• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิตามินเสริม...ดีจริงหรือ?

ถือเป็นเรื่องร้อนที่สังคมให้ความสนใจ คาดว่าคงโดนใจผู้อ่านที่รักสุขภาพกันทุกคน ประมาณว่าปีหนึ่งๆ มีพลโลกจัดซื้อจัดหายาเม็ดวิตามิน มากินกันมากมายทั่วโลกเป็นมูลค่ามหาศาลด้วยความคาดหวังบนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจและความเชื่อว่า วิตามินจะช่วยส่งเสริมสุขภาพสร้างความสมบูรณ์ แข็งแรง และ/หรือช่วยป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ของมนุษย์ได้ซึ่งบทความนี้จะให้ความกระจ่างเรื่องวิตามินเป็นลำดับ

                            

วิตามินคือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

ตั้งแต่เล็กแต่น้อยเราได้เรียนรู้มากันว่าวิตามินเป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่สำคัญต่อร่างกายของเรา มีหน้า
ที่หลักช่วยให้การทำงานต่างๆ ของร่างกายเป็นปกติ และอาจรวมกับเกลือแร่ แล้วเรียกว่า "วิตามินและเกลือแร่ "ซึ่งเราทุกคนได้รับจากอาหารมื้อต่างๆ ที่กินเข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ

นอกจากนี้ ยังจำได้ว่าถ้าร่างกายได้รับวิตามินไม่เพียงพอ ก็จะเกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โรคลัก
ปิดลักเปิดที่มีอาการเลือดออกตามไรฟันซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินซี หรือโรคเหน็บชา ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 หรือโรคตาฝ้ามัว ตาฟาง ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินเอ เป็นต้น

มักจะรวมเรียกโรคเหล่านี้ว่า " โรคที่ขาดวิตามิน " ซึ่งถ้าผู้ใดไม่ได้รับวิตามินดังกล่าวเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เกิดความผิดปกติ หรือเกิดโรคต่างๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นโรคขาดวิตามินแล้ว ได้รับการรักษาด้วยการได้รับวิตามินชนิดนั้น โดยทั่วไปเมื่อร่างกายได้รับวิตามินปกติ โรคเหล่านี้ก็หายไป

 

วิตามินได้จากอาหารตามธรรมชาติดีที่สุด
ปัจจุบันแหล่งของวิตามินสำหรับมนุษย์มี 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ แหล่งวิตามินที่ได้จากอาหารตามธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว เมล็ดพืช น้ำมัน นม ตับ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา เป็นต้น อาหารเหล่านี้จะมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งในจำนวนนั้นจะมีวิตามินสะสมอยู่ด้วย เมื่อเรากินเข้าไป ร่างกายก็จะย่อย ดูดซึม และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับอวัยวะต่างๆช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ

การเลือกกินอาหารที่ดี มีหลักสำคัญง่ายๆ คือกิน  " หลากหลายและครบ 5 หมู่ " ได้แก่ การกินอาหารที่มีสารอาหารสำคัญทั้ง 5 หมู่ อันได้แก่ โปรตีน (ได้จากเนื้อสัตว์ ปลา ไข่นม ถั่ว ฯลฯ) แป้ง (ได้จาก ข้าว แป้ง น้ำตาล ฯลฯ) ไขมัน (ได้จากน้ำมัน ไขมัน ฯลฯ) วิตามิน และเกลือแร่ (ซึ่งได้จากผักและผลไม้เป็นส่วนใหญ่) ซึ่งปริมาณอาหารแต่ละหมู่จะต้องเหมาะสมเป็นสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป และควรสลับสับเปลี่ยนชนิดของอาหารให้หลากหลาย ต่างๆ นานา ไม่ซ้ำซากจำเจ เพื่อให้ได้สารอาหารครอบคลุมหลากหลายชนิดตามความต้องการที่หลากหลายของร่างกายของมนุษย์ นอกจากนี้ ควรเน้นผักและผลไม้สดให้มากขึ้น ซึ่งจะอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา

แหล่งของวิตามินประเภทที่สอง ได้แก่ วิตามินที่มีการผลิตในรูปแบบของยาสำเร็จรูป ขอเรียกว่า "ยาเม็ดวิตามิน " ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ และผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในโรงงานอุตสาหกรรมในท้องตลาดมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งขนาดปกติที่พอดีกับความต้องการแต่ละวัน และขนาดสูงกว่าปกติ ตลอดจนมีทั้งสูตรที่มีวิตามินชนิดเดี่ยวๆ และสูตรที่มีวิตามินหลายชนิดผสมกันหลากหลายชนิดที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก

เมื่อเปรียบเทียบการนำไปใช้งานของร่างกาย คุณประโยชน์ที่ได้รับ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พบว่าวิตามินที่ได้จากอาหารตามธรรมชาติ โดยเฉพาะลักษณะอาหารของประเทศไทย จะมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารต่างๆ ทั้ง 5 หมู่ รวมถึงวิตามินและเกลือแร่ ทั้งด้านชนิดและปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายคนทั่วๆ ไปได้เป็นอย่างดี วิตามินที่ได้จากธรรมชาตินี้ก็จะถูกนำไปใช้งานได้โดยง่าย ทั้งยังมีประโยชน์โดยตรงต่อร่างกายของเรา ซึ่งคุ้มค่าและดีกว่ายาเม็ดวิตามินที่สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมีและผลิตในรูปของยาสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วๆ ไป

 

วิตามินเป็นยาบำรุงจริงหรือ?
คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหม? ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อว่า  " วิตามินเป็นยาบำรุง...ช่วยป้องกันและรักษาโรคบางอย่างได้ " ซึ่งเรื่องนี้เป็นทั้งความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนเป็นความคาดหวังของมนุษย์ทุกคนที่ต้องการ " สุขภาวะ " ต้องการให้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้

ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาและข้อพิสูจน์เกี่ยวกับวิตามินกับโรคต่างๆ มากขึ้น มีทั้งได้ผลดี และไม่ได้ผลในการป้องกันหรือรักษาโรค จึงควรเข้าใจวิตามินแต่ละชนิดและสภาวะโรคแต่ละอย่าง ว่าวิตามินชนิดใดที่ได้ผลดี (และอาจเลือกใช้) และวิตามินชนิดใดไม่ได้ผล (ซึ่งไม่ควรใช้ให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ) ดังนี้
 

 

โรคที่ใช้วิตามินแล้ว... ไม่ได้ผล

1วิตามินรวมกับโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือด
จากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในผู้หญิงวัยทอง จำนวนกว่าแสนคนในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่ใช้วิตามิน รวมมีโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือดไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่ใช้วิตามินรวม
ฟังดูอาจจะยังงงอยู่นะครับ เพราะเป็นภาษาทางการวิจัยแต่สามารถแปลให้ฟังง่ายๆ ได้ว่าผู้ที่ใช้วิตามินรวมจะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือดใกล้เคียงกันกับผู้ที่ไม่ใช้วิตามินรวม หรือ " การใช้วิตามินรวมไม่ได้ช่วยลดการเกิดเป็นโรคทั้งสามในหญิงวัยทองเลย "

2. วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และโฟเลตกับโรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือด
อดีตมีรายงานทางการแพทย์ระบุว่า ระดับสารโฮโมซีสเทอีนในเลือดสูงจะมีความสัมพันธ์ทำให้การเกิด   โรคหัวใจขาดเลือดและโรคสมองขาดเลือด และมีการค้นพบว่า การใช้วิตามินบี 1  วิตามินบี 6 และ     โฟเลต จะช่วยลดระดับสารโฮโมซีสเทอีนในเลือดให้ต่ำลงได้

มีผู้ตั้งสมมุติฐานและคาดคิดว่า ถ้าให้ผู้ป่วยได้รับวิตามินบี 1 วิตามินบี 6  และโฟเลต จะส่งผลลดระดับสารโฮโมซีสเทอีนในเลือดให้ต่ำลงได้ และจะส่งผลลดโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือดลงได้

แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วย ที่ได้รับวิตามินบี 1  วิตามินบี 6 และโฟเลตมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคสมองขาดเลือดได้ใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่ได้ใช้วิตามิน จึงสรุปได้ว่าวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และโฟเลต ไม่ได้ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคสมองขาดเลือดลงได้ตามการศึกษาบวกกับความเชื่อทางการแพทย์ข้างต้น


3. วิตามินอี และบีตาแคโรทีนกับโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง
มีรายงานการศึกษาการใช้วิตามินอี และบีตาแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants)         ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันว่าจะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็งได้หรือไม่? ตามแนวคิดและทฤษฎีของสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยชะลอความเสื่อมถอยและความสึกหรอของเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งก็ให้ผลในทำนองเดียวกันว่า "วิตามินอีและบีตาแคโรทีน ไม่มีผลลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็งได้ "

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าวิตามินอีและ สารซีลีเนียมในขนาดสูงก็ไม่ได้ช่วยลดการเกิดมะเร็งของต่อมลูกหมากได้อีกด้วย

เหล่านี้ล้วนเป็นผลการวิจัยที่ช่วยเสริมบทบาทความเข้าใจอย่างถูกต้องเหมาะสมของชาวเราต่อการใช้วิตามิน ถึงแม้ว่าจะส่งผลให้ลบเลือนความคาดหวังที่มีวิตามินในการช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายของมนุษย์

นี่คืออีกหนึ่งความจริงที่จะต้องยอมรับพร้อมทั้งนำมาประยุกต์กับการดำรงชีวิตของพวกเราทุกคนถ้ามองในแง่ดีก็จะได้ช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้วิตามินและลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงของวิตามินขนาดสูง ที่ได้รับในปริมาณมากกว่าความต้องการ เป็นระยะเวลานานๆ ติดต่อกัน ก็จะทำให้เกิดพิษต่อร่างกายของคนเราได้  อย่าไปคิดว่า " วิตามินเป็นของปลอดภัย จะใช้มากเท่าใดก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งไม่เป็นความจริง " เพราะมีวิตามินหลายชนิดที่สะสมและทำให้เป็นพิษได้

 
 

โรคที่ใช้วิตามินแล้ว...ได้ผลดี
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโรคที่มีรายงานว่าการใช้วิตามินมีประโยชน์คุ้มค่า ช่วยป้องกันโรค ช่วยให้ร่างกายเป็นปกติได้ ตัวอย่างเช่น

1. โฟเลตกับหญิงตั้งครรภ์
ในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะมีบุตรควรได้รับสารโฟเลต (folate) หรือกรดโฟลิก (folic acid) ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง เพื่อช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้

2. แคลเซียมและวิตามินดีกับผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรได้รับแคลเซียมและวิตามินดี เสริมให้กับร่างกายเป็นประจำทุกวัน      จะเป็นรูปของนม ผลิตภัณฑ์นม หรือยาเม็ดสำเร็จรูปของวิตามินดี และแคลเซียมก็ได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญของกระดูกหักในผู้สูงอายุได้

3. วิตามินซี วิตามินอี บีตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดงกับโรคจอประสาทตาเสื่อม
นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ได้รับวิตามินซี วิตามินอี  บีตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดงจะช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาได้

ยิ่งกว่านั้น คนบางกลุ่มก็ควรได้รับวิตามินรวมเสริมเพิ่มเติม เช่น    ผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก ผู้ที่กินอาหาร ชนิดมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากๆ และเป็นประจำ หรือผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจให้ วิตามินรวม เพื่อลดความบกพร่องจากการขาดวิตามินต่างๆ ได้
      


การใช้ยาเม็ดวิตามิน อย่างพอเพียง
ถึงตอนนี้คงได้รับความกระจ่างในเรื่องประโยชน์ ความคุ้มค่า และโทษของวิตามิน
 " การใช้ยาเม็ดวิตามิน...อย่างพอเพียง " ควรใช้เมื่อจำเป็น ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้เกิดโทษ ได้ ตัวอย่างเช่น วิตามินซี ซึ่งปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่าเป็นวิตามิน เป็นยาบำรุง ซื้อและป้อน     ให้บุตรหลานเหมือนกับลูกกวาด ลูกอม หรือขนมหวาน ซึ่งก็เกิดโทษได้ ถ้ามีการใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ไม่เหมาะสม ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือทำให้เด็กฟันผุได้ง่าย  

ขอย้ำอีกครั้งว่ายามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์ จึงควรใช้อย่างพอเพียง เท่าที่จำเป็น และใช้อย่างถูกต้องแม่นยำ จะช่วยให้ได้ผลในการรักษา หายโรคภัยไข้เจ็บโดยเร็ว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย สุขภาพกาย และสุขภาพใจ ให้กับทุกท่าน

ข้อมูลสื่อ

363-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2552
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด