10 ใจเบิกบาน-งานเป็นสุข (ต่อ)
2. ฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้ายังให้เกิดสุข
ในตอนที่แล้วได้พูดถึงว่าหลักการของ "ใจเบิกบาน-งานเป็นสุข" คือการสัมผัสความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ จนเกิดหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งอาจเรียกว่า "การระเบิดของจิตสำนึก" จิตสำนึกที่จะทำเพื่อเพื่อนมนุษย์
ตามปกติมนุษย์มีจิตสำนึกเล็กและแคบที่อยู่กับตัวเองหรือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนำไปสู่พฤติกรรมทางลบต่างๆ อย่างที่เห็นอย่างดาษดื่น ทำอะไรที่ไม่ดีต่างๆ ก็ได้ เช่น โกหกพกลม เอาข้างเข้าถู พูดจาขาดเหตุผลข้างๆ คูๆ เพราะกูจะเอาลูกเดียว ดูพฤติกรรมของนักการเมืองก็จะเห็นได้ชัด แต่นักการเมืองก็คือภาพสะท้อนความเป็นจริงของสังคม
"จิตเล็ก" เป็นต้นตอแห่งความไม่ดีต่างๆ นานาจนเดือดร้อนกันไปหมดทั้งโลก ฉะนั้นการที่เรียกว่ามี "การระเบิดของจิตสำนึก" จิตสำนึกว่าฉันจะทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นการระเบิดของจิตที่ออกจากการถูกกักขังในความคับแคบแห่งการเห็นแก่ตัวไปสู่การทำเพื่อเพื่อนมนุษย์
การระเบิดของจิตสำนึกไปสู่สภาวะจิตใหม่ที่ต้องการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้จิตมีพลังมากที่จะทำเรื่องดีๆ ต่างๆ ขึ้นมา โดยอัตโนมัติ เช่น เกิดฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้าที่จะขวนขวาย ในการทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่น ดังที่เจ้าชายสิทธัตถะเกิดฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาความรู้มาช่วยให้เพื่อนมนุษย์พ้นทุกข์ แม้ตายก็ยอม ขอให้ได้ค้นพบความรู้ที่ต้องการ เรียกว่ามี "การระเบิดพลังแห่งการเรียนรู้"
การระเบิดของจิตสำนึกใหม่กับการระเบิดพลังแห่งการ เรียนรู้ เป็นการเปิดศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ออกไปเต็มที่
ตามปกติมนุษย์อ่อนแอ ปวกๆ เปียกๆ เป็นบ่อเกิดแห่ง ความทุกข์ แต่ภายในตัวมนุษย์มีศักยภาพที่มีพลังมหาศาลซ่อนเร้นอยู่ ประดุจพลังนิวเคลียร์ที่ซ่อนอยู่ในตัว ถ้าสามารถไปจุดระเบิดแห่งพลังนิวเคลียร์ในตัวมนุษย์จะเกิดพลังมหาศาลที่ระเบิดออกมา พลังนิวเคลียร์ในตัวมนุษย์นี้คือการระเบิดแห่งจิตสำนึกกับการระเบิดพลังแห่งการเรียนรู้ ที่กำลังกล่าวถึง เมื่อมีการระเบิดพลังนิวเคลียร์แห่งความเป็นมนุษย์ทั้ง 2 อย่างนี้เกิดขึ้นกับผู้ใด เขาจะแข็งแรงมาก ทำอะไรๆ ให้สำเร็จก็ได้ ขนาดที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้
ทุกคนมีพลังนิวเคลียร์แห่งความเป็นมนุษย์ซ่อนอยู่ในตัวทั้งสิ้น มนุษย์หลงไป ไม่รู้จักพลังนี้ ไปศึกษาเล่าเรียนเพียงความรู้หรือศาสตร์ต่างๆ ศาสตร์ที่ปราศจากปัญญากำกับก็เหมือนศาสตราที่ใช้ทิ่มแทงกันจนเจ็บปวดและวิกฤติกันไปหมดทั้งโลก เพราะผลจากการศึกษาที่ผิด
ในเมื่อมนุษย์มีพลังมหาศาลที่ซ่อนอยู่ในตัว ทำไมการศึกษาไม่ไปจุดพลังตัวนี้ให้เปิดศักยภาพของความเป็นมนุษย์ให้เต็มที่ เมื่อพลังแห่งจิตสำนึกและพลังแห่งการเรียนรู้ระเบิดขึ้นแล้ว มนุษย์ย่อมมีพลังที่ขจัดความทุกข์ของตัวเองและสร้างสุขให้ผู้อื่น ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็ไปช่วยกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ถูกต้อง
การศึกษาที่ถูกต้อง ต้องก่อให้เกิดการระเบิดของจิตสำนึก และการระเบิดพลังแห่งการเรียนรู้ เมื่อจุดระเบิดพลังนี้ได้แล้วการหาความรู้เป็นเรื่องเล็ก ไม่ยากเย็นอะไร ทุกวันนี้เรามีแต่คนอยากได้ปริญญา แต่ไม่อยากเรียนรู้ เพราะความอ่อนแอ ความอ่อนแอจะก่อความทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นชั่วกาลนาน
ฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้าคือความแข็งแรง
ความแข็งแรงคือความสุข
ลองดูเด็กที่งอแงๆ ไม่อยากไปโรงเรียนบ้าง ไม่อยากทำการบ้านบ้าง ขมขื่นอยู่กับความทุกข์เรื่อยไป ครั้นเกิดเอาจริงเอาจังขึ้นมา สลัดความเกียจคร้านออกไป ใจสู้ ไปโรงเรียนก็ได้ ทำการบ้านก็ได้ ทำเสร็จจะเกิดความสุข ความภูมิใจในตัวเอง จึงกล่าวว่าวิริยะหรือความขยันขันแข็งนำความสุขมาให้
คนที่ทำอะไรๆ ไม่ว่าจะทำงานหรือออกกำลัง เมื่อวิริยะเข้าจับเต็มที่ ความปีติ ความสุข จะกำซาบไปทั่วตัว เอนดอร์ฟินหรือสารสุขคงจะหลั่งออกมา เรื่องวิริยะทำให้เกิดสุขนี้ เคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งแล้วในตอนที่ 7 ที่ชื่อว่า "ผ่านทุกข์-ทะลุความเหนื่อย" ว่าวิริยะเป็นองค์ประกอบของหมวดธรรมะหลายหมวด
3. รวมตัวร่วมคิดร่วมทำยังให้เกิดสุข
ถ้าคน 5-6 คน 7-8 คน ที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ พบปะกันบ่อยๆ ปรึกษาหารือกัน แสวงหาความรู้มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อพยายามทำเรื่องที่สนใจให้สำเร็จ จะเกิดความสุขอย่างยิ่ง
จิตแพทย์อเมริกัน ชื่อ สก็อตต์ พีก (Scott Peck) พยายามรักษาคนอเมริกันที่มีความทุกข์ซึ่งมีมากมายเหลือเกิน รักษาไม่ไหว แต่เมื่อเขาส่งเสริมให้รวมตัวร่วมคิดร่วมทำได้สำเร็จ ซึ่งเขาเรียกว่าสร้างความเป็นชุมชน (community building) เขาบรรยายว่าคนเหล่านั้นประสบความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
ที่ประสบความสุขขนาดนั้น เหตุผลเป็นอย่างนี้ครับ ตามปกติปุถุชนเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแบบที่เรียกว่า "ตัวกู-ของกู" ความยึดมั่นในตัวเองก่อให้เกิดความบีบคั้น ทั้งบีบคั้นตัวเองและบีบคั้นผู้อื่น
ความบีบคั้นคือความทุกข์
การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันได้ หมายถึง มันสลายตัวกูลงไป แทนที่จะเป็นคิดเรื่อง "กู" กลายเป็นคิดเรื่อง "เรา" หรือเรื่องของเราร่วมกัน
เมื่อ "ตัวกู" มันสลายไป ความบีบคั้นก็หายไป ความบีบคั้นหายไปจึงบรรลุความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
อีกประการหนึ่ง การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ทำให้ทำอะไรสำเร็จได้ง่าย ความสำเร็จทำให้เกิดความปีติร่วมกันเพิ่มความรู้สึกเป็นสุข
ควรมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นกลุ่มๆ อย่างหลากหลายตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม บางกลุ่มอาจทำเรื่องการศึกษา เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องวัฒนธรรม เรื่องศิลปะ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง ฯลฯ ถ้ามีกลุ่มอย่างนี้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน ประเทศไทยจะเปลี่ยน เปลี่ยนทั้งโครงสร้างและคุณสมบัติ ที่ว่าเปลี่ยนโครงสร้างนั้นคือเปลี่ยนจากโครงสร้างทางดิ่ง (รูป ก.) เป็นโครงสร้างทางราบ (รูป ข.)
โครงสร้างทางดิ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างคนมีอำนาจข้างบนกับคนไม่มีอำนาจข้างล่าง
โครงสร้างทางราบนั้นคือทุกคนมีความเสมอภาค เข้ามารวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความสมัครใจ
โครงสร้างทางดิ่งคือเผด็จการ โครงสร้างทางราบคือประชาธิปไตย
ในโครงสร้างทางดิ่งมีการใช้อำนาจมาก มีการเรียนรู้น้อย จึงมีความบีบคั้นมาก มีความสำเร็จน้อย เกิดความขัดแย้งและไร้ความสุข โครงสร้างทางราบนั้นตรงข้ามกัน
สังคมใดเป็นสังคมทางดิ่ง เช่น สังคมไทย เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี
สังคมที่มีโครงสร้างทางราบ เรียกว่า มีความเป็นประชาสังคม (civil society) เศรษฐกิจจะดี การเมืองจะดี และศีลธรรมจะดี
จึงควรส่งเสริมให้มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กรและในทุกเรื่อง ความที่เราเป็นสังคมทางดิ่งมานาน จึงรวมตัวร่วมคิดร่วมทำไม่เป็น ใครที่ทำเป็นควรส่งเสริมให้คนอื่นทำเป็น อาจรวมตัวกันตั้งเป็นมูลนิธิเป็นศูนย์หรือสถาบันส่งเสริมประชาสังคม ปริมาณของความสุขมวลรวมจะขึ้นอยู่กับมวลรวมของการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในสังคม
4. การทำให้ประณีต จะเป็นความงามที่ทำให้เกิดสุข
เมื่อเรามีฉันทะวิริยะในสิ่งใดแล้วก็พยายามทำให้ประณีต ความประณีตก็จะเป็นความงาม
ความงามของการกระทำที่มาจากจิตใจที่งามก็เป็นสุนทรียธรรม อันยังให้ผู้กระทำและผู้ที่รู้เห็นเกิดความเบิกบานและเป็นสุข เราต้องทำอะไรอยู่ทุกวัน ถ้าเราตั้งใจทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ประณีต เราก็จะมีความสุข ความเบิกบานทุกวัน เรากวาดบ้านถูบ้านอย่างประณีต เรากวาดถนนอย่างประณีต เราทำครัวอย่างประณีต เราพิมพ์หนังสืออย่างประณีต เรารับโทรศัพท์อย่างประณีต เราต้อนรับลูกค้าอย่างประณีต เราผลิตสินค้าอย่าง ประณีต เราดูแลผู้ป่วยอย่างประณีต เราทำหนังสือพิมพ์อย่างประณีต เราอ่านข่าวอย่างประณีต เราอภิปรายใน สภาอย่างประณีต ฯลฯ
สุนทรียธรรมจะเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง เข้ามาแทนที่ความหยาบ จะหยาบช้าหรือหยาบคายก็ตาม
ความประณีตเป็นคุณภาพและคุณธรรม จิตที่เร่าร้อนอยากเอามากๆ อยากใช้อำนาจ เหนือคนอื่น อยากเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่ จะทำให้ทำอะไรหยาบๆ ขาดความประณีต ขาดคุณภาพและขาดคุณธรรม
อะไรที่ไม่มีคุณภาพแล้วจะพัฒนาไปสู่ความดีงามต่อไปได้ยาก
ถ้าการเมืองไม่มีคุณภาพ ระบบราชการไม่มีคุณภาพ การศึกษาไม่มีคุณภาพ อะไรจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้วก็เข้าใจได้ไม่ยาก
คุณภาพจึงควรเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ
ฉะนี้ จึงเห็นได้ว่าทำไมจึงเกิด HA (Hospital Accreditation) หรือกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ที่คุณหมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ริเริ่มเคลื่อนไหวผลักดันอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะโรงพยาบาลจะไม่มีคุณภาพนั้นไม่เป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้
ถ้าเราเข้าใจว่าคุณภาพเป็นบ่อเกิดของความสุข คุณภาพก็จะเกิดง่ายขึ้น เพราะใครๆ ก็ต้องการความสุข
5. การเรียนรู้ สติ ปัญญา ทำให้ใจเบิกบาน-งานเป็นสุข
การเรียนรู้เป็นความสุข เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าตามปกติเราคิดเชิงอำนาจ ที่อยากจะไปบังคับคนอื่นและสิ่งอื่นๆ ให้เป็นไปตามความคิดและความต้องการของตัว จึงตกอยู่ในความบีบคั้นหรือความทุกข์ การปลดปล่อยตัวเองออกจากการคิดเชิงอำนาจไปสู่การคิดเชิงเรียนรู้ เราจะสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งอื่นด้วยการเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างน่าเรียนรู้ทั้งนั้น เราเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราและในตัวเรา แม้แต่สิ่งที่ตามปกติจะทำให้เราไม่พอใจก็พลิกเป็นการเรียนรู้เสีย เช่น เรากินอะไรแล้วไม่อร่อย เราก็จะไม่พอใจหรือถึงกับอารมณ์เสียก็เปลี่ยนเป็นการเรียนรู้เสียว่าเราได้เจอของใหม่หรือแม้เราเจ็บป่วย เราก็เรียนรู้ในความเจ็บป่วยนั้น
ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า ความเจ็บป่วยแต่ละครั้งทำให้ท่านฉลาดขึ้น เพราะท่านเรียนรู้จากความเจ็บป่วย เราต้องประสบหรือทำอะไรทุกวัน ถ้าเราเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะทำให้เราเป็นสุขและฉลาดขึ้น
ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นตัวอย่างของบุคคลเรียนรู้ ท่านเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างทุกวัน ท่านจึงมีสติ มีปัญญา และมีความสุข การเรียนรู้ทำให้มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะของการสัมผัสกับสิ่งที่ถูกรู้
คุณค่าของสติได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อนๆ ถ้าอยากมีความสุขก็ปรับตัวไปเป็นบุคคลเรียนรู้
ใจเบิกบาน-งานเป็นสุข จึงเกิดจากธรรม 5 ประการดังกล่าวมาคือ
1. หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์
2. การมีฉันทะวิริยะ
3. รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ
4. ทำให้ประณีต เกิดคุณภาพและสุนทรียธรรม
5. การเป็นบุคคลเรียนรู้ มีสติ มีปัญญา
ขอให้ท่านประสบ "จิตเบิกบาน-งานเป็นสุข" โดยทั่วกัน
- อ่าน 4,778 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้