ท่ามกลางไฟใต้ที่โหมไหม้ เผาผลาญความสามัคคีที่ด้ามขวานทอง แต่ยังมีไฟแห่งคุณความดีดวงหนึ่งที่ลุกโชติ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นความเสียสละที่ยังมีอยู่จริง
แพทย์หญิงจากพื้นที่สีแดงคว้ารางวัล
ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดแถลงข่าวและประกาศผลรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี พ.ศ.2551 พร้อมด้วย รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี พ.ศ.2551 ซึ่งรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี พ.ศ.2551 ตกเป็นของ "แพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี
ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ กล่าวว่า "แพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ เป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเป็นผู้หญิงแต่ก็ทำงานด้วยความกล้าหาญและเสียสละ โดยให้การรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมอย่างเท่าเทียม
อีกทั้งแพทย์หญิงภัททิรายังเป็นผู้นำในการทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ดังกล่าว สร้างความเจริญและพัฒนาให้เกิดกับพื้นที่ได้อย่างมากมาย"
สิ่งที่สร้างความประทับใจที่สุดนั่นคือ แพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ เป็นแพทย์หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
แพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผู้ที่ได้รับรางวัลกล่าวว่า "รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัลนี้ รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลของทีมงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีควรได้รับร่วมกัน เพราะความร่วมมือร่วมใจกันทำงานอย่างเข้มแข็ง
อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีแม้จะถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่สีแดง ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ แต่พื้นที่ในโรงพยาบาลกลับเป็นพื้นที่สีเขียว เราทำงานเพื่อชุมชน เป็นงานบริการ ไม่สร้างข้อขัดแย้งหรือปมปัญหาขึ้นมาเพิ่มเติม จึงไม่เป็นการสร้างศัตรูขึ้นมา อีกทั้งยังให้การบริการแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือเชื้อชาติใดก็ตาม"
โดยแพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ได้ฝากคติประจำใจของตนเองไว้ เพื่อให้ผู้ที่ทำงานเพื่อผู้อื่นได้ใช้เป็นแนวทางว่า "หากเชื่อมั่น มั่นใจว่าทำงานได้ ก็จะทำได้"
รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทเกิดขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อปีพ.ศ.2516 เพื่อยกย่อง สนับสนุน ให้กำลังใจ และประกาศเกียรติคุณแก่แพทย์ในชนบทที่มีผลงานดีเด่น และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่แพทย์ในการพัฒนางานสาธารณสุขในชนบท
อีกทั้งเป็นการชี้นำแพทย์ที่จบใหม่ให้ออกไปปฏิบัติงานในชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ
แพทย์ผู้ได้รับรางวัลต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานดีเด่นสร้างเกียรติคุณแก่วงการแพทย์
ในปีนี้มีผู้เสนอชื่อแพทย์ที่มีผลงานดีเด่นทั้งสิ้น 16 ท่าน และคณะกรรมการการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทได้เดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ทำการสัมภาษณ์ผู้ร่วมงาน ผู้มารับบริการ ตลอดจนได้เยี่ยมชมผลงานของโรงพยาบาล
โดยพิจารณาถึงการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความสนใจใฝ่รู้ในเชิงวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมาโดยตลอด และยังสามารถร่วมงานกับชุมชนและองค์กรท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ
ด้วยการนำประเพณีปฏิบัติในท้องถิ่นมาผสมผสานกับความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบัน ทำให้งานสาธารณสุขดำเนินไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิผล นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประชาชนในท้องถิ่น
แม้จะปฏิบัติงานท่ามกลางสภาวการณ์ถาโถมของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในชุมชน ระบบสาธารณสุข และความคาดหวังจากประชาชน แม้ทรัพยากรสุขภาพจะมีจำกัด แต่ยังคงพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และทั้งยังสามารถชี้นำให้เกิดการปรับใช้จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับแก่หน่วยงานเป็นผลให้ได้รับศรัทธาจากประชาชนและผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี
- อ่าน 2,843 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้