• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไพลแก้เคล็ดขัดยอก

ใครจะรู้ได้ว่า ขณะที่คุณกำลังเดินอยู่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นในท้องไร่ท้องนา หรือท้องถนนในป่าคอนกรีต คุณอาจจะไปเดินสะดุดเอาก้อนหิน ก้อนดิน ทางเท้า หรือแม้กระทั่งเดินสะดุดเท้าตนเองล้มลง จนข้อเท้าพลิกเพลงก็ได้

ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไรอยู่ก็ตาม โอกาสที่จะเกิดอาการเคล็ดขัดขอกเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เมื่อมีอาการเหล่านี้ไม่ต้องตกใจ ถ้ารู้จักรักษาหายามานวด ถ้าคุณอยู่ในที่สะดวกสบายเสียเงินเสียทองมากหน่อย ซื้อยาครีมนวดซึ่งมีกันหลายยี่ห้อก็บรรเทาให้คุณได้ แต่ถ้าจะพูดถึงยา “สมุนไพร” ล่ะ เอาที่หาง่ายๆ ใช้ก็ไม่ยากจะใช้อะไรดี

ฉบับนี้โครงการฯ ขอนำประสบการณ์ผู้เคยใช้ ไพล แก้เคล็ดขัดยอก มาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังสัก 2 ท่าน เริ่มด้วย

คุณไชยวัฒน์ แซ่ลิ้ม
อายุ 16 ปี ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนกิติพาณิชยการ ได้รำลึกย้อนอดีตเมื่อ 3 ปีให้ฟังว่า

“ตอนนั้นอายุได้ 13 ปี ผมเดินยังไงไม่ทราบ เดินสะดุดเท้าจนเองล้มพับลงกะทันหัน ” รอยยิ้มเชิงอายๆ ด้วยความรู้สึกว่าสมัยเด็กๆ ซุ่มซ่ามชะมัดปรากฏให้เห็น แล้วก็เริ่มเปลี่ยนสีหน้าเป็นขรึมๆ ว่า
“พอลุกขึ้น เหยียดขาตรงๆ ก็รู้สึกเจ็บตรงต้นขาทันที มันเจ็บจนต้องเดินขาลากกะโผลกกะเผลกกลับบ้าน เย็นวันนั้นมีคนมาช่วยนวดขาให้ พอวันต่อมาก็มีคนแนะนำให้ลองประคบด้วยไพลตรงที่เคล็ด เห็นเขาใช้ไพลสด 2 ส่วน ใส่การบูร 1 ส่วน ห่อในผ้าทำลูกประคบแล้วอังกับไอน้ำร้อน เยาประคบให้ผมนานประมาณ 1 ชั่วโมง พอประคบเสร็จผมเดินได้ดีขึ้น ไม่ต้องลากเท้า แต่ถ้าจะยกขายังเจ็บอยู่ วันรุ่งขึ้นผมแระคบเองอีกครั้ง ก็หายเป็นปกติ”

ว่าแล้วไง ใช้สะดวกง่ายดี อาจจะเสียเวลาสัดนิด แต่เราก็ภูมิใจที่สามารถปัดเป่าทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยตนเองมิใช่หรือ ที่จริงยังสามารถทำเป็นน้ำมันไพล เก็บไว้ใช้ได้นานๆ แต่ ขออุบไว้ก่อน ตอนนี้มาฟังประสบการณ์ของ พระบัญญัติ อมุตตโร แห่งวัดป่า ธรรมดา หมู่บ้านคำมะอุ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ก่อนนะครับ

“มีครั้งหนึ่งได้รับนิมนต์ไปเทศน์ได้นำเครื่องฉายสไลด์ไปประกอบคำเทศน์ด้วย ระหว่างนั่งรถไปก็วางเครื่องฉายสไลด์บนตักใกล้ๆ หัวเข่า ทางที่ไปถนนขรุขระมาก รถกระเทือนตลอดเวลา เจ้าเครื่องนี่ก็กระแทกหัวเข่าไปตลอดเหมือนกัน ตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไรจนกลับมาถึงวัด หัวเข่าก็บวมแดงปวด จนเดินแทบไม่ได้ พอผ่านไป 2 วันอาการปวดยังไม่ทะเลา มานึกถึงไพลได้ ก็เลยหาไพลจากบริเวณวัดนี่แหละมาประคบ ประคบคืนนั้น รุ่งขึ้นอีกวันรู้สึกดีขึ้นมาก จึงประคบต่ออีก 2-3 วัน ก็หายปวด”

ดีทีเดียวครับที่ใช้บริเวณวัดปลูกสมุนไพร ได้ประโยชน์ทั้งพระในวัดและชาวบ้านในละแวกวัดนั้นๆ โครงการฯ ขอสนับสนุน และสิ่งที่จะสนับสนุน ไพล ในแง่วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกันคือ เมื่อ พ.ศ.2514 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทดลองเอาน้ำสกัดจากหัวไพลทาลงไปที่ประสาทของกบ มีผลทำให้ประสาทกบชา ซึ่งฤทธิ์ยาชา ของไพลนี้อ่อนกว่าฤทธิ์ ยาชาลิโดเคน (ยาระงับปวด) 1,500 เท่า นอกจากนี้ยังมีรายงานการทดลองวิทยาศาสตร์ในแง่อื่นๆอีก แต่ไม่ตรงกับกรณีแก้เคล็ดขัดยอก

เห็นไหมล่ะครับว่า ยาสมุนไพรเดี๋ยวนี้น่ะไม่ใช่ของล้าสมัยไม่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว หน่วยงานต่างๆ ก็สนใจกันยกใหญ่ ขนาดกระทรวงสาธารณสุขที่โครงการฯไปร่วมเป็นอนุกรรมการ ในโครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุข มูลฐาน ก็สนับสนุนกันเต็มที่ แล้วคุณผู้อ่านจะไม่เหลียวมามองสมุนไพรบ้างหรือ

อย่างการใช้ไพลแก้เคล็ดขัดยอกที่อุบไว้ตอนต้น สามารถทำได้ถึง 5 วิธี แล้วแต่สะดวก คือ
1. ง่ายที่สุดก็ ฝนทา ใช้หัวไพลฝนกับน้ำทา ถาหากมีเหล้าใช้ฝนกับเหล้าจะดีกว่าน้ำ ทันละ 2-3 ครั้ง
2. ยากขึ้นอีกนิด ชนิดตำแล้วพอก คือใช้หัวไพลมาตำพอกแล้วเอาผ้าพันไว้ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นเติมการบูรสัก 1 ใน 3 ของไพล เติมเกลืออีกเล็กน้อยหรือจะเติมอย่างใดอย่างหนึ่งที่พอจะหาได้
3. ต้มน้ำแช่ เอาไพลมาตำพอแหลกเช่นกัน ใส่เกลือให้เค็ม เติมน้ำแล้วต้มให้เดือด อย่าต้มนาน ทิ้งไว้ให้อุ่นพอทนได้ แล้วเอาส่วนที่เคล็ด เช่น เท้าหรือมือ แช่น้ำต้มไพลประมาณ 10-20 นาที วันละ 2 ครั้ง
4. ทำให้เก็บไว้ใช้นานๆ ก็หุงเป็นน้ำมัน โดยใช้หัวไพล 1 ส่วน น้ำมัน 4 ส่วน (จะใช้น้ำมันถั่วน้ำมันงาหรือน้ำมันอะไรก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องน้ำมันมะกอก) ตำหัวไพลให้แหลกผสมกับน้ำมัน หรือจะคั้นเอาแต่น้ำไพลผสมกับน้ำมันก็ได้ หุงบนไฟอ่อนๆ จนน้ำมันค่อยๆ เดือด และกลับใสมีสีเป็นสีไพลแล้วกรองเก็บน้ำมันไว้ทานวดหากจะเก็บไว้ใช้นานๆ เติมการบูรลงไปเล็กน้อย ทาถูที่เคล็ดวันละ 2-3 ครั้ง
5. ทำเป็นลูกประคบ อย่างที่ว่าไว้ในประสบการณ์ฯ คือใช้ไพลตำพอหยาบ (ถ้าตำละเอียดเกินไปจะกลายเป็นน้ำหมด) ผสมการบูร 1 ใน 3 ส่วนของไพล ถ้าไม่มีการบูรก็ใช้ไพลอย่างเดียว เอาผ้าห่อทำเป็นลูกประคบ แล้วไปอังไอน้ำร้อน โดยใช้กระป๋องหรือหมือใส่น้ำแล้วใช้ผ้าคลุมเอาเชือกมัดผ้ากับปากกระป๋องหรือหม้อไว้ ตั้งบนเตาให้เดือด วงลูกประคบไว้บนผ้าให้ร้อนทั่ว พอร้อนดีก็เอามาประคบที่ปวดแต่ต้องอย่าให้ร้อนเกินไปผิวหนังจะไหม้ได้ ประคบครั้งหนึ่งนานสัก 20 นาที

ต่อแต่นี้ก็เป็นเรื่องที่คุณๆ จะเลือกใช้วิธีไหนกันตามสะดวกนะครับ แต่แถมท้าย
ไว้ว่า นอกจากประคบบริเวณที่เคล็ดแพลงแล้ว ควรกดบริเวณอื่นๆ รอบดู (แต่อย่ากดแรง) ดูว่ากดแล้วเจ็บไหม ถ้าเจ็บแสดงว่าเส้นเอ็นตรงนั้นผิดปกติ ให้ประคบด้วยจะดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ
ชื่ออื่นๆ ว่านไฟ (ภาคกลาง), ปูลอย, ปูเลย (ภาคเหนือ) มิ้นสะล่าง (แม่ฮ่องสอน) ว่านหัวไฟ (อีสาน)

ข้อควรระวัง

ถ้าเกิดอาการเคล็ดหรือแพลง แต่ไม่มีความรู้เรื่องเส้นเอ็น อย่าไปขยับดัดหรือดึงเป็นอันขาด ปล่อยไว้เฉยๆ และประคบเบาๆ ด้วยไพล ไพลจะช่วยให้เส้นหย่อนและคืนตัว ถ้าประคบ 1-2 ครั้ง แล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจแสดงว่าเยื่อกระดูกผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

 

ข้อมูลสื่อ

57-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 57
มกราคม 2527
ภก.สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล