หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด จะเป็นจุดจอดมลพิษแห่งใหม่ต่อจากระยอง
แม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับคนในพื้นที่ ผลที่จะได้รับนั้นกระทบถึงสุขภาพของพวกเขาโดยตรง เมื่อแผนพัฒนาภาคใต้ หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ มุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรม เหล็กและปิโตรเคมีเป็นหลัก เช่นเดียวกับระยองในปัจจุบัน
เกือบ 30 ปีภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยมีระยองเป็นจุดศูนย์กลาง ได้พิสูจน์ถึงความผิดพลาดอย่างชัดเจนจากมลพิษที่ส่งตรงให้กับคนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
จะทำอย่างไรไม่ให้เซาท์เทิร์นซีบอร์ด เดินซ้ำรอยระยอง
ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรแซงหน้าภาคกลาง ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เฉพาะในปี 2550 ประเทศไทย มีรายรับจากการท่องเที่ยวในภาคใต้สูงถึง 150,000 ล้านบาท
ซึ่งหากเราสามารถทำนุบำรุงรักษาทรัพยากรและบรรยากาศ การท่องเที่ยวของภาคใต้ บวกกับการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ร้อยละ 25 ก็จะเพิ่มรายได้ ขึ้น 35,000 ล้านบาท
แนวทางการพัฒนาภาคใต้จะยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดได้ ต้องไม่ใช่การกำหนดนโยบายจากภาครัฐแล้วโยนลงไปในพื้นที่เช่นที่ทำกับระยอง หากแต่ควรจะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านด้วยความละเอียดรอบคอบ และรับฟังความคิดเห็น ความต้องการของคนในพื้นที่อย่างจริงจัง เพราะตัวอย่างผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหล็กและปิโตรเคมีที่ระยอง ซึ่งพัฒนาและรุกล้ำเข้าสู่พื้นที่ของชุมชนอย่างรวดเร็ว จนโรงพยาบาลและโรงเรียนต้องย้ายหนี คงไม่ใช่แผนพัฒนาต้นแบบที่น่าเอาอย่าง
เรื่องนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชนทุกคน ซึ่งหากทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน ผลเสียต่อสุขภาพก็ย่อมไม่เกิดขึ้น งบประมาณในการรักษาพยาบาล โรคภัยไข้เจ็บของประชาชนก็จะลดลง ความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไร้มลพิษ
แต่หากเลือกที่จะมีรายได้มหาศาลที่มาพร้อมมลพิษ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด ก็คงเป็นจุดจอดมลพิษแห่งใหม่ของเมืองไทย
- อ่าน 2,224 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้