ถ้าไม่ใช่คนในแวดวงไม้หอม คงงงกับชื่อนี้มาก โดยเฉพาะคอเหล้าคงจะคิดว่าไม่ใช่ดอกไม้หอมเป็นแน่แท้ ดอกอะไรจะมีกลิ่นแบบส่าเหล้า แต่จริงๆแล้วถ้ารู้จักสายหยุดไม้หอมของไทยดี รู้จักกับส่าเหล้าปัตตานีอีกต้นหนึ่งก็คงไม่เสียหายอะไร
ส่าเหล้าปัตตานีมีชื่อสกุลเดียวกันกับสายหยุด คือ Desmos แค่คนละสปีชีส์แค่นั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ในวงศ์ Annonaceae หรือวงศ์กระดังงา ที่เราคุ้นเคยกันดี
ชื่อพื้นเมืองของส่าเหล้าปัตตานีมีเยอะมาก เช่น พี้เขา พีพวนน้อย (นครพนม) นางดำ (นครศรีธรรมราช) โยม (มลายู-ปัตตานี) ส่าเหล้าช้าง (ประจวบคีรีขันธ์)
ส่าเหล้าปัตตานี มีชื่อสามัญว่า Dwarf Ylang-Ylang Shrub และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Desmos cochinchinensis Lour.
เกสรของส่าเหล้าปัตตานีมีสรรพคุณทางยา คือใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง และบำรุงโลหิต ในประเทศจีนมีการศึกษาโดยใช้สารสกัดจากรากของส่าเหล้าปัตตานีในการต้านมาลาเรีย
จุดเด่นที่เห็นก็ทราบทันทีว่าเป็นส่าเหล้าปัตตานี คือมีก้านดอกที่ยาวมากเมื่อเทียบกับพืชในวงศ์เดียวกัน คือประมาณครึ่งฟุตจนถึงเป็นฟุตก็มี บางคนที่ชอบพรรณไม้ชนิดนี้ก็เลยเรียกว่าแม่ดอกก้านยาว ซึ่งมี 2 แบบคือแบบก้านดอกสีเขียวและก้านดอกสีม่วงเข้มหรือดำ มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกเรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปหอก กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร ชั้นในกลีบเล็กและสั้นกว่า
ส่าเหล้าปัตตานีชนิดก้านดอกสีเขียว ดอกมีขนาด เล็กถึงกลาง กลิ่นหอมอ่อนๆ
ส่วนส่าเหล้าปัตตานีก้านดอกดำหรือม่วงเข้ม ดอกมีขนาดกลาง กลิ่นหอมแรงกว่าชนิดก้านเขียวเล็กน้อย แต่ก้านดอกจะยาวกว่าชนิดก้านเขียว ดอกจะห้อย ดิ่งลงมา
ดอกอ่อนมีสีเขียวพอบานเป็นสีเหลือง บานได้สัก 2-3 วัน กลิ่นหอมอ่อนตั้งแต่เช้าและหอมมากขึ้นในตอน กลางคืน ออกดอกตลอดปี และแน่นอนถ้าอยู่ในวงศ์กระดังงาจึงเป็นพวกไม้พุ่มรอเลื้อย สามารถเลื้อยพาดไปได้ไกลเป็นสิบเมตร แตกกิ่งไม่มาก เปลือกนั้นเรียบมีสีน้ำตาล มีจุดสีขาว เนื้อไม้เหนียว โคนใบมน ปลายใบแหลม
ผลของส่าเหล้าปัตตานีเป็นผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาว เหมือนก้านดอก มีผลย่อยไม่เกิน 20 ผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีดำ มี 2-6 เมล็ด ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง
ตามธรรมชาติสามารถพบส่าเหล้าปัตตานีขึ้นตาม ป่าดิบชื้นและป่าเบญจพรรณทั่วประเทศ ที่ระดับความสูง 100-600 เมตร ปัจจุบันสามารถหาซื้อมาปลูกกันได้ตามร้านขายต้นไม้หอมไทย อาจจะปลูกเป็นไม้กระถางไว้เลื้อยไปตามต้องการ หรือถ้าจะปลูกส่าเหล้าปัตตานีลงดินต้องทราบว่าเป็นพืชที่ชอบอยู่ในที่ร่มชอบแสงรำไร จะแตกต่างจากต้นสายหยุดที่ชอบแสงแดดและชอบอยู่ที่กลางแจ้ง
เอกสารอ้างอิง
เต็ม สมิตินันท์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. กรุงเทพฯ. 810 น.
- อ่าน 15,223 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้