• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความอ้วนผอมของคนไทย


ความอ้วนผอม เป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งของมนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษามาแต่โบราณ
ในสมัยโบราณ หลายชาติหลายภาษาถือว่า ความอ้วน เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งมี ความมีบุญวาสนา และความปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วน ความผอม เป็นสัญลักษณ์แห่งความยากจน ความขาดแคลน และความเจ็บป่วย

ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้สูงอายุ หลายคนในปัจจุบัน ก็ยังเชื่อถือเช่นนั้น และพลอยถือโกรธลูกหลาน หรือแพทย์ที่แนะนำให้ลดน้ำหนัก (ลดความอ้วน) โดยหาว่าลูกหลานขี้เหนียวหรือต้องการจะให้ตนอดอาหารจนตาย หรืออื่นๆ

ในสมัยปัจจุบัน หลายชาติหลายภาษาต่างเชื่อถือว่า ความอ้วน เป็นสัญลักษณ์แห่งความน่าเกลียด และโรคภัยไข้เจ็บ ส่วน ความผอม เป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงาม

จนวัยรุ่น ชายหนุ่มหญิงสาว หลายคนในปัจจุบัน พากันอดอาหารจนร่างกายผอมโซ (เหลือแต่กระดุก หรือก้าง) แล้วก็คิดว่า สารรูปของตนนั้นสวยงามที่สุด (ที่ซู้ด หรือที่ทรุดนั่นเอง)

อันที่จริงแล้ว ความอ้วนที่อ้วนเกินไป และความผอมที่ผอมเกินไปเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและเป็นโรค หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ง่ายทั้งสิ้น

ดังนั้น ความอ้วนผอมที่พอดี หรือความไม่อ้วนไม่ผอม จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคน้อย

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความอ้วน-ผอม อย่างไร
ความอ้วน-ผอมที่พอดี
โดยทั่วไปเรามักจะกะเกณฑ์ความ อ้วน-ผอม โยการดูรูปร่าง (สารรูป) ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆ ที่ทำให้รู้ถึงความอ้วนและความผอมมากๆ ได้

ถ้าเราจะใช้วิธีที่ละเอียดเพิ่มขึ้นเราก็จะใช้วิธีการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูงของร่างกาย หรือใช้วิธีวัดความหนาของผิวหนัง เพื่อดูสัดส่วนไขมันในร่างกาย หรือใช้วิธีหาความถ่วงจำเพาะของร่างกายโดยการชั่งน้ำหนัก และหาปริมาตรของร่างกายโดยการจุ่มน้ำ

วิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดและใช้กันทั่วไป คือการชั่วน้ำหนัก และวัดความสูง แล้วดูว่า ถ้าสูงเท่านั้น เท่านี้ ควรจะมีน้ำหนักเท่าใด

ในประเทศไทยในปัจจุบัน ตารางเทียบน้ำหนักตามความสูงของผู้ใหญ่ที่ใช้กันอยู่ ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นตารางน้ำหัก – ความสูงของคนฝรั่ง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันไปต่างๆ นานา และมีการทึกทักว่าคนเราอ้วนหรือผอมผิดปกติ โดยใช้มาตรฐานของฝรั่ง

ในการสำรวจผู้ใหญ่ไทยปกติ (จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย) ใน 8 จังหวัด ซึ่งกระจายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย พ.ศ. 2521-2523 โดยผู้ที่ได้รับการสำรวจเป็นคนกรุง (คนเมือง) ประมาณร้อยละ 15 และเป็นคนชนบทประมาณร้อยละ 85 ตามลักษณะการกระจายของประชากรในประเทศไทย เป็นกลุ่มประชากรที่เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นกลุ่มประชากรที่อ้างอิงได้ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ปรากฏว่า

ผู้ใหญ่ไทยทั้งชายและหญิง มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งขององค์การอนามัยโลกและ ของสมาคมประกันชีวิตของสหรัฐอเมริกาในความสูงเดียวกัน (ดูตารางที่ 1)

   

คนไทยส่วนใหญ่มีโครงร่างเล็กถึงปานกลาง แต่เมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักของคนไทยกับคนอเมริกันที่มีโครงร่างเล็ก น้ำหนักของคนไทยก็ยังต่ำกว่าของคนอเมริกันที่สูงเท่ากัน โดยเฉพาะในเพศชาย (ในชายไทย)

ความอ้วนผอมที่พอดี หรือน้ำหนักที่พอดี สำหรับผู้ใหญ่ไทยจึงควรใช้เกณฑ์มาตรฐานของคนไทยด้วยกัน มิฉะนั้น ก็จะทึกทึกเอาว่าอ้วนไป ผอมไปโดยผิดพลาดได้

สำหรับผู้ที่ต้องการความละเอียดเพิ่มขึ้น อาจใช้สมการเพื่อคำนวณหาน้ำหนักเฉลี่ยจากความสูงได้ดังใน (ตารางที่ 2)

         

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำหนักร่างกายของคนเรายังแปรเปลี่ยนไปในช่วงอายุต่างๆ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการจะรู้น้ำหนักร่างกายที่พอดีสำหรับช่องอายุต่าง ๆ ก็อาจหาได้จากตารางที่ 3

   

จากการสำรวจคนไทยปกติ ซึ่งทั้งหมดสามารถดำรงชีวิตอยู่และช่วยตนเองได้โดยไม่ต้องมีคนอื่นคอยช่วยเหลือ และแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ มีสิ่งที่น่าสังเกต (ดูตารางที่ 1 – 3 ) เช่น
1. ผู้ใหญ่ไทยทั้งชายและหญิง มีน้ำหนักร่างกายน้อยกว่าคนฝรั่งที่สูงเท่ากัน ดังนั้น ถ้าใช้เกณฑ์มาตรฐานของคนฝรั่ง (รวมทั้งขององค์การอนามัยโลก) คนไทยส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในพวก “ผอม” แต่คนไทยที่ได้รับการสำรวจประมาณร้อยละ 90 เป็นผู้ที่มีรูปร่างสันทัด สมส่วน ไม่อ้วนไม่ผอม ตามความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจ

ถ้าทำให้น้ำหนักร่างกายของคนไทยเท่ากับของคนฝรั่ง คนไทยคนนั้นจะอ้วนลงพุงให้เห็นอย่างชัดเจน เกณฑ์มาตรฐานของฝรั่งจึงนำมาใช้กับคนไทยไม่ได้

2. ชายไทย คงจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
(อ้วนขึ้น) ตามอายุ ในทุกช่วงความสูง จนถึงอายุ 64 ปี ส่วนหญิงไทยอาจจะอ้วนขึ้นโดยเฉพาะในช่วงอายุ 30-54 ปี (ช่วงการมีบุตร และหลังการมีบุตร) ในช่วงความสูง 145 เซนติเมตร ขึ้นไป

นี่เป็นค่าเฉลี่ยของคนไทยปกติส่วนคนไทยที่อ้วนๆ จนเป็นพะโล้ เมื่ออายุมากๆ ย่อมแสดงว่ากินมากเกินไปกว่าที่ร่างกายจะใช้ ได้หมด ทำให้ไขมันคั่งอยู่ในร่างกายมาก หรือถ้ากินเท่าเดิมก็จะอ้วนขึ้นตามอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น เรามักจะออกกำลังกายน้อยลง ทำให้เผาผลาญอาหารที่ได้เข้าไปเท่าเดิมไม่หมด

3. ชายไทยและหญิงไทยช่วงอายุ 65-88 ปี มีน้ำหนักใกล้เคียงกับชายไทย และหญิงไทยในช่วงอายุน้อย (14-24) ทำให้คิดไปได้ว่า คนไทยที่อายุยืน (มีอายุยืนถึง 65-88 ปี) คือคนไทยที่สามารถรักษาน้ำหนักของตนเองให้ใกล้เคียงกับระบบที่ตนเองยังวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว ส่วนคนไทยที่น้ำหนักมาก (อ้วน) หรือน้ำหนักน้อย (ผอม) จนเกินไป คงจะสิ้นอายุขัยไปก่อนอายุ 65 ปี

ที่ยกเรื่องความอ้วน-ผอมของคนไทยมากล่าวกันไว้ก็เผื่อว่า ผู้ที่อ้วนพีขึ้นจากงานเลี้ยงฉลองตอนเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง ต่อเนื่องมาถึงงานเลี้ยงวันปีใหม่ และตรุษจีน จะได้ลดน้ำหนักของตนเองลงบ้าง โดยการออกกำลังกายและกินให้น้อยลง เพื่อจะได้มีสุขภาพดีสมกับที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปีนี้เป็น “เป็นปีแห่งการสาธารณสุข”

ข้อมูลสื่อ

59-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 59
มีนาคม 2527
เรื่องน่ารู้
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์