• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำอย่างไรดี ? เมื่อต้องใส่เฝือก

                                
 

 

เมื่อท่านจำเป็นต้องรับการใส่เฝือก เนื่องมาจากกระดูกหัก, ข้อเคลื่อนหรือปวดข้อ ฯลฯ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้กับท่านคือ
- อวัยวะที่อยู่ในเฝือกนั้นบวม
- ข้อติดแข็ง เคลื่อนไหวไม่ได้เต็มที่
- กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง
- กล้ามเนื้อลีบฝ่อลง
- กล้ามเนื้อหดตัวสั้นลง จนทำให้อวัยวะนั้นเสียรูปทรง

จากประสบการณ์พบว่า อาการ 4 อย่างหลังนี้พบบ่อยมาก และจะเป็นปัญหาติดตามมาภายหลัง ทำให้ท่านต้องเสียเวลาในการรักษานาน


จึงขอแนะนำข้อควรปฏิบัติขณะอยู่ในเฝือก เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวขึ้นโดย :

- เกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ในเฝือกของท่านนานประมาณ 5-6 นาที (หรือนับ 1 ถึง 10 ในใจ) พักสักอึดใจหนึ่ง แล้วก็เกร็งกล้ามเนื้อใหม่ 5-6 นาทีอีก แล้วคลาย ทำเช่นนี้สักวันละ 50-60 ครั้งหรือมากกว่านั้นก็ได้ ในตอนเช้า-เย็น พอเมื่อยก็พัก ถ้าท่านปฏิบัติได้ทุกวัน จะพบว่ากล้ามเนื้อตรงที่ใส่เฝือกนั้นจะแข็งแรง ไม่ค่อยลีบลง

- ข้อต่ออื่นๆ ที่อยู่นอกเฝือก ถ้าหมอไม่ห้ามเคลื่อนไหว ก็จงเคลื่อนไหวข้อต่อเหล่านั้นเถอะ อาจจะแกว่ง, ยก, งอ, เหยียด, กงหรือหุบแขนขานั้นตามธรรมชาติของมัน

ตัวอย่างเช่น ใส่เฝือกที่ข้อศอกท่านก็สามารถกำนิ้ว เหยียดนิ้วได้ กระดกข้อมือได้ กางแขนก็ได้ แกว่งแขนก็ได้ ท่านอาจจะเจ็บนิดหน่อยตรงอวัยวะที่อยู่ในเฝือก ถ้าพอทนได้ก็ขอให้ทำต่อไปดีกว่าไม่ทำเสียเลย

การใส่เฝือกโดยทั่วไปมีจุดประสงค์ เพื่อให้อวัยวะภายในเฝือกนั้นอยู่นิ่งๆ ให้สามารถฟื้นฟูสภาพเดิมได้เร็ว เช่น ในรายที่กระดูกหัก หรืออาจจะใช้เพื่อลดอาการปวดจากการเคลื่อนไหวข้อนั้น หมอจะใช้เฝือกเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อกระดูกต่อกันดีแล้ว หรือหายปวดแล้ว หมอก็จะเอาเฝือกออก


โปรดเข้าใจว่า

- การเกร็งกล้ามเนื้อหรือเบ่งกล้ามในเฝือก จะไม่ทำให้ข้อต่อในเฝือกเคลื่อนไหว แต่ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและเลือดไหลเวียนดี

- ข้อต่ออื่นๆ ที่ไม่ได้เฝือกสามารถเคลื่อนไหวได้ โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวข้อต่อในเฝือกนั้น

- ในรายที่กระดูกขาหัก ถ้าหมอยังไม่ให้ลงน้ำหนัก (ยืนหรือเดินด้วยขาข้างที่หักนั้น) ห้ามยืนหรือเดินด้วยขาที่หัก แต่ท่านก็สามารถที่จะยกขา กางขา หุบขา ข้างนั้นโดยไม่ต้องเคลื่อนไหวข้อต่อภายในเฝือกนั้นได้

ผู้ที่รักษาตัวเองอย่างถูกวิธีจะหายป่วยเร็วกว่าผู้ที่คอยแต่หมอหรือผู้อื่นให้ช่วยรักษา

 

ข้อมูลสื่อ

33-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 33
มกราคม 2525
โรคกระดูก
ผศ.ดร.วิชัย อึ้งพินิจพงศ์