• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเขือยาวผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ

มะเขือยาวผัดเต้าเจี้ยวหมูสับ เป็นกับข้าวจานหนึ่งที่มีคนนิยมกินมาก เนื่องจากวัตถุดิบหาง่าย วิธีการทำไม่ยุ่งยาก รสชาติอร่อย

มะเขือยาวมีชื่อพื้นบ้านว่า มะเขือขาว ปัจจุบันมะเขือยาวมีหลายสี ได้แก่ สีขาว สีม่วง สีม่วงปนขาว
มะเขือยาวมีคุณค่าทางโภชนาการหลายอย่าง เช่น คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก  โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี กินเป็นประจำช่วยรักษาหลอดเลือดและหัวใจให้เป็นปกติ  ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง  ลดอาการบวม ช่วยขับปัสสาวะ

คุณค่าโภชนาการของมะเขือยาวผัดเต้าเจี้ยวหมูสับเมื่อ   กินกับข้าวสวย 1 จาน ให้พลังงาน 500  กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นพลังงานที่น้อยกว่า 1 ใน 3 สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานวันละ 1,600 กิโลแคลอรี เพียงเล็กน้อย ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ เด็ก หญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ



อาหารจานนี้ให้โปรตีนค่อนข้างดี คือประมาณร้อยละ 34 ของปริมาณที่แนะนำให้กินใน 1 วัน (แนะนำเฉลี่ยวันละ 50 กรัม) และให้ไขมันประมาณร้อยละ 31 ของปริมาณที่แนะนำให้กิน (แนะนำเฉลี่ยวันละ 60 กรัม) หรือพลังงานที่มาจากไขมันคิดเป็นร้อยละ 33.7 ของพลังงานทั้งหมดของอาหารจานนี้ ซึ่งจัดว่าเป็นปริมาณไขมันที่ค่อนข้างพอดีสำหรับอาหาร 1 มื้อ โดยไขมันเหล่านี้มาจากน้ำมันพืชที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุงนั่นเอง

สำหรับผู้ที่ต้องระวังเรื่องของระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือด ถ้าเป็นอาหารที่ปรุงกินเอง อาจต้องมีการตวงปริมาณน้ำมันที่ใช้ และเลือกชนิดของน้ำมันพืชให้เหมาะสม โดยอาหารประเภทผัดควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ ส่วนน้ำมันที่ใช้ในการทอดควรใช้น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

เมื่อดูคุณค่าโภชนาการอื่นๆ พบว่ามะเขือยาวผัดเต้าเจี้ยวหมูสับพร้อมข้าวสวยให้เส้นใยอาหารค่อนข้างดี คิดเป็นประมาณเกือบร้อยละ 17 ของปริมาณที่แนะนำให้กินใน 1 วัน (แนะนำวันละ 25 กรัม) มะเขือ
ยาวเป็นพืชผักที่มีวิตามินซีอยู่บ้างโดย ให้วิตามินซีในอาหารจานนี้ประมาณร้อยละ  20  ของปริมาณที่แนะนำให้กินใน 1 วัน (แนะนำเฉลี่ยวันละ 60 มิลลิกรัม) นอกจากนี้ มะเขือยาวยังมีบีตาแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วิตามินซีและบีตาแคโรทีนที่มีอยู่อาจถูกทำลายไปบ้างจากความร้อนในการปรุงอาหาร
สำหรับอาหารจานนี้มีโซเดียมในปริมาณที่ไม่สูง คือประมาณร้อยละ 36 ของปริมาณที่แนะนำให้กิน    คือควรได้รับไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม
 

                           




 

ข้อมูลสื่อ

365-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
เข้าครัว
ริญ เจริญศิริ, ศศพินทุ์ ดิษนิล