• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคผิวหนังที่พบบ่อย(ตอนที่ 2) กลาก-เกลื้อน


ทั้งกลากและเกลื้อน เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื่อรา แต่มีลักษณะอาการแตกต่างกัน

 

กลาก (รูปที่ 1)
จะมีลักษณะเป็นวงแดงเห็นขอบนูนชัดเจน รอบๆ มักมีตุ่มใสเล็กๆ เรียงเป็นวง ตรงกลางจะเป็นขุยขาวๆ แห้งๆ มีลักษณะเป็นรูปโค้งหรือวงเดือน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กลากวงเดือน”
มักขึ้นตามใบหน้า ลำตัว หลัง แขนขา มือ ซอกเท้า
ถ้าเป็นในบริเวณร่มผ้า ขาหนีบ หรืออัณฑะ ชาวบ้านเรียกว่าสังคัง
ถ้าขึ้นที่ศีรษะ มักจะทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมๆ

คนไข้มักจะรู้สึกคันและเกาบางครั้งเกาจนหนังถลอก ทำให้ติดเชื้อหนองอักเสบได้ กลากมักจะค่อยๆ ลามกว้างออกไปเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากผื่นคันที่เกิดจากการแพ้ซึ่งมักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทีเดียว
กลากเมื่อรักษาหายแล้ว มักจะหายขาด ไม่เป็นซ้ำๆ ซากๆ ยกเว้น ไปติดเชื้อรามาใหม่ ส่วนผื่นคันจากการแพ้ มักจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นปี ๆ และมีประวัติชอบแพ้อะไรง่ายๆ


การรักษา
ให้ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนขององค์การเภสัชกรรม (หลอดละประมาณ 1.50 บาท) วันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ผื่นจะจาง ขอให้ทาต่อไปนาน 3-4 อาทิตย์

 


เกลื้อน (รูปที่ 2)
จะพบเป็นวงด่างขาวหรือออกแดงหรือเป็นรอยแต้มๆ ขอบไม่นูน เวลาถูกแดดสีจะเข้มขึ้น มักไม่มีอาการคัน ชอบขึ้นตามใบหน้า ซอกคอ แผ่นหลัง ลำตัว


การรักษา
ให้ทาด้วย ยาน้ำโซเดียม-ไธโอซัลเฟต ชนิด 20% สามารถเตรียมเองได้โดยผสมเกร็ดยานี้ (ซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือร้านถ่ายรูปเรียกว่า ไฮโป ซึ่งใช้ผสมเป็นน้ำยาล้างรูป) ใช้เกร็ดยาหนัก 12 กรัม ผสมน้ำกลั่นหรือน้ำสุก ที่ใส่เต็มขวดยาขนาด 60 ซี.ซี. (2 ออนซ์)
ยานี้ผสมแล้ว จะเสื่อมภายใน 2 อาทิตย์ ถ้าใช้อีกต้องเตรียมผสมใหม่
ทาวันละ 2-3 ครั้งติดต่อกันทุกวัน นาน 3-4 อาทิตย์
ถ้าหาซื้อลำบาก จะใช้ขี้ผึ้ง รักษากลากเกลื้อน แทนก็ได้

ทั้งกลากและเกลื้อน เป็นโรคผิวหนังที่ติดต่อโดยการสัมผัสกับคนที่เป็นโรค ดังนั้นจึงควรป้องกัน โดยไม่ใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ที่นอน ร่วมกับคนที่เป็นโรคนี้

 

ข้อมูลสื่อ

36-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 36
เมษายน 2525
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ