• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ราชาผลไม้ในฤดูร้อน แตงโม


ฤดูร้อนมาถึงอีกแล้ว สำหรับกรุงเทพฯ ฤดูกาลในปีหนึ่งๆ นั้น แทบจะไม่แตกต่างกันเลย นอกจากจะมีฝนตกเป็นบางครั้งในฤดูฝนแล้ว อากาศก็ร้อนอบอ้าวเกือบทั้งปี ทั้งนี้เพราะสิ่งแวดล้อมในและรอบๆ กรุงเทพฯถูกทำลาย ทำให้ขาดความสมดุลของธรรมชาติไป อากาศที่ร้อนอบอ้าว เช่นนี้ทำให้เราอดคิดถึงแตงโมไม่ได้ ถ้าได้กินแตงโมสักชิ้นสองชิ้นก็คงช่วยดับร้อนแก้กระหายได้วิเศษยิ่ง

แตงโมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrullus vulgaris Schrad วงศ์ Cucurbitaceae (พวกฟัก แตง บวบ)

แตงโมเป็นพืชล้มลุก มีอายุสั้นต้นเป็นเถาเลื้อยไปตามดิน แตงโมชอบแสงแดดจัดและอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ไม่ชอบเจริญเติบโตในที่ชื้นแฉะ

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถปลูกแตงโมได้ตลอดปี และปลูกกันได้ทั่วทุกภาค โดยสามารถปลูกในดินเกือบทุกชนิด เพราะเป็นพืชปลูกง่ายเจริญเติบโตเร็ว จึงเป็นพืชที่เหมาะสำหรับปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นจึงนิยมปลูกในตอนปลายฤดูฝนราวเดือนตุลาคมถึงมีนาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้ายราวเดือนมิถุนายน

ประวัติย่อของแตงโม
สำหรับแหล่างกำเนิดแห่งแรกของแตงโมนั้นอยู่แถบทะเลทรายคาลาฮารี
ชาวอียิปต์ซึ่งอาศัยอยู่แถบแม่น้ำไนล์ เป็นชนชาติแรกที่รู้จักปลูกแตงเพื่อนำมากิน เมื่อประมาณ 4 พันกว่าปีมาแล้ว

ส่วนในจีนนั้นเริ่มมีการนำแตงโมไปปลูกที่ซิ่นเกียง ในราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ค่อยๆแพร่ลงมาทางใต้

รูปร่างของแตงโม นอกจากจะเป็นรูปกลมหรือรูปรีอย่างที่เราเคยเห็นมาแล้ว ในญี่ปุ่นและไต้หวันยังมีการปลูกแตงโมที่มีรูปร่างเหลี่ยม ซึ่งทำให้สะดวกในการบรรจุหีบห่อและขนส่ง

สำหรับแตงโมที่ใหญ่ทีสุดเท่าที่เคยเก็บได้ที่รัฐคาโลไรนา ในสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่ามีน้ำหนักถึง 90 กก. ยาว 120.9 ซม. นับว่าเป็นแตงโมขนาดใหญ่มากทีเดียว

สารที่พบในแตงโม

แตงโมมีน้ำถึง 96.6% ในเนื้อจะมีวิตามินเอ, บี, ซี กรดนิโคตินิค กลูโคส ฟรุคโตส ซูโครส โปรตีน คาโรทีน กรดมาลิค กรดฟอสฟอริค กรดกลูตามิค แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เซลลูโลส เป็นต้น

ประโยชน์ของแตงโมในทรรศนะจีน

เนื้อแตงโมมีรสหวาน มีคุณสมบัติเย็น จึงจัดเป็นอาหารพวกยิน ในหนังสือเภสัชวิทยาที่สำคัญของจีน เช่น เปิ่นฉ่าวไป่เอี้ยว เปิ่นฉ่าวกางมู่ ได้บันทึกไว้ว่า แตงโมดับร้อนแก้กระหายน้ำ แก้อาหารเจ็บคอ แก้ร้อนกระวนกระวาน แก้พิษสุรา แก้บิดและขับปัสสาวะ

เมล็ดแตงโมไม่มีรสหวาน คุณสมบัติเป็นกลาง (ไม่ร้อน ไม่เย็น)
1. ถ้ามีอาการเป็นไข้ คอแห้ง เหงื่ออกมาก ร้อนกระวนกระวายให้ดื่มน้ำแตงโมต่างน้ำ จะทำให้อาการดังกล่าวลดน้อยลงหรือหายไป ดังสุภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า “หน้าร้อนกินแตงโมสองชิ้น ไม่ต้องซื้อยามากิน”

2. เป็นแผลในปาก
ให้ใช้น้ำแตงโมอมบ่อยๆ หรือจะเอาเปลือกแตงโมผึ่งไฟหรือตากให้แห้ง บดเป็นผงแล้วทาบริเวณที่เป็น

3. ในฤดูร้อนอากาศร้อน
หลังจากกินแตงโมแล้วเปลือกแตงโมอย่างทิ้งขูดเอาส่วนที่เป็นเนื้อขาวทิ้ง นำเอาเปลือกไปต้มให้เดือดแล้วเติมน้ำตาลทรายลงไปพอหวาน ดื่มแทนน้ำจะทำให้ชุ่มคอ ช่วยป้องกันและลดอาการคอแห้ง เจ็บคอ แก้กระหายน้ำ และช่วยขับปัสสาวะด้วย นับว่าเป็นเครื่องดื่มชั้นดีในฤดูร้อนดีกว่าไปซื้อน้ำอัดลมกิน เป็นการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย (และรายได้มาก)

4. ไตอักเสบเรื้อรัง ใช้แตงโมทั้งลูกล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคี่ยวจนข้น แล้วเติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมลงไป (เป็นยาน้ำเชื่อม) กินวันละครั้งๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือจะกินเนื้อแตงโมเป็นประจำก็ได้ในปริมาณที่เหมาะกับร่างกายพอดี

ผลการศึกษาพบว่า แตงโมมีน้ำตาล พวกเกลือแร่ต่างๆ (ส่วนมากเป็นเกลือของแคลเซียม) และเอนไซม์สามารถรักษาโรคไตอักเสบ และลดความดันโลหิตได้ ทั้งนี้เพราะปริมาณของน้ำตาลและเกลือโปแตสที่พอเหมาะจะสามารถขับปัสสาวะและลดการอักเสบของไตลงได้

นอกจากนี้เอนไซม์ในแตงโมยังสามารถเปลี่ยนโปรตีนซึ่งไม่ละลายให้เป็นโปรตีนที่ละลายได้ เป็นการเพิ่มอาหารให้กับผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ กลัยโคไซด์ ในแตงโมสามารถลดความดันของโลหิตได้อีกด้วย

5. เบาหวาน
ใช้เปลือกแตงโมและเปลือกฟักเขียว อย่างละ 30 กรัม ต้มน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง

6. แก้ฤทธิ์สุรา
ให้กินเนื้อแตงโมสด 1/2 ถึง 1 กิโลกรัม หรือจะใช้เปลือกแตงโม 60 กรัม (สด 120 กรัม) ต้มน้ำดื่ม

7. ท้องผูกในสตรีมีครรภ์
ใช้เมล็ดแตงโม 15 กรัม ตำให้แหลกละเอียดเติมน้ำผึ้ง 15 กรัม และน้ำพอประมาณ ตุ๋นนานครึ่งชั่วโมง กินวันละครั้ง 3 วันติดต่อกัน

8. ประจำเดือนมากผิดปกติ
ใช้เมล็ดแตงโมตากแห้ง (หรืออบแห้ง) แล้วบดเป็นผง ชงน้ำกินวันละสองครั้ง เช้า-เย็น

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2517 บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ “ไทม์วีคลี่” ของฟิลิปปินส์ ซึ่งได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมกับ มาดามมากอส ในระหว่าเยือนจีน เขาเกิดป่วยขึ้นอย่างกะทันหันมีอาการรุนแรงมาก (ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร) หมอนอกจากจะให้กินยาแล้ว แตงโมก็มีส่วนร่วมในการรักษาโรคด้วย เขาหายอย่างรวดเร็ว หลังจากกลับฟิลิปปินส์ เขาได้เขียนบทความ 10 กว่าเรื่องกล่าวยกย่องแพทย์จีน อาทิเช่น “นายแพทย์ชาวจีนได้ช่วยชีวิตผม ” “แตงโมได้ช่วยชีวิตผมด้วย”

ชาวจีนมักนิยมกินแตงโมโดยจิ้มกับเกลือ จะทำให้คลายร้อน แก้กระหายน้ำ กระชุ่มกระชวย

ข้อควรระวัง

แม้แตงโมจะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ แต่อย่ากินแตงโมมากเกินไป ทั้งนี้เพราะน้ำจากแตงโมซึ่งมีจำนวนมากจะทำให้น้ำย่อยในกรเพาะอาหารเจือจางลง ทำให้อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสีย นอกจากนี้อย่ากินแตงโมดิบหรือเน่า เพราะจะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะท้องร่วง และอาเจียน

สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคเยื่อบุลำไส้อักเสบเรื้องรัง มักมีอาการท้องเสียบ่อยๆ หรือมีความดันโลหิตต่ำ มีร่างกายอ่อนแอ หรือมีอาการที่แพทย์จีนเรียกว่า ม้ามพร้อง คือมีอาการท้องอืดท้องแน่น อาหารไม่ค่อยย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหรมาก ไม่ควรกินแตงโม (อาจกินได้บ้างเล็กน้อย) โดยเฉพาะเด็กที่ชอบกินแตงโม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ไม่ควรกินแตงโมแช่เย็น หรือกินมากเกินไป โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการม้ามพร่องและมีเหงื่อออก เป็นหวัดและไอบ่อยตอนกลางคืน

สำหรับท่านที่มีอาการร้อนใน คือ มีไข้สูง ปวดหัว ท้องผูก คอแห้ง กระหายน้ำ ตัวร้อนเหงื่ออก ตาแดง ปากเหม็น ลิ้นแห้ง มีฝ้าสีเหลืองปัสสาวะสีเข้มและน้อย บางครั้งถ่ายจะแสบ ถ้ามีอาการดังกล่าวให้กินแตงโมมากๆ จะทำให้อาการไข้ลดลง หรือหายไป การขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะจะเป็นปกติ และถ้าม้ามพร่องหรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้กินน้อยๆ หรือห้ามกิน

 

ข้อมูลสื่อ

60-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 60
เมษายน 2527
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล