชรหึงมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง เช่น แก้พิษตะขาบ แมงป่อง แก้พิษงูกัด รักษาอาการผื่นคันมีน้ำเหลือง รักษาฝีประคำร้อย และรักษาอาการไอ เจ็บคอ เป็นต้น
ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ (พ.ศ.2416 ) อธิบายว่า เพ็ชหึง : คือเป็นชื่อว่านอย่างหนึ่ง เหมือนลมเพ็ชหึงนั้น
ในหนังสือตำรากบิลว่าน กล่าวว่า เมื่อดอกว่านเพชรหึงแก่ ก้านดอกจะส่ายไปมา คล้ายงูโยกหัว เมื่อมีพายุใหญ่ (ลมเพชรหึง) พัดมา จะมีเสียงคล้ายจุดประทัด แล้วดอกว่านเพชรหึงจะหายไปพร้อมกับพายุ จากความ เชื่อนี้คงเป็นคำอธิบายให้เข้าใจว่า ทำไมคนไทยจึงตั้งชื่อ พืชชนิดนี้ว่า " เพชรหึง " เพราะว่าเกี่ยวข้องกับลมเพชรหึง ดังที่อธิบายไว้ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2416 นั่นเอง
- อ่าน 27,446 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้