เท้าเหยียดยืดหัตถ์ยัน ขยำเข่า สองนา
ขบขัดข้อเข่าแก้ เมื่อยล้าล้มถอย
ภาพและโคลงข้างต้น ได้มาจากภาพฤาษีดัดตนของวัดโพธิ์ ท่าฤาษีดัดตนนั้น เป็นท่าบริหารที่นิยมกันมากในชนบท ชาวไร่ชาวนา หลังจากเหน็ดเหนื่อยตรากตรำจากการทำงานทั้งวัน พอกลับถึงบ้านก็รู้สึกเมื่อยล้าตามร่างกาย นอกจากหลังแล้ว การปวดเข่า จะพบมากในวัยกลางคนขึ้นไป และวิธีการที่จะช่วยตัวเองได้ดีที่สุดคือ การบีบนวดและเหยียดเข่าให้ตรง เพื่อยืดเส้นยืดสายให้กล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหลังหัวเข่าผ่อนคลายความตึงลง การบริหารนี้ นับว่าได้ประโยชน์และถูกต้องตามหลักการรักษาแผนปัจจุบัน
ข้อเข่าของเราประกอยด้วยกระดูกสองชิ้นมาต่อกัน คือ ปลายกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง (รูปที่ 1 ก) มีกระดูกสะบ้าวางอยู่ข้างหน้าของข้อเข่าจะเห็นว่าโครงสร้างของข้อเข่าไม่สู้จะมั่นคงนัก ต้องอาศัยกล้ามเนื้อและพังผืดที่ห่อหุ้มอยู่รอบๆ ข้อเป็นตัวค้ำจุน โดยเฉพาะตัวเรานี้ ไม่เพียงแต่ทิ้งน้ำหนักลงมาที่ข้อนี้ในขณะลุกขึ้นยืนเท่านั้น เรายังกระแทรกข้อเข่าทุกครั้งที่เราวิ่งหรือกระโดด ซึ่งทำให้ข้อเข่าต้องรับภาระอย่างหนักตลอดเวลา ถึงแม้กล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังข้อเข่าจะเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย คือ กล้ามสี่หัว และกล้ามแฮมสตริง แต่เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อจะอ่อนแอลง และในตอนนี้เองทีน้ำหนักตัวของเรามักจะเพิ่มขึ้นตามอายุด้วย ภาระการค้ำจุนข้อเข่า จึงตกเป็นหน้าที่ของพังผืดที่ว่านี้ มีพังผืดที่ด้นนอกและด้านในของข้อเข่า และตรงกลางข้อเข่ามีพังผืดไขว้กัน ยึดกระดูกทั้งสองไว้ไม่ให้เคลื่อนออกไปข้างหน้าหรือข้างหลัง (รูปที่ 1 ข) ที่ผิวของกระดูกทั้งสองที่มาชนกัน มีกระดูกอ่อนปิดคลุมอยู่ กระดูกอ่อนทำหน้าที่ลดการกระแทกที่เกิดจากการวิ่งหรือกระโดดและจะเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น
สาเหตุ
สาเหตุของการปวดเข่ามีมาก แต่นอกจากการปวดเข่าที่เกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อแล้ว ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้ข้อเข่าที่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ หรือเล่นกีฬา ในคนที่ปวดเข่า มีอยู่น้อยที่เกิดจากน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าปกติ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากอาชีพ เช่น ชาวนาที่ต้องยืนทำนาอยู่ตลอดเวลา ครูสอนหนังสือที่ต้องยืนสอนหน้าชั้นทุกวัน กรรมกรแบกหามที่รับน้ำหนักมาก
เราอาจแบ่งสาเหตุการปวดเข่าออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะความรุนแรงของการเจ็บปวด คือ
ประเภทแรก เป็นการปวดแบบปัจจุบันทันด่วน ซึ่งมักจะมีการฉีกขาดของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อหรือพังผืดของข้อเข่า หัวเข่ามีการอักเสบและบวมและใช้ข้อเข่าไม่ได้ ทำให้ต้องเดินขาเป๋หรือเดินไม่ได้เลย ในกรณีนี้ ต้องคิดถึงการแตกหักของกระดูกบริเวณข้อเข่าด้วย (รูปที่ 2 ก และ ข)
ประเภทที่ 2 เป็นแบบเรื้อรังทีแรกก็ปวดๆ หายๆ ต่อมาปวดมากขึ้นจนแทบเดินไม่ไหว อาจมีประวัติการปวดนานหลายปี ประเภทนี้มักเป็นในข้อเข่าที่มีการเสื่อม หรือมี “กระดูกงอก” เกิดขึ้น โดยทั่วไปคำว่า กระดูกงอก มักจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเนื้องอก ทำให้ไม่เป็นอันกินอันนอนไปหลายวัน น่าจะเรียกว่า มีหินปูนมาพอกจะถูกต้องกว่า (รูปที่ 3)
ปวดเข่า ยังอาจเนื่องมาจากมีการกดทับเส้นประสาทที่หลัง หรือการอักเสบของเส้นเลือดที่ขา จึงควรทำการตรวจก่อนที่จะทำการรักษา
การตรวจ
การตรวจต้องสังเกตความผิดปกติของหัวเข่าก่อน ดูว่าผิดรูปร่างหรือเปล่า เช่น ขาโก่งหรือไม่ มีอาการบวมหรือไม่ โดยเทียบกับเข่าข้างที่ดี กล้ามเนื้อลีบไหม ลองจับขา แล้วงอและเหยียดออก เพื่อที่จะรู้ว่ามีการติดขัดของเข่าหรือไม่ มีเสียงดังกรึกกรักในข้อหรือเปล่า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของกระดูก
แล้วคลำดูว่า บริเวณหัวเข่าร้อนกว่าที่อื่น หรือกดดูว่ามีของเหลวในข้อเข่าหรือไม่ (รูปที่ 4)
คลำหาจุดเจ็บทางด้านในและด้านนอกของเข่า โดยกดแล้วคลึงไปมา (รูปที่ 5) ส่วนใหญ่ในรายที่หินปูนไปเกาะจะกดเจ็บด้านในของหัวเข่า
ถ้ามีประวัติหกล้มมาก่อน ก็ตรวจดูว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นพังผืดไหม
การตรวจพังผืดด้านใน เราต้องเอามือหนึ่งไว้ด้านนอกหัวเข่า อีกมือหนึ่งดันขาส่วนล่างออก (รูปที่ 6) ถ้าเกิดการฉีกขาด จะมีการเคลื่อนไหวได้มากกว่าปกติ โดยอาจเปรียบเทียบจากขาข้างที่ไม่ปวด
ส่วนการตรวจพังผืดด้านนอก ให้เอามือบนอยู่ด้านใน แล้วใช้มือล่างดันขาเข้าจากด้านนอก
การตรวจการฉีกขาดของพังผืดไขว้ ทำได้โดยงอข้อเข่า แล้วใช้มือผลักและดันไปมาทางหน้าและหลัง (รูปที่ 7)
กาฉีกขาดของพังผืดนี้ จะทำให้กระดูกหน้าแข้งเคลื่อนที่ได้มาก กระดูกอ่อนของข้อเข่าก็แตกหรือฉีกได้ง่าย ในนักกีฬาที่ต้องใช้ขามาก เช่น การเตะลูกหนัง ทำให้ข้อเข่าเหยียดไม่ตรงเต็มที่ คล้ายมีอะไรมาขวางอยู่ (ดูรูปที่ 8)
การรักษา
การรักษาในรายที่มีการบวมหรือเจ็บปวด เวลาเดินต้องพันผ้ายืดไว้ การพันนั้นเริ่มจากขาท่อนล่างก่อน พันสัก 2-3 รอบ แล้วไขว้กันที่หน้าหัวเข่า (รูปที่ 9)
ในรายที่สงสัยว่ามีกระดูกหักต้องเอาแผ่นไม้ไผ่นาบไว้ แล้วเอาผ้าพันอีกทีก่อนนำส่งแพทย์
ในรายที่เป็นแบบปัจจุบันทันด่วน อาจใช้น้ำแข็งประคบบริเวณหัวเข่า เพื่อลดการอักเสบและห้ามเลือดในกรณีมีเลือดออก เมื่อพัน 24 ชั่วโมงแล้ว จึงใช้น้ำร้อนประคบได้ เมื่อการอักเสบลดลงแล้ว
ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง พยายามกดหาจุดเจ็บ แล้วขยี้หนักๆ ขวางการเรียงตัวของพังผืดที่ด้านในและด้านนอกหัวเข่า อาจใช้นิ้วหัวแม่มือขยี้จุดเจ็บไปมาในทิศทางหน้าหลัง (ดูรูปที่ 10)
นวดบริเวณกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า โดยเฉพาะเส้นเอ็นหลังเข่า และกล้ามเนื้อน่องให้หายตึง โดยคลึงที่กล้ามเนื้อและบีบนวด ในระยะนี้ ความร้อนมีส่วนช่วยให้หายปวดได้มาก ความร้อนที่ใช้ได้แก่ กระเป๋าน้ำร้อน ไพล ผ้าร้อนที่แช่ในน้ำร้อน หรือเอาไปนึ่งก่อนลูกประคบต่างๆ เช่น ว่านนางคำ ใบพลับพลึง หรืออาจใช้เกลือ ทราย ก้อนอิฐเอาไปผัดหรือเผาให้ร้อน ระวังอย่าให้ไหม้พอง จึงต้องห่อด้วยผ้าหนาๆ หลายๆ ชั้น
ในกรณีมีการแตกของกระดูกอ่อนต้องทำการดึงและดัดให้เข่าเหยียดตรง (รูปที่ 8) การดัดและการบีบนวดบริเวณเข่านั้น ทำได้เองดังรูปฤาษีดัดตนข้างต้นนี้ พยายามเหยียดเข่าให้ตรง ขณะทำการบีบนวด
ในกรณีที่การอักเสบลดลงแล้วและไม่ปวดมาก ต้องเริ่มทำการบริหารข้อเข่า ส่วนใหญ่กล้ามเนื้อทางด้านในหัวเข่าจะลีบลง และอ่อนกำลังลงทำให้เหยียดเข่าไม่ได้เต็มที่ มักจะขาดอีก 15 องศาจึงจะตรงเต็มที่ ข้อเสียคือ ข้อเข่าจะไม่มั่นคงในท่างอเล็กน้อยดังกล่าว เวลาขึ้นบันได โดยเฉพาะเวลาลงบันไดหรือเดินตามทางที่ขรุขระจะเจ็บปวดมากเนื่องจากกระดูกเสียดสีกัน และหินปูนที่มาพอกอยู่ตามผิวกระดูกถูกับพังผืดหุ้มข้อ ทำให้เกิดการอักเสบได้ ซ้ำเวลาเดินผิดท่า จะไปหนีบถูกเยื้อหุ้มข้อ ทำให้ขาอ่อนกำลังลงอย่างกะทันหันแทบจะเดินต่อไปไม่ไหว ดังนั้น จึงต้องบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพื่อเหยียดหัวเข่าให้ตรง เข่าจะมีกำลังดี ไม่หกล้มหรือเจ็บปวด
การบริหาร
วิธีบริหารคือ นั่งที่เก้าอี้หรือขอบเตียง เอาผ้าหนุนใต้เข่า (รูปที่ 11) หาเก้าอี้หรือขอนไม้วางใต้ส้นเท้า เหยียดขาให้ตรง แล้วเกร็งไว้ให้นานที่สุด ข้อสำคัญคือ หัวเข่าต้องตรงจริงๆ จึงจะได้ผล เอาน้ำหนักถ่วงไว้ที่หลังเท้า น้ำหนักที่ใช้ ทำได้โดยบรรจุทรายไว้ในถุงพลาสติคหรือถุงผ้า แล้วผูกกับข้อเท้า เหยียดเข่าให้ตรงเช่นเดียวกับตอนไม่มีน้ำหนัก ค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักขึ้นจาก 1 กิโลกรัม จนถึง 7 กิโลกรัม ในผู้ชาย หรือ 1 กิโลกรัม จนถึง 5 กิโลกรัมในผู้หญิง หัวเข่าจะไม่เสียดสีกัน ทำให้ไม่เจ็บปวดอีก
วิธีบริหารที่ดีอีกวิธีหนึ่ง คือ ขี่จักรยาน อาจขี่อยู่กับที่บนขาตั้งก็ได้ (รูปที่ 12)
ข้อห้ามในรายที่มีอาการปวดเข่า คือ อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินไป อย่านั่งพับเพียบบนพื้น ควรจะนั่งบนเตียง หรือบนเก้าอี้ ห้อยขาลง อย่านั่งยองๆ นานไป ต้องลุกขึ้นเดินไปมา ให้เลือดลมวิ่งสะดวก ห้ามกระโดดหรือวิ่ง แต่การเดินไปมาเป็นการออกกำลังที่ดี ถ้าต้องเดินขึ้นลงที่ลาด ควรหาผ้ายืดพันหัวเข่าไว้ สำหรับคนที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง การว่ายน้ำจะช่วยให้ข้อเข่าแข็งแรงและไม่เจ็บปวด
เนื่องจากทั้งหลังและหัวเข่าของเรา ล้วนไม่เหมาะสมกับการรับน้ำหนักที่มากเกินไป การขนย้ายสัมภาระที่หนักเกินไปจึงควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น เกวียน หรือโค ควาย รถเข็น แทนที่จะแบกใส่หลังหรือบ่า อาการปวดเข่า ก็ย่อมป้องกันได้อย่างไม่มีปัญหา
- อ่าน 65,391 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้