• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 H1N1

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009


การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากทวีปอเมริกาเหนือ เป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตื่นตระหนกกันไปทั่วโลกตั้งแต่กลางเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ด้วยชื่อต่างๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก หรือไข้หวัดหมู จนกระทั่งปัจจุบันเรียกชื่อกันย่อๆ ว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”

จะเห็นว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมในหลายๆ ประเทศทั่วโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ตัวเชื้อไวรัสชนิดนี้มีอัตราการกลายพันธุ์และวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน หรือดื้อต่อยาที่ใช้รักษาได้ เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดใหญ่ในช่วง 2  เดือนที่ผ่านมา

สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่มีชื่อเรียกว่า Influenza virus จัดอยู่ใน Orthomyxoviridae family ซึ่งเป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม (envelop) มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ (RNA) สายเดี่ยวที่มีลักษณะเป็นท่อนๆ ปัจจุบันสามารถแบ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี และ ซี เป็นต้น

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซี จะมีความแตกต่างจากชนิดเอ และบี ค่อนข้างมาก ในแง่ของการมีสารพันธุกรรมจำนวน 7 ท่อน ขณะที่ชนิดเอ และบี มีสารพันธุกรรมจำนวนทั้งสิ้น 8 ท่อน นอกจากนี้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซี จะมีไกลโคโปรตีนที่เปลือกผิวชั้นนอกเพียงชนิดเดียวคือ hemagglutinin-esterase-fusion glycoprotein (HEF) แต่สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ และบี จะมีไกลโคโปรตีนสำคัญที่เปลือกผิวชั้นนอก 2 ชนิดคือ haemagglutinin (HA) และ neuraminidase (NA)
สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ และบี จะมีความแตกต่างกันในส่วนของโปรตีนที่จับกับสารพันธุกรรม (nucleoprotein) และโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น ion channel โดยจะพบโปรตีน M2 ในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ และโปรตีน NB ในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี เป็นต้น

ในปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อและระบาดอย่างต่อเนื่องในมนุษย์และสัตว์ชนิดต่างๆ นั้นจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A virus)

การจัดจำแนกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ
การแยกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาศัยหลักการทางด้านวิทยาเซรุ่ม (serology) ในการระบุความแตกต่างของไกลโคโปรตีน ที่เปลือกผิวชั้นนอกของไวรัส ได้แก่ haemagglutinin (HA) และ neuraminidase (NA) ในปัจจุบันสามารถแบ่ง haemagglutinin ได้ 16 ชนิด และ neuraminidase ได้ 9 ชนิด ดังนั้น การระบุสายพันธุ์ของไวรัสจึงต้องระบุทั้งชนิดของ haemagglutinin และ neuraminidase ประกอบกัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าเชื้อไวรัสมี haemagglutinin ชนิดที่ 1 และ neuraminidase ชนิดที่ 1 ก็จะเรียกได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H1N1 เป็นต้น ซึ่งความหลากหลายของสายพันธุ์ที่แตกต่างกันของเชื้อไวรัส ก็จะมีความจำเพาะของการติดเชื้อในสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น สามารถพบการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H1 ได้ในสัตว์ปีก สุกร และมนุษย์ ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5 จะพบได้ในสัตว์ปีก สุนัข แมว เสือ และมนุษย์ เป็นต้น (ดูภาพที่ 1)

 
ภาพที่ 1 ความหลากหลายของ HA และ NA ในการจัดจำแนกสายพันธุ์ ซึ่งมีผลต่อความจำเพาะในการติดเชื้อ

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีความจำเพาะในการติดเชื้อในสิ่งมีชนิดต่างๆ แตกต่างกันออกไป (ภาพที่ 2) โดยทั่วไปแล้วเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอทุกสายพันธุ์ (H1-H16 และ N1-N9) สามารถพบได้ในสัตว์ปีกจำพวกนกน้ำ ซึ่งบางสายพันธุ์อาจก่อโรครุนแรงทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อนั้นมีอาการป่วยอย่างรุนแรง (high pathogenic) ถึงขั้นเสียชีวิต ดังตัวอย่างที่พบในกรณีของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (avian Influenza A virus) สายพันธุ์ H5N1 ที่ระบาดในอดีตที่ผ่านมา (ไข้หวัดนก พ.ศ.2547) ส่วนบางสายพันธุ์อาจก่อโรคไม่รุนแรง (low pathogenic) ทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้บางสายพันธุ์ก็ไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ทั้งสิ้น (asymptomatic) เพียงแต่อาศัยสัตว์ปีกเป็นพาหะ (reservoir host) ในการแฝงตัวและแพร่กระจายเชื้อไวรัสเท่านั้น สำหรับในมนุษย์พบว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ H1N1, H2N2, H3N2, H5N1, H7N7 และ H9N2 เป็นต้น
 

 

ภาพที่ ๒ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ

โดยทั่วไปแล้วไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ระบาดในมนุษย์เป็นประจำทุกปี (seasonal human influenza A virus) นั้นจะเป็น H1N1 และ H3N2 เท่านั้น สำหรับสายพันธุ์ H5N1, H7N7 และ H9N2 นั้นพบว่าเป็นการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ปีกมาสู่คน แต่โอกาสการติดเชื้อนั้นค่อนข้างยาก จะต้องมีการสัมผัสกับเชื้อไวรัสอย่างใกล้ชิด (close contact) พร้อมทั้งได้รับปริมาณไวรัสมากด้วย จึงจะติดเชื้อได้ และเมื่อติดแล้วโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อจากคนไปสู่คนก็จะน้อยด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสที่มาจากสัตว์ปีกจะมี HA ที่จับกับ sialic receptor บนผิวเซลล์ของมนุษย์ได้ไม่ดีนัก

สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร (swine influenza A virus) ซึ่งในที่นี้หมายถึงเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูที่มีการระบาดโดยทั่วไปในสุกรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยสายพันธุ์ต่างๆ ดังนี้ H1N1, H1N2, H3N2 และ H4N6 เป็นต้น ซึ่งส่วนมากไวรัสสายพันธุ์เหล่านี้จะก่อโรคชนิดไม่รุนแรง ทำให้สุกรมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการใดๆ เลย แต่สุกรก็จะเป็นพาหะในการนำเชื้อไวรัสมาสู่มนุษย์ได้ เนื่องจากสายพันธุ์ H1N1 และ H3N2 ก็สามารถติดเชื้อในมนุษย์ได้เช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ H1N1 ที่พบในมนุษย์และสุกร หรือสายพันธุ์ H3N2 ที่พบในมนุษย์และสุกรนั้นก็จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นมิใช่ว่าเชื้อไวรัสทุกสายพันธุ์ในสกุรจะสามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้ นอกจากนี้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่นในม้า ก็จะเรียกว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ม้า (equine influenza A virus) ส่วนเชื้อไวรัสที่พบในสุนัขก็จะเรียกว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุนัข (canine influenza A virus) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในม้าและสุนัข ยังไม่สามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้

ทำไมเรียกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโกว่า “ไข้หวัดหมู”

จากการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2552 พบว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งมีความแตกต่างจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เคยติดเชื้อในมนุษย์ การศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีสารพันธุกรรมที่มีความใกล้เคียงทางวิวัฒนาการกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร สายพันธุ์ H1N1 (swine influenza A virus) ทำให้ช่วงแรกของการระบาดมีการเรียกชื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ไวรัสไข้หวัดหมู”

ต่อมาจากการวิเคราะห์ส่วนของยีนต่างๆ ทั้ง 8 ยีน คาดว่าเป็นเชื้อไวรัสลูกผสมที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอที่พบในมนุษย์ (ยีน PB1), สัตว์ปีก (ยีน PB2 และ PA) และ สุกร (ยีน HA, NP, NA, M และ NS) จึงทำให้ไวรัสสารพันธุ์ใหม่นี้มีสารพันธุกรรมแบบผสมผสานที่มีลักษณะแตกต่างออกไป ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน นอกจากนี้ได้มีคณะผู้วิจัยรายงานผลจากการเปรียบเทียบวิเคราะห์เชิงวิวัฒนาการ (phylogenetic analysis) พบว่าสารพันธุกรรมในยีนต่างๆ ของเชื้อไวรัสใหม่นี้ ล้วนแล้วแต่มีความใกล้ชิดคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันแน่ชัดว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นมาจากสุกรหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานการพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวกันนี้ในสุกร นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ทางวิวัฒนาการนั้นอาศัยข้อมูลมาจากฐานข้อมูลพันธุกรรมเท่านั้น ทำให้ผลการเปรียบเทียบไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังขาดข้อมูลสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในหลายๆ ประเทศที่มิได้รายงานข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่มีการระบาดในอดีตไว้ในฐานข้อมูล

จากไวรัสไข้หวัดหมูสู่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ (H1N1)
จากการเรียกชื่อไข้หวัดหมูในช่วงต้นของการระบาดทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าหมูเป็นพาหะนำโรคจึงปฏิเสธการบริโภคเนื้อหมู และบางประเทศก็มีนโยบายยกเลิกการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ หรือมีการฆ่าตัดตอนหมูในประเทศของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาด

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าหมูเป็นพาหะนำโรคจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากไข้หวัดหมู เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศเม็กซิโกเป็นอย่างมาก ต่อมาจึงได้มีการประกาศเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” และเรียกย่อๆ ว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อมิให้คนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด

อุบัติการณ์และระบาดวิทยาของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก
เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2552 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศสถานการณ์การระบาดฉุกเฉิน เป็นระดับที่ 5 (จาก 6 ระดับ) ซึ่งหมายความว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้มีความสามารถในการติดเชื้อแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้อย่างน้อย 2 ประเทศในอาณาเขตภูมิภาคเดียวกัน จากสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศเม็กซิโก พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อมีค่าประมาณร้อยละ 2-3

นอกจากประเทศเม็กซิโกแล้ว ยังมีผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ อีก 33 ประเทศ ผู้ป่วย 6,071 คน และเสียชีวิต 61 คน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ถึง 13 พฤษภาคม พ.ศ.2552)

วัคซีนป้องกันและยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลส่วนมากจะเป็นสายพันธุ์  H1N1 และ H3N2 ซึ่งมีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันทุกปี และต้องมีการฉีดวัคซีนประจำปีที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่จะมีการระบาดก็จะสามารถป้องกันโรคได้   

จากการเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนสายพันธุ์ H1N1 (A/Brisbane/59/2007-like virus) ที่ใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของมนุษย์ในปัจจุบัน และสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศเม็กซิโกพบว่ามีความคล้ายคลึงกันน้อยกว่าร้อยละ 80 บ่งชี้ให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์พบว่าไวรัสดังกล่าวยังคงตอบสนองต่อยาต้านไวรัสได้แก่  oseltamivir (ชื่อการค้าว่า Tamiflu) และ zanamivir แต่สามารถดื้อต่อยา amantadine ได้ ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีการติดเชื้อภายใน 48 ชั่วโมง สามารถให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส oseltamivir ได้

แนวทางการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
หนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปคือการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี  โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเช่น เด็ก ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีผู้เสี่ยงติดเชื้ออยู่ นอกจากนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทางฝอยละอองเสมหะที่มีไวรัส (virus-laden droplets) ที่อยู่ในสารคัดหลั่ง (เช่น น้ำมูก และเสมหะ) เมื่อผู้ติดเชื้อไอ หรือจามฝอยละอองเสมหะดังกล่าวจะสามารถเกาะอยู่บนเซลล์เยื่อบุผิวที่ทางเดินหายใจส่วนต้นของผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อได้ ดังนั้น การป้องกันเชื้อไวรัสในเบื้องต้นทั่วไปได้แก่ การรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ โดยมีแนวทางการป้องกันดังนี้
•    ป้องปากและจมูกทุกครั้งที่เกิดอาการไอหรือจาม
•    ล้างมือด้วยสบู่บ่อยครั้งตลอดวัน โดยเฉพาะภายหลังการไอ หรือจาม
•    หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูก หรือปาก เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่กระจายเข้าไปในร่างกายผ่านทางอวัยวะเหล่านี้ได้
•    พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่สาธารณะที่มีคนอยู่หนาแน่น และไม่อยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย (โดยทั่วไประยะที่แนะนำคือห่างไม่น้อยกว่า 3 ฟุต)
•    เมื่อมีอาการป่วย ควรหลีกเลี่ยงสถานที่สาธารณะและควรหยุดงานเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น

                                           -----------------------------------------

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ พ.ศ.2461-2552
ทั่วโลกมีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายครั้ง ได้แก่
.    การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปน เป็นไวรัสชนิด H1N1 ที่เคยมีการระบาดหนักในปี พ.ศ.2461โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งต่างจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่ผู้ป่วยและผู้ที่เสียชีวิตเป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน การระบาดครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนถึง 20-40 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2
.    ต่อมาปี พ.ศ.2500 ได้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ขึ้นอีกครั้ง เรียกกันโดยทั่วไปว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian flu) เป็นไวรัสชนิด H2N2 ซึ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดการระบาดครั้งนี้ คาดว่าเป็นไวรัสที่เกิดการกลายพันธุ์ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก
.    ช่วงปี พ.ศ.2511 ได้เกิดการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่เรียกว่าไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong flu) เป็นชนิด H3N2
.    การกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งของไวรัส H1N1 ในปี พ.ศ.2520 เรียกว่าไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian flu)
.    การระบาดของไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1  เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรมการส่งออกสัตว์ปีก และไข่ไก่ นับเป็นมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่เกิดการระบาดครั้งที่ผ่านมา ไม่มีรายงานว่ามีการติดต่อของเชื้อไวรัสจากคนสู่คน
.    ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ.2552 ที่ผ่านนี้ ได้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่ประเทศเม็กซิโก ทวีปอเมริกาเหนือ สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อประชากร และเศรษฐกิจโลกอย่างนับมูลค่ามิได้

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กับการระบาดใหญ่

หลายคนคงเคยได้ยินการปรับระดับการระบาดขององค์การอนามัยโลก ว่ามีระดับการระบาดและการเตือนภัยทั้งสิ้น 6 ระดับ เพื่อวางมาตรการในการเฝ้าระวังดูแลและป้องกัน โดยแบ่งเป็น
ระดับที่ 1 พบเชื้อโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น เช่น การพบในสัตว์
ระดับที่ 2 เชื้อดังกล่าวมีโอกาสเข้ามาติดสู่มนุษย์แล้ว
ระดับที่ 3 เชื้อดังกล่าวได้เข้ามาก่อโรคในมนุษย์แล้ว แต่ยังไม่สามารถกระจายข้ามจากคนสู่คน
ระดับที่ 4 เชื้อดังกล่าวได้มีการกระจายติดต่อระหว่างคนสู่คน แต่การระบาดยังอยู่ในวงจำกัด เช่น เป็นประเทศเดียวหรือหย่อมเดียว
ระดับที่ 5 การระบาดได้กระจายมากกว่า ๑ หย่อมหรือข้ามประเทศ
ระดับที่ 6 การระบาดได้กระจายไปทั่วโลกหรือข้ามทวีปแล้ว (pandemic)

เมื่อครบ 6 ระดับแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงหลังการระบาดใหญ่ โรคก็จะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรักษาหายหรือบางรายเสียชีวิต ผู้ป่วยที่รักษาหายก็จะคงอยู่แบบมีภูมิต้านทาน และโรคนี้ก็จะมีวิวัฒนาการให้คงอยู่โดยที่จะปรับตัวให้เข้ากับ host เช่น โรคประจำฤดูกาล (ไข้หวัดใหญ่ H1N1 H3N2 ตามฤดูกาล)

การป้องกันส่วนบุคคลและป้องกันการระบาดของโรค
ในความเป็นจริงแล้ว หนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปคือการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี  โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ เช่น เด็ก ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีผู้เสี่ยงติดเชื้ออยู่

อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันตัวเองและป้องกันสังคมไม่ให้เกิดการระบาดของโรค แนวทางการปฏิบัติมีดังนี้
.    ดูแลอนามัยส่วนบุคคล ปฏิบัติตนให้สุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสม่ำเสมอ
.    หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังการไอ และจาม ถ้าไม่มีน้ำสามารถใช้แอลกอฮอล์แทนได้
.    เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า ทิชชู ปิดปากและจมูก เพราะการไอหรือจามจะเป็นการแพร่กระจายไปไกลถึง 5 เมตร ในกรณีการจาม ถ้าไม่มีผ้าเช็ดหน้า อาจจามใส่แขนเสื้อบังไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่สังคม
.    หลีกเลี่ยงการสัมผัส ตา จมูก ปาก หลังจากสัมผัสกับผู้ต้องสงสัยว่าป่วย
.    กรณีป่วยหรือไม่สบาย ควรพักอยู่ที่บ้าน ไม่ควรออกไปพบกับผู้คนจำนวนมาก เช่น ที่ทำงาน แหล่งชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล
.    ถ้ามีอาการมากจะต้องรีบไปพบแพทย์และให้ข้อมูลกับแพทย์โดยละเอียด โดยเฉพาะการสัมผัสกับผู้ต้องสงสัยว่าป่วย
.    การใช้หน้ากากอนามัย ถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติโดยเฉพาะเมื่อป่วยหรือช่วงที่มีการระบาดของโรค

 

ข้อมูลสื่อ

362-007-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 362
มิถุนายน 2552