ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึง “เทคนิคการวิ่ง” คือ
ขั้นแรก ขั้นของการทำใจและเตรียมตัวก่อนการเริ่มต้น
ขั้นที่ 2 ขั้นของการยืดเส้นยืดสาย
ขั้นที่ 3 ขั้นของการเริ่มต้นวิ่ง
และขั้นที่ 4 ท่านคือนักวิ่งสมบูรณ์แบบ ซึ่งได้กล่าวค้างไว้ในหัวข้อย่อยของขั้นนี้เกี่ยวกับท่าวิ่ง ซึ่งจะแยกย่อยออกได้ดังนี้
ก.การลงเท้า
ข.ท่าทางการวิ่ง
ค.การเคลื่อนไหวของแขน
ง.การหายใจ
ก.การลงเท้า
การวิ่งเพื่อสุขภาพนี้ ไม่ใช่การวิ่งเร็วเพื่อแข่งขัน เพราะฉะนั้นการลงเท้าจะแตกต่างกัน นักวิ่งเร็วจะลงพื้นด้วยปลายเท้าซึ่งทำให้มีพลังและความเร็วเพิ่มขึ้น แต่ถ้าวิ่งไปนาน ๆ จะทำให้ขาเหนื่อยอ่อน น่องตึง กล้ามเนื้อด้านข้างและเอ็นร้อยหวายอักเสบ
ฉะนั้นสำหรับนักวิ่งระยะไกลและนักวิ่งเพื่อสุขภาพ การลงเท้าที่ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อป้องกันการเจ็บปวดเท้า ควรจะลงแตะพื้นเบาและเงียบเท่าที่จะทำได้ โดยส้นเท้าจะสัมผัสพื้นก่อน แล้วทั้งฝ่าเท้าจึงจะตามลงมา และเมื่อปลายเท้าหมุนลงมาแตะพื้น ก็เป็นจังหวะที่ส้นเท้ายกขึ้น ปลายเท้าก็จะตะกุยดิน ถีบตัวเหมือนสปริงดีดตัวขึ้นข้างบนและเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
จุดที่เท้าสัมผัสพื้นควรจะตรงกับหัวเข่างอเข่านิด ๆ และเท้าควรจะสัมผัสพื้นหลังจากที่ได้เหยียดออกไปข้างหน้า ส่วนอีกเท้าเหวี่ยงไปข้างหลัง
ข.ท่าทางการวิ่ง
ยึดหลักง่าย ๆ คือวิ่งให้สง่าผ่าเผย
การวิ่งอย่างสง่าผ่าเผยหมายถึงวิ่งให้หลังตรงและเป็นธรรมชาติมากที่สุด วิ่งสบาย ๆ ศีรษะตรง ตามองตรงไปข้างหน้า ให้ส่วนต่าง ๆ จากศีรษะลงมา หัวไหล่และสะโพกจนถึงพื้นจะเป็นเส้นตรง ลำตัวตรงไม่โน้มไปข้างหน้า หรือเอนไปข้างหลัง
ค.การเคลื่อนไหวของแขน
การเคลื่อนไหวแขนช่วยเป็นจังหวะให้ท่านวิ่งไป ยิ่งเคลื่อนแขนเร็ว ขาก็ก้าวเร็วไปเร็ว “การเหวี่ยงแขนเร็ว” ช่วยเพิ่มพลังให้วิ่งเร็วเช่นเดียวกับนักวิ่งเร็วยกเข่าสูง การเคลื่อนไหวของแขนทั้งสองข้าง จะช่วยในการทรงตัว และเก็บออมพลังงานของนักวิ่ง ขณะที่แขนซ้ายเหวี่ยงไปข้างหน้า ก็ช่วยการทรงตัวของขาขวา ทำนองเดียวกันขณะที่แขนขวาเหวี่ยงไปข้างหน้า ช่วยการทรงตัวของขาซ้าย ขณะที่วิ่งแขนแกว่งไปมาเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา พยายามอย่าให้แขนแกว่งขวางมาตามหน้าอก เพราะจะมีผลทำให้วิ่งปัด เท้าไม่ตรง แขนควรแกว่งไปตามแนวหน้าหลัง ตามทิศทางที่จะวิ่งไป อย่างอแขนที่ข้อศอกมากเกินไป เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่แขนพับ ทำให้เลือดมาเลี้ยงปลายแขนไม่สะดวก พยายามอย่าให้ข้อศอกงอเข้ามาแคบกว่า 90 องศา
หัวแม่โป้งวางบนนิ้วชี้สบาย ๆ กำนิ้วหลวม ๆ หันฝ่ามือขึ้นด้านบนนิดหน่อย ข้อมือไม่เกร็ง มืออยู่ในระดับแนวเดียวกับแขน ปล่อยข้อศอกให้สบาย อย่าเกร็งหรืออย่ากางออกไปมาก ปล่อยหลวม ๆ ข้างตัว เวลาเหวี่ยงแขน ข้อศอกจะพับเข้าและปล่อยลงทุกครั้ง
หัวไหล่ควรจะอยู่ตรง ไม่เคลื่อนไปมา แต่ทุกครั้งที่ยกแขนขึ้นลง ไหล่ก็จะขึ้นลงตามไปด้วย เวลาวิ่งควรจะพยายามปล่อยตามสบาย หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ และมือ ถ้าเกร็งตัวขณะวิ่ง จะมีผลทำให้เคลื่อนแขนไม่ถูก บางครั้งบางคราวอาจปล่อยแขนเหยียดตรงลงมา หรือเขย่าแขนปล่อยให้เส้นสายคลายตัวบ้างหลังจากยกแขนไว้นาน ๆ
ง.การหายใจ
มีหลายคนมักถามว่า “ควรจะหายใจอย่างไรดี ขณะที่วิ่ง” หรือ “ควรจะหายใจทางปาก หรือทางจมูก” ที่ถูกแล้วควรจะหายใจเข้าทางจมูกและปล่อยลมหายใจออก พร้อมกันทั้งทางจมูกและปาก
ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถหายใจเข้าและออกได้ทัน
อย่างไรก็ดี ให้ยึดกฎง่าย ๆ สองข้อ คือการหายใจควรเป็นไปตามสบายและพยายามหายใจด้วยท้อง
การหายใจด้วยท้อง คือ สูดหายใจเข้าไปในปอดจนท้องขยายและบังคับปล่อยลมออกมาด้วยการแขม่วท้อง การหายใจไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดอาการจุดเสียด
(โปรดอ่านต่อฉบับหน้า : จะกล่าวถึงขั้นที่ 5 ควรสวมใส่เสื้อผ้าอย่างไรในการวิ่ง)
- อ่าน 43,960 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้