• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัดใหญ่

 
แม้ว่าหมอชาวบ้านจะได้เคยลงเรื่องไข้หวัดใหญ่มาหลายโอกาสแล้วก็ตาม ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องไข้หวัดใหญ่ในคอลัมน์นี้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงโรคนี้อย่างละเอียดทุกแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่การแพร่ข่าวการป่วยและการตายของคนไทยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ผู้คนตื่นกลัว แห่กันเข้ามาตรวจที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ อย่างเนืองแน่น โดยที่จำนวนไม่น้อยเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาและไข้เล็กน้อยจากสาเหตุอื่น


* ชื่อภาษาไทย :
ไข้หวัดใหญ่
        
* ชื่อภาษาอังกฤษ : Influenza, Flu
        
* สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จัดอยู่ในกลุ่ม orthomyxovirus

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (A) บี (B) และซี (C) 2 ชนิดหลังมีความรุนแรงและระบาด ได้น้อยกว่าชนิดเอ

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ มักก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาจพบระบาดได้กว้างขวาง และสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่อยู่ได้เรื่อยๆ ไวรัสชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์  (ชนิดบีและซี พบได้เฉพาะในคนเท่านั้น) แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีนที่พบบนผิวของเชื้อไวรัสโปรตีนดังกล่าวมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin เรียกย่อยว่า H) ซึ่งมีอยู่ 16 ชนิดย่อย และนิวรามินิเดส (neuraminidase เรียกย่อว่า N) ซึ่งมีอยู่ ๙ ชนิดย่อย ในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวอักษร H ควบกับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายอักษรแต่ละตัวตามชนิดของโปรตีน เช่น

♦ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เป็นต้นเหตุ ของการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2461-2462 มีผู้ป่วย 500-1,000 ล้านราย คร่าชีวิตผู้คนระหว่าง 20-40 ล้านราย เนื่องจากมี ต้นตอที่ประเทศสเปน จึงมีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) เชื้อสายพันธุ์นี้กลับมา    ระบาดใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2520 เนื่องจากมีต้นตอจากรัสเซีย จึงเรียกว่าไข้หวัดใหญ่ รัสเซีย (Russian flu)

♦ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบ   ในหมู สัตว์ปีก และคน พบระบาดครั้งแรกในประเทศเม็กซิโก ตอนเริ่มแรกจึงเรียกว่า ไข้หวัดเม็กซิโก (Mexican flu) และไข้หวัดใหญ่หมู (Swine flu เนื่องจากพบชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสในหมูเป็นส่วนสำคัญ) ต่อมาจึงได้เรียกเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน  ขณะนี้      ไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ได้ระบาดไปทั่วโลกแล้ว คาดว่าจะต่อเนื่องไปอีก 1-3 ปี

♦ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 เป็นต้นเหตุ การระบาดของไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี พ.ศ. 2500-2501 คร่าชีวิตผู้คนไปราว 2 ล้านคน

♦ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 เป็นต้นเหตุ การระบาดของไข้หวัดฮ่องกงในปี พ.ศ. 2511-2512 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 1 ล้านคน

♦ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 เป็นต้นเหตุ ของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian flu) หรือที่      ไทยนิยมเรียกว่าไข้หวัดนก เริ่มระบาดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความร้ายแรงสูง แต่โชคดีที่ติดจากสัตว์ปีกสู่คน แต่ยังติดจากคนสู่คนได้น้อยมาก จึงแพร่กระจายได้น้อย


วิธีแพร่เชื้อ
เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่ให้คนอื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย แพร่เชื้อได้มากสุดใน ๓ วันแรกที่มีอาการป่วย (ส่วนใหญ่มักจะแพร่เชื้อไม่เกิน 7 วัน) ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดภายในระยะไม่เกิน ๑ เมตร  หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อน (กล่าวคือ เชื้อไวรัสอาจติดที่มือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ป่วยไอหรือจามใส่ เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือหรือสิ่งแปดเปื้อนเชื้อ เชื้อก็จะติดที่มือของคนคนนั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนคนนั้น)
 


นอกจากนี้ เชื้อไข้หวัดใหญ่ยังสามารถแพร่กระจาย ทางอากาศ (airborne transmission) กล่าวคือ เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม เชื้อที่ติดอยู่ในฝอยละอองเสมหะสามารถกระจายออกไประยะไกลและแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน เมื่อคนอื่นสูดเอาอากาศที่มีฝอยละอองนี้เข้าไป ก็สามารถติดโรคได้ ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถระบาดได้รวดเร็วกว่าไข้หวัดธรรมดา

ระยะฟักตัวของโรค ส่วนใหญ่ 1-3 วัน ส่วนน้อย นานถึง 7 วัน

      
* อาการ
มีอาการคล้ายไข้หวัด (ธรรมดา) คือมีไข้ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหลใสๆ ไอแห้งๆ แต่จะมีอาการหนักกว่าไข้หวัด (จึงเรียกว่าไข้หวัดใหญ่) คือไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก เบื่ออาหาร มักจะต้องนอนพัก

บางรายอาจมีอาการจุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย
อาการไข้จะเป็นอยู่นาน 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 3-5 วัน)
ส่วนอาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่นาน 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจแสดงอาการของอาการแทรกซ้อน เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ปวดหู หูอื้อ หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น

      
* การแยกโรค
อาการไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ เป็นหวัด อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

♦ ไข้หวัด ผู้ป่วยจะเป็นไข้ เจ็บคอเล็กน้อย มีน้ำมูกใส ไอ แต่จะไม่มีอาการปวดเมื่อยมาก ยังกินอาหารได้ และทำงานหรือเรียนหนังสือได้พอสมควร

 หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ แต่มักไม่หอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก

♦ ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว เจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบเร็ว หรือหายใจลำบาก

♦ ไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง เบื่ออาหาร นอนซม อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน มักไม่มีน้ำมูก เจ็บคอหรือไอ ต่อมาอาจพบจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือมีภาวะช็อก (ตัวเย็น เหงื่อออก กระสับกระส่าย) ตามมา มักพบมีการระบาด

♦ ไข้ชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 3 วัน ปวดข้อ ผื่นแดงตามตัว มักจะไม่มีน้ำมูก เจ็บคอหรือไอ มักพบมีการระบาด

♦ มาลาเรีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น วันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวัน มีประวัติอยู่ในเขตป่าเขา หรือเดินทางกลับจากเขตป่าเขา มักจะไม่มีน้ำมูก เจ็บคอหรือไอ หากไม่ได้รับการรักษา มักมีไข้เป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน

♦ โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส  ไข้ฉี่หนู (เล็ปโตสไปโรซิส) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ไม่มีน้ำมูก มักมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์


 

* การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดง คือ ไข้สูง เป็นหวัด เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก อาจมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ (เช่น ในบ้าน โรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน)
ในรายที่ต้องการวินิจฉัยให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจเลือดหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากจมูกและคอหอย

หากสงสัยเป็นปอดอักเสบ หรือสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ ก็จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น
      

* การดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการไข้ น้ำมูกไหล (เป็นหวัด) ไอ ควรดูแลเบื้องต้น ดังนี้
1. นอนพัก เช็ดตัว ไม่อาบน้ำเย็น ดื่มน้ำมากๆ กินอาหารที่ย่อยง่าย (เช่น น้ำหวาน นม น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้ ข้าวต้ม โจ้ก)

2. กินยาบรรเทาอาการ เช่น
 - พาราเซตามอล บรรเทาไข้ ปวดศีรษะ ทุก 4-6 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน (โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี) เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิด โรคแทรกซ้อนชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่ากลุ่มอาการเรย์ (Reyežs syndrome) มีอาการทางสมองและตับ เป็นอันตรายได้
 - ถ้ามีน้ำมูกมากให้ยาลดน้ำมูก เช่น คลอร์เฟนิรามีน
 - ถ้าไอมาก ให้ยาแก้ไอ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว

3. ลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยการหมั่นล้างมือ (ด้วยน้ำกับสบู่) โดยเฉพาะหลังเช็ดน้ำมูกหรือใช้มือปิดปากเวลาไอ เวลาไอควรใช้ต้นแขนหรือทิชชูปิดแทนมือเปล่า หากมีคนอื่นอยู่ใกล้หรือเข้าไปในที่ที่มีผู้คนจำนวนมากควรสวมหน้ากากอนามัย อย่าไอจามรดหน้าผู้อื่น และควรหยุดพักผ่อนที่บ้านไม่ออกไปในย่านชุมนุมชน

4. ควรไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
♦ หมดสติ ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือชักเกร็ง

♦ ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก หรือปวดท้องรุนแรง

♦ มีภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย)

♦ หายใจหอบเร็ว หายใจลำบาก หรือปากเขียว ตัวเขียว

5. ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว (ภายใน 1-2 วัน) ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

♦ มีไข้ทุกวัน นานเกิน 1 สัปดาห์

♦ มีอาการหนาวสั่นมาก (ต้องห่มผ้าหนาๆ) หรือสงสัยเป็นมาลาเรีย หรือไข้หวัดนก

♦ มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ซีด จุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือเลือดออก

♦ อาเจียน กินอะไรไม่ได้

♦ ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วยังไม่ทุเลา

♦ มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง

♦ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ดูหัวข้อ " ภาวะแทรกซ้อน")


 

* การรักษา
ในรายที่เป็นไข้หวัดใหญ่ (ทั้งที่เกิดจากสายพันธุ์เก่าหรือสายพันธุ์ใหม่ 2009) แพทย์จะให้ยาบรรเทาตามอาการ (พาราเซตามอลแก้ไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก) เป็นหลัก
ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน(ดูหัวข้อ  " ภาวะแทรกซ้อน") แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น อะแมนทาดีน (amantadine) หรือไรแมนทาดีน (rimantadine) สำหรับไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล (สายพันธุ์เก่า) หากสงสัยเป็นไข้หวัดนกหรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็จะให้โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir)

นอกจากนี้แพทย์จะให้การรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ ในผู้ที่มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ผู้ที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ และไซนัสอักเสบ

ในรายที่มีปอดอักเสบ แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษา  ในโรงพยาบาล และติดตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิด


      
* ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ (ปวดบริเวณโพรงไซนัส ที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว น้ำมูกข้นเป็นหนอง) หลอด-ลมอักเสบ (ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว) หูชั้นกลางอักเสบ (ปวดหู หูอื้อ)

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้แก่ ปอดอักเสบ (มีอาการหายใจหอบเร็ว หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกมาก) โรคหัวใจกำเริบ (ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน) สมองอักเสบ (ไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติ ชักเกร็ง)
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่

♦ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

♦ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี)

♦ สตรีที่ตั้งครรภ์

♦ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด

♦ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น


         
* การดำเนินโรค
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวและผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยอาการไข้มักจะเป็นอยู่นาน 1-7 วัน ส่วนอาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่นาน 1-4 สัปดาห์
ในรายที่มีอาการของหลอดลมอักเสบ หลังจาก    ให้การรักษาแล้ว บางรายอาจไออยู่นาน 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลาย ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง (เช่น ฝุ่น ควัน) และจะค่อยๆ ทุเลาไปได้เองในที่สุด

ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนไม่ร้ายแรง เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะหายได้

ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ โรคหัวใจกำเริบ) ถ้าหากได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจช่วยให้ปลอดภัย ได้ แต่ถ้าสภาพร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอ ได้รับการรักษาล่าช้าไป หรือมีภาวะโรคที่รุนแรงก็อาจเสียชีวิตได้

โดยเฉลี่ยอัตราป่วยตายของไข้หวัดใหญ่ ประมาณร้อยละ 0.05-0.01 (กล่าวคือจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ 10,000 ราย มีผู้เสียชีวิตร้อยละ.5-10 ราย)


        
* การป้องกัน
1. ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด (เช่น สถานบันเทิง งานมหรสพ ห้างสรรพสินค้า) ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก

2. ถ้ามีผู้ใกล้ชิดป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรอยู่ห่างจากผู้ป่วยอย่างน้อย 1 เมตร ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ ด้วยน้ำกับสบู่หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ควร      หลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วยและการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย (เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมตโทรทัศน์)

3. การฉีดวัคซีนป้องกัน ที่มีใช้ในปัจจุบันสามารถ ป้องกันได้เฉพาะไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล (สายพันธุ์เก่า) 3 ชนิด ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1  และ H3N2) และชนิด B แต่ยังไม่สามารถป้องกันไข้หวัดนก     (A H5N1) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

โดยทั่วไป ถ้าไม่มีการระบาด ก็มักจะไม่แนะนำฉีดวัคซีนดังกล่าวให้แก่คนทั่วไป ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้  ที่จะต้องเดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่     มีกิจกรรมจำเป็นที่ไม่อาจหยุดงานได้ (เช่น ตำรวจ  นักแสดง นักกีฬา นักเดินทาง) ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นประจำ และสตรีตั้งครรภ์ที่คาดว่าอายุครรภ์จะย่างเข้าเดือนที่ 4 (ไตรมาสที่ 2)ขึ้นไปในช่วงที่อาจมีการระบาดของโรคพอดี คนกลุ่มนี้แพทย์อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกัน

การฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง สามารถป้องกันได้นาน 1 ปี ถ้าจำเป็นควรฉีดปีละครั้งในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน
        


* ความชุก
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทุกวัย พบได้ตลอดปี แต่จะพบแพร่กระจายกันมากในช่วงฤดูฝน (มิถุนายนถึงตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคมถึงมีนาคม) บางปีอาจมีการระบาดใหญ่

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

364-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ