• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้อดยาเสพย์ติดโดยใช้เอ็นดอร์ฟินส์(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

   

บ๊อบบี้พบชีวิตใหม่

คราวนี้ มีคนนำเขาไปส่งโรงพยาบาลเดล อโม่ เขาถูกรับไว้ในแผนกคนไข้โรคจิต พออาการเริ่มดีขึ้น มีจิตแพทย์มาพบ ตอนแรกบ๊อบบี้คิดว่าจิตแพทย์คนนี้คงเป็นเช่นหมอเก่าๆ ที่เขาเคยได้พบ คือมาซักถามเขาถึงเรื่องราวการติดยา และชนิดของยาที่ใช้ แต่หมอเดนนิส ค๊อฟฟี่ ทำให้เขาประหลาดใจ (แทนการขู่ให้เลิกยา มิฉะนั้นจะต้องพบกับความตาย) หมอคนนี้กลับชวนเขาคุยไปเรื่อยๆ

เมื่อบ๊อบบี้เล่าให้ฟังถึงความหลังครั้งสงครามเวียดนาม หมอค๊อฟฟี่ สังเกตเห็นความประทับใจของบ๊อบบี้ในตอนที่เล่าถึงการแบกอาวุธสงครามหนักๆ ไปตามภูเขา บ๊อบบี้บรรยายว่าในเวลานั้นเขามีความรู้
สึกสบายอย่างบอกไม่ถูก
จากจุดนี้เอง ที่ทำให้หมอค๊อฟฟี่ ซึ่งเป็นนักวิ่งคนหนึ่งคิดว่า บ๊อบบี้อาจมีทางรักษาได้โดยการให้ออกกำลังเขาจึงบอกบ๊อบบี้ถึงความคิดอันนี้ และแนะนำให้ทดลองวิ่งดู

 

 

เริ่มลองวิ่ง
บ๊อบบี้เองมีความชอบหมอ ค็อฟฟี่เป็นทุนอยู่แล้ว เขาตั้งใจว่า คราวนี้จะเลิกยาให้ได้เด็ดขาด เขากินยานอนหลับเม็ดสุดท้ายในวันที่ 1 พฤษภาคม ห้าวันหลังจากที่เข้ารับการรักษาตัวใน เดล อโม่ หนึ่งเดือนต่อมา เขาเริ่มวิ่งในสนามหลังโรงพยาบาล
ลู่วิ่งนั้นยาวราว 300 เมตร บ๊อบบี้ไม่สามารถวิ่งตลอดความยาวได้ในวันแรกๆ แต่พออาทิตย์ที่สอง เขาวิ่งได้ราว 1.5 กิโลเมตร แม้ว่าจะยังเหนื่อยแฮ่ก และรู้สึกเหมือนคนใกล้ตาย
เมื่อตอนออกจาก เดล อโม่ ในเดือนมิถุนายนนั้น เขาวิ่งได้ราว 2 กิโลเมตร

 

 

ประสบความสำเร็จในการวิ่ง
สองเดือนต่อมา เขาเข้าแข่งขันการวิ่งครั้งแรกในชีวิต ระยะทาง 16 กิโลเมตร เข้าถึงเส้นชัยด้วยเวลา 88 นาที และรู้สึกภูมิใจอย่างมาก เขาได้ทำบางอย่างสำเร็จ ซึ่งในชีวิตนั้นไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้
เขาฝึกวิ่งหนักขึ้นๆ ทุกที จนในเดือนมกราคม 2526 เก้าเดือนหลังจากที่เขาถูกเข็นเข้าไปใน เดล อโม่ เขาเข้าร่วมการวิ่งโจเอล ออร์เน่อร์ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ! ซึ่งเขาทำได้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องเดินช่วง 8 กิโลเมตรสุดท้าย
ในห้วงเวลาที่ผ่านมานี้ หมอ ค๊อฟฟี่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุน และให้กำลังใจบ๊อบบี้อยู่ตลอด

 

 

ประสบความสำเร็จในการอดยา
จนถึงบัดนี้ เวลาได้ผ่านไป 2 ปี บ๊อบบี้มิได้แตะต้องเหล้า หรือยาชนิดใดเลย แม้แต่บุหรี่
เขาก็เลิก เขาหันมาติดการวิ่งแทน ลงแข่งทุกสุดสัปดาห์และคลั่งไคล้ในการสะสมเสื้อยืดที่ระลึกจากการแข่งขัน แทนการจัดหาเฮโรอีน

 

 

วิเคราะห์เบื้องหลังของความสำเร็จ
ครับ เรื่องราวของบ๊อบบี้ คงจะจบลงที่บรรทัดนี้ ท่านที่อ่านเรื่องเอ็นดอร์ฟินส์มาแต่ต้น อาจอธิบายว่าเป็นเพราะ “ ฝิ่นภายใน“ ทำให้เขาอด “ ฝิ่นภายนอก” ได้
แต่สำหรับตัวบ๊อบบี้เอง คำอธิบายง่ายนิดเดียว ถ้าเขาไม่ได้วิ่ง เขาจะเริ่มรู้สึกซึมเศร้า และเกิดความต้องการเสพยาขึ้นมาอีก ครั้งหนึ่งเขาเคยนั่งร้องไห้ต่อหน้าแพทย์ผู้ทำการรักษาขาที่เจ็บของเขา เขาพยายามอธิบายให้แพทย์ผู้นั้นเขาใจว่า การวิ่งมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตของเขา แม้ว่าเขาจะเคยฝังศพ ฝังอตีตและผ่านเหตุการณ์อันน่าเศร้าโศกเสียใจแต่ก็ไม่เคยร้องไห้ มาบัดนี้ เขากลับมานั่งร้องไห้ เพราะความกลัวว่าขาที่เจ็บจะทำให้วิ่งไม่ได้

กรณีของบ๊อบบี้ ริชาร์ดสัน อาจเป็นเรื่องประจวบเหมาะของความบังเอิญหลายๆ อย่าง
อย่างแรก สาเหตุการติดยาของเขา เป็นไปเพราะหลงใหลใน “รสยา”
อย่างที่สอง
เขาได้ผู้ช่วยบำบัดอย่างหมอค๊อฟฟี่ ที่มีความเข้าใจในตัว เขา และปัญหา
อย่างที่สาม การวิ่ง ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงเป้าที่สุดสำหรับเขา
การวิ่ง หรือการออกกำลังอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับผู้ติดยา ทุกๆ คน แต่ก็คงมีคนอย่าง บ๊อบบี้ อีกจำนวนไม่น้อย และเมื่อใช้อย่างถูกวิธี การวิ่งอาจช่วยผู้หลงอยู่ในวังวนของยาเสพย์ติด ให้หลุดออกมาได้อย่างถาวร ดังในกรณีของบ๊อบบี้
ครับ ใครจะลองเอาการวิ่งไปใช้ดังที่ว่าไว้ ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์อันใดหรือจะใช้นั่งสมาธิให้เอ็นดอร์ฟินส์หลั่งออกมา ก็น่าจะลองดู

 

 

“ ผลร้าย“ ของเอ็นดอร์ฟินส์
ในเรื่องสุดท้ายที่เกี่ยวแก่เอ็นโดรฟินส์ คือ ผลในทางร้าย เท่าที่พบกันในทางการแพทย์ มีอยู่อย่างหนึ่งเรียกว่า สภาวะเอ็นดอร์ฟินส์เกิน (Hyperendorphins Syndrome ) ภาวะนี้มักเกิดในคนไข้ที่ป่วยหนักจนใกล้จะตาย ถ้ามีน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่นานๆ จะกระตุ้นร่างกายให้ปล่อยสารเอ็นดอร์ฟินส์ออกมาอย่างมากมาย ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนคนได้รับฝิ่นเกินขนาด กล่าวคือ ไม่รู้สึกตัว ม่านตาหดเล็ก เหม่อลอย ติดจะเคลิ้มๆ ใครจะเอาเข็มไปทิ่มไปตำ หรือทำอะไรก็ไม่รู้สึกเจ็บปวด ภาวะนี้มักจะมีก่อนที่จะเสียชีวิต

มองในแง่ร้าย ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยที่อาการหนักอยู่แล้ว ทรุดลงได้ เพราะพิษของฝิ่นเกินขนาด
แต่ถ้ามองใน แง่ดี เป็นวิธีการของธรรมชาติ ที่จะช่วยให้คนใกล้ตายตายไปอย่างไม่ทุรนทุราย
ครับเป็นความสงบก่อนจะตายเหมือนทะเลที่สงบก่อนพายุใหญ่จะมา
แล้วแต่จะมองกันว่า “พายุใหญ่” คือ ความตายนั้นเป็นไฉน ถ้ามองในแง่ต้องเอาชนะมันให้ได้ ก็ไม่สบายใจแต่ถ้ามองว่า เป็น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องถึงคราวเข้าสักวันหนึ่ง ความตายนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงใจอะไรหนักหนา

พูดไปพูดมา จูงเข้าปรัชญาไปหน่อยจนได้ ที่จริงหมายใจจะให้รู้จักเอ็นดอร์ฟินส์ ฝิ่นภายใน เขียนไปๆ ยืดยาวออกมาถึง 3 ตอน คงได้เวลารูดม่านปิดฉากละคร พักผ่อนกันเสียที
 

ข้อมูลสื่อ

72-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528
อื่น ๆ
กาแลคติก้า