“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”
อวัยวะเพศ เป็นอวัยวะที่คนทั่วไปถือว่าเป็นของ ลับ ยิ่งกว่าทวารหนัก จึงยิ่งต้องบอกผู้ป่วย และผู้ป่วยที่ยินยอมให้ตรวจแล้วจึงจะตรวจได้
เช่นเดียวกับการตรวจทวารหนักซึ่งได้กล่าวถึงในฉบับก่อน การตรวจอวัยวะเพศให้ถี่ถ้วนควรจะให้ถอดกางเกงและกางเกงในออก แล้วให้สวมผ้าถุงแทน หรือถ้าไม่มีผ้าถุง จะใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าปูที่นอนพันรอบตัวไว้ก่อนก็ได้
ในผู้หญิงที่สวมผ้าถุงหรือกระโปรงอยู่แล้ว ก็เพียงแต่ถอดกางเกงในออก
ในผู้ชาย การตรวจอวัยวะเพศและทวารหนัก อาจจะทำได้โดยเพียงแต่ร่นกางเกงและกางเกงในลงมาส่วนล่างของต้นขา ไม่จำเป็นต้องถอดออกหมดก็ได้
การฝึกตรวจอวัยวะเพศ เช่น เดียวกับการฝึกตรวจร่างกายอื่นๆ ที่จะต้องฝึกตรวจตนเองก่อน เพื่อให้ทราบรูปร่าง ลักษณะ และรายละเอียดของอวัยวะเพศส่วนนั้นก่อนจะไปตรวจผู้อื่นสำหรับอวัยวะเพศของเพศตรงข้าม อาจฝึกตรวจจากคู่ครองของตน หรือจากตำราอื่นๆ
การตรวจอวัยวะเพศ
ความผิดปกติของอวัยวะเพศชายมักจะร่วมด้วยอาการเจ็บปวด หรือแผลที่อวัยวะเพศ หรืออาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะเป็นหนอง หรือลึงค์แข็งตัวตลอดเวลา มีน้อยครั้งที่ความผิดปกติของอวัยวะเพศชายจะไม่มีอาการไรเลย ซึ่งประเภทหลังนี้ มักจะเกิดจาก การฝ่อตัวของลูกอัณฑะ (testicular atrophy) หรือจากการที่ ลูกอัณฑะได้เคลื่อนตัวลงสู่ถุงอัณฑะ (cryptor chism) ลูกอัณฑะจึงยังคงอยู่ในช่องท้อง ทำให้ถุงอัณฑะมีลูกอัณฑะเพียงลูกเดียว (ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทองแดง”) เพราะอีกลูกหนึ่งยังอยู่ในท้อง ถ้าถุงอัณฑะไม่มีลูกอัณฑะเลยสักลูกเดียว และคลำไม่พบในบริเวณขาหนีบ ต้องนึกถึง ภาวะกระเทย หรือ ภาวะอวัยวะเพศผิดปกติแต่กำเนิด อื่นๆ ด้วย
อวัยวะเพศของชายที่ตรวจได้จากภายนอก (ดูรูปที่ 1) มี
1. ลูกอัณฑะและถุงอัณฑะ (testis and scrotum)
ถุงอัณฑะ เป็นถุงหนังย่นๆ สีคล้ำกว่าผิวหนังส่วนอื่น มีรูเปิดของต่อมไขมันใหญ่กว่าผิวหนังส่วนอื่น และอาจจะมีจุดขาวๆ ของต่อมไขมันใต้หนังให้เห็นได้
ส่วน ลูกอัณฑะ จะคลำได้คล้ายเม็ดขนุนอยู่ในถุงอัณฑะ ผิวเรียบ เนื้อแน่นและไวต่อความเจ็บปวดจากการคลำหรือบีบ เคลื่อนไหวไปมาในถุงอัณฑะได้ ที่ขบด้านหนึ่งของเม็ดขนุน (ลูกอัณฑะ) จะคลำได้เส้นค่อนข้างแข็งขรุขระ แผ่จากปลายข้างหนึ่งไปยังปลายอีกข้างหนึ่ง เป็น เส้นอัณฑะ (epididymis) และจากปลายบนของลูกอัณฑะ (ซึ่งจะใหญ่กว่าปลายล่างเล็กน้อย) เส้นอัณฑะนี้จะเปลี่ยนเป็นหลอดนิ่มๆ ขนาดดินสอ วิ่งจากปลายบนของลูกอัณฑะไปที่วงขาหนีบนอก เรียกว่า ท่ออัณฑะ (spermatic cord) ภายในท่ออัณฑะจะคลำได้หลายเล็กๆ ขนาด 1-2 มิลลิเมตร (เส้นผ่าศูนย์กลาง) ค่อนข้างเล็กและเรียบ เป็น หลอดอสุจิ (vas deferens)
การตรวจลูกอัณฑะและถุงอัณฑะให้ตรวจดูความผิดปกติ เช่น
1.1 การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะมักเกิดการคันหรืออักเสบได้ง่าย เพราะอยู่ในบริเวณที่อับและหมักหมมด้วยเหงื่อไคล โดยเฉพาะถ้ากางเกงหรือกางเกงในที่ระบายอากาศได้น้อย ทำให้เกิดผื่นแดงคัน ยิ่งเกายิ่งมัน และยิ่งทำให้อักเสบ แดง และถลอกเป็นแผลจากการเกา เกิดน้ำเหลืองไหลเยิ้ม หรือเลือดออกได้
ถ้าอับเหงื่อและหมักหมมอยู่นานๆ อาจจะเกิดเชื้อราขึ้น ที่เรียกว่า ขี้กลาก หรือ สังคัง (สังคัง หมายความถึงขี้กลากบริเวณถุงอัณฑะ) ทำให้คันมากขึ้น
การป้องกัน
ทำได้โดยระวังให้บริเวณนั้น (บริเวณใต้ร่มผ้า) ไม่อับชื้น โดยการใส่กางเกงใน หรือใส่กางเกงที่ระบายอากาศได้ดี (กางเกงในที่ทำจากผ้าฝ้ายจะซึมซับเหงื่อได้ดีกว่า และไม่อบอ้าวเท่ากางเกงในที่ทำจากไนลอน หรือใยสังเคราะห์) หมั่นล้างบริเวณนั้นให้สะอาด ซับและพัดให้แห้งก่อนใส่กางเกงใน อาจใช้แป้งโรยเพื่อช่วยให้บริเวณนั้นแห้งดีก็ได้
การรักษา
นอกจากจะทำตามวิธีป้องกันที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องรักษาดังนี้
- ถ้าเป็นแผลมีน้ำเหลือไหลเยิ้ม ให้ใช้เศษผ้าสะอาดๆ (ควรจะเป็นผ้าดิบหรือผ้าฝ้ายสีขาว ซักฟอกให้สะอาด อาจจะต้มให้เดือดแล้วตากแดดให้แห้ง) ชุบน้ำเกลือ (เอาเกลือใส่ในน้ำพอเค็มปะแล่มๆ ต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้เย็น) หรือน้ำด่างทับทิม โดยเอาเกล็ดด่างทับทิมใส่ในน้ำสะอาด จนเป็นสีม่วงสวยงาม (ไม่ม่วงแก่หรือม่วงอ่อนเกินไป) เอาเศษผ้าที่ชุบน้ำเหลือหรือน้ำด่างทับทุมโปะลงไปในบริเวณแผล หรือบริเวณที่มีน้ำเหลือไหลเยิ้ม ทิ้งไว้ 10-20 นาที หรือพอเศษผ้านั้นเริ่มแห้ง (ไม่ใช่แห้งกรัง) ก็ให้ดึงออก และเปลี่ยนเอาเศษผ้าชิ้นใหม่ชุบน้ำเกลือหรือน้ำด่างทับทิมโปะลงไปใหม่ ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนแผลหรือผิวหนังที่อักเสบจนมีน้ำเหลือไหลเยิ้มนั้นแห้ง (ไม่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม) แล้วจึงทำการรักษาขั้นต่อไป
- ถ้าไม่เป็นแผลหรือไม่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม แต่ผิวหนังอักเสบ และคัน ให้ใช้ขี้ผึ้งหรือครีมเพร็ดนิโซโลน ขององค์การเภสัชกรรม ทาบางๆ เบาๆ (ห้ามถู ขูด แกะ เกา หรือพยายามจะบดขยี้ยาให้ซึมเข้าไปใต้ผิวหนัง มิฉะนั้นจะหายช้าหรือกลับเป็นมากขึ้น) วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าอาการดีขึ้นใน 1-2 วัน และหายใน 1 สัปดาห์ แสดงว่าผิวหนังที่อักเสบคันนั้น เกิดจากความสกปรกหมักหมม หรืออับเหงื่อ ถ้าผื่นแดงและคันนั้นกำเริบหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ มักเป็น สังคัง (ขี้กลากที่ถุงอัณฑะ) ให้ใช้ขี้ผึ้งแก้กลากเกลื้อนขององค์กรเภสัชกรรมทาบางๆ เบาๆ วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าผื่นคันนั้นจะหายไปหมด (อาจต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์) ถ้ายังไม่หาย ควรจะไปหาหมอ
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้บริเวณนั้น แห้ง และไม่มีอาการอับหรือหมักหมมเหงื่อเป็นอันขาด
การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณลูกอัณฑะ นอกจากที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ก็ยังอาจเกิดโรคผิวหนังแบบอื่นๆ ได้เช่นเดียวกับผิวหนังใส่วนอื่นของร่างกาย รวมทั้ง มะเร็งของถุงอัณฑะ ด้วย
1.2 การบวม (swelling หรือ edema) การบวมของถุงอัณฑะ อาจจะเกิดจากการอักเสบของผิวหนัง หรือของลูกอัณฑะ จากการบวมทั่วร่างกายอันเนื่องมาจาก ภาวะหัวใจล้ม, ภาวะไตล้ม, ภาวะตับล้ม, ภาวะทุโภชนาการ หรืออื่นๆ หรืออาจเกิดจากการอุดกั้นหลอดเลือดดำหรือหลอดน้ำเหลือง ที่ไหลผ่านถุงอัณฑะทำให้ถุงอัณฑะบวมมากๆ ได้ เช่นใน โรคเท้าช้าง ที่เกิดเฉพาะบริเวณถุงอัณฑะ หรือเกิดร่วมกับที่บริเวณของขาและเท้าได้
ถ้าลึงค์และถุงอัณฑะบวมไม่เท่ากัน อาจทำให้รูปร่างของอวัยวะเพศแปลกไป เช่น ถ้าถุงอัณฑะบวมมากๆ โดยที่ลึงค์ไม่บวม ถุงอัณฑะอาจจะบวมจะบดบังลึงค์ได้
1.3 ถุงน้ำ (hydrocele) ถุงน้ำอาจจะเกิดขึ้นในถุงอัณฑะโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ถุงอัณฑะใหญ่ขึ้น มักจะเป็นข้างเดียว แต่บางครั้งก็เป็นทั้งสองข้าง เวลาคลำจะรู้สึกเป็นถุงน้ำเรียบๆ ค่อนข้างตึง มีรูปร่างคล้ายผลฝรั่งอยู่ข้างๆ ลูกอัณฑะ
ถ้าคนไข้อยู่ในห้องมืด แล้วใช้ไฟฉายส่องด้านหนึ่งของถุงอัณฑะจะเห็นแสงไฟส่องทะลุน้ำออกมาสู่อีกด้านหนึ่งของถุงอัณฑะเป็นสีชมพูและข้าง ๆ หรือภายในถุงอัณฑะสีชมพูนั้น จะเห็นเงาดำของลูกอัณฑะ
ถุงน้ำนี้อาจจะเป็นมาแต่กำเนิดซึ่งมักจะทำให้ถุงน้ำนี้มีท่อติดต่อกับช่องท้อง ทำให้ถุงนี้น้ำใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงได้
ถุงน้ำนี้มักจะ ไม่ทำให้เกิดอาการ อะไร นอกจากอาจจะรู้สึก ถ่วงๆ ในบริเวณถุงอัณฑะ หรือในกรณีที่ถุงน้ำอักเสบ หรือในกรณีที่ถุงน้ำนี้เกิดขึ้นจากการถูกกระทบกระแทก หรือจากการอักเสบของลูกอัณฑะหรือเส้นอัณฑะก็จะมีอาการเจ็บปวดในบริเวณถุงน้ำได้
1.4 ถุงอสุจิ (spermatocele) มีลักษณะคล้ายถุงน้ำในข้อ 1.3 แต่มักจะไม่ใหญ่เท่าถุงน้ำ อาจจะมีลักษณะเป็นถุงน้ำเล็กๆ หลายถุง และไม่อยู่กลางหรือทั่วถุงอัณฑะ เพราะเป็นถุงที่โป่งพองออกมาจาก เส้นอัณฑะ ในบริเวณปลายบนของลูกอัณฑะ ดังนั้นถ้าคลำให้ดี จะพบว่าถุงอสุจินี้ติดต่ออยู่ปลายบนของลูกอัณฑะ
1.5 ถุงเลือด (hematocele) มีลักษณะคล้ายถุงน้ำในข้อ 1.3 แต่แข็งและเจ็บกว่ามาก เพราะมักเกิดจากถุงอัณฑะถูกกระทบกระแทก ทำให้มีเลือดออกกระทบกระแทก ทำให้มีเลือดออกอยู่ภายในถุงอัณฑะ ถ้าให้คนไข้อยู่ในห้องมืดแล้วใช้ไฟฉายส่อง แสงไฟฉายจะไม่ทะลุออกมาสู่ผิวหนัง ลูกอัณฑะอีกด้านหนึ่ง ผิดกับถุงน้ำในข้อ 3
เนื่องจากถุงเลือดนี้แข็งมาก จนบางครั้งจะเข้าใจว่าเป็น เนื้องอก หรือมะเร็งของลูกอัณฑะ ได้
1.6 เส้นเลือดขอด (varicocele) เส้นเลือดดำในถุงอัณฑะอาจจะโป่งพองและขดกันเป็นก้อนจนมีลักษณะคล้ายถุงเลือดในข้อ 1.5 แต่เวลาคลำจะพบว่ามันขรุขระเป็นเส้นเลือดที่ขดกันอยู่
1.7 ไส้เลื่อนในถุงอัณฑะ (scrotal hernia) คือลำไส้หรือไขมันในช่องท้องไหลลงมาตาม ท่อขาหนีบ (inguinal canal) ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ ดูเผินๆ อาจจะมีลักษณะคล้ายถุงน้ำในข้อ 1.3 ถ้าเป็น ไส้เลื่อน เวลาเคาะจะเป็นเสียง โปร่ง แต่ถ้าเป็น ไขมัน จะ เคาะทึบ ไม่โปร่งแสง ค่อยๆ บีบเลื่อนให้ก้อนในถุงอัณฑะเลื่อนหายเข้าไปในช่องท้องได้ ยกเว้นในกรณีที่ ไส้เลื่อนค้าง และเวลาคนไข้ไอหรือจาม ไส้เลื่อนมักจะโป่งพองมากขึ้น เวลายืน ไส้เลื่อนมักจะพองใหญ่ แต่เวลานอนไส้เลื่อนมักจะหดเล็กลงหรือหายไป
1.8 เส้นอัณฑะอักเสบ (epiddymitis) ซึ่งอาจแบ่งเป็น
ก. เส้นอัณฑะอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากกามโรค โดยเฉพาะพวกที่ทำให้ปัสสาวะเป็นหนอง เช่น หนองใน หรือจากการใส่เครื่องมือไปในท่อปัสสาวะ หรือการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือท่อปัสสาวะ
เส้นอัณฑะจะบวมและเจ็บมากจนอาจลุกลามทำให้ถุงอัณฑะบวม แดงและเจ็บด้วย การอักเสบอาจทำให้เกิดถุงน้ำในถุงอัณฑะ อาจจะทำให้เกิดอาการไข้สูงและหนาวสั่นด้วย อาจมีอาการปวดและกดเจ็บในบริเวณขาหนีบ เพราะการอักเสบอาจจะลุกลามไปตามหลอดอสุจิ ซึ่งอยู่ใน ท่ออัณฑะ ทำให้คลำท่ออัณฑะในบริเวณขาหนีบได้โตและเจ็บ
ข. เส้นอัณฑะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของตามลูกหมาก และ ถุงพักอสุจิ ซึ่งมักเกิดจากกามโรค วัณโรคหรืออื่นๆ ทำให้เส้นอัณฑะบวม ขรุขระ เป็นปุ่มเป็นปม และกดเจ็บ ในกรณีที่เกิดจากเชื้อวัณโรค เส้นอัณฑะ อาจจะยึดติดแน่นกับถุงอัณฑะและทำให้เกิดแผลเรื้อรัง ซึ่งปล่อยหนองหรือเนื้อเน่าๆ ออกมาเป็นครั้งคราว
ค. เส้นอัณฑะอักเสบจากเลือดคั่ง มักมีอาการปวดตื้อๆ ในถุงอัณฑะจากการคั่งของเลือดหรืออสุจิ ซึ่งมึกเกิดจากการกำหนัด หรือการปลุกกำหนัด (ความต้องการทางเพศ) ซ้ำๆ ซากๆ หรือยืดเยื้อโดยไม่ได้สำเร็จความใคร่ (ไม่ได้หลั่งน้ำอสุจิ) ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือตื้อๆ ในบริเวณถุงอัณฑะเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน อาการนี้จะหายไปเองเมื่อสำเร็จความใคร่แล้ว หรือเมื่อผ่อนคลายความกำหนัดแล้ว
1.9 ลูกอัณฑะอักเสบ (orchitis) ซึ่งอาจแบ่งเป็น
ก. ลูกอัณฑะอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดร่วมกับเส้นอัณฑะอักเสบเฉียบพลัน และใน โรคคางทูม ลูกอัณฑะจะบวมและปวด และถ้าเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบเป็นเชื้อหนอง ก็อาจจะเกิดฝีในลูกอัณฑะได้
โรคคางทูมอาจจะทำให้ ลูกอัณฑะอักเสบ ได้ โดยเฉพาะถ้าโรคคางทูมนั้นเกิดในผู้ชายที่พ้นวัยรุ่นแล้ว อาการของโรคคางทูม มักจะแสดงขึ้นที่ต่อมน้ำลายหน้าหู (ข้างคาง) ก่อน ทำให้คางบวมหรือโย้ไปข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง หลังจากที่ ต่อมน้ำลายหน้าหูอักเสบ ประมาณ 5-15 วัน ลูกอัณฑะอาจจะอักเสบ บวม และปวดอย่างมากได้ ในบางครั้ง โดยเฉพาะในระยะที่คางทูมระบาด ลูกอัณฑะอาจจะอักเสบจากเชื้อคางทูม โดยไม่มีอาการคางทูม (ต่อมน้ำลายหน้าหูอักเสบ) เลยก็ได้
ข. ลูกอัณฑะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดจากเชื้อวัณโรค เชื้อซิฟิริส หรืออื่นๆ ทำให้ลูกอัณฑะบวม เจ็บ และกดเจ็บเล็กน้อยหรือไม่เจ็บเลย ผิวขรุขระ และอาจมีรูเปิดที่ถุงอัณฑะให้หนองถูกขับออก
1.10 ลูกอัณฑะฝ่อ (testicular atrophy) อาจจะเกิดจากการอักเสบจากเชื้อโรคต่าง เช่น วัณโรค ซิฟิลิส เชื้อโรคต่างๆ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส คางทูม การกระทบกระแทกแรงๆ การที่ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนตัวลงในถุงอัณฑะ (พวก "ทองแดง") การฉายแสง (รังสี), การได้ฮอร์โมนเพศหญิง, ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต และต่อมธัยรอยด์, การผ่าตัดไส้เลื่อนที่ทำให้เกิดพังผืดบีบรัดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงลูกอัณฑะ โรคตับแข็งระยะหลัง หรืออื่นๆ จะทำให้ลูกอัณฑะฝ่อ
1.11 ลูกทองแดง (cryptorchism) คือการที่ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนลงมาสู่ถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่เกิด ลูกอัณฑะอาจจะคาอยู่ในบริเวณท่อขาหนีบ (inguinal canal) หรือาจจะอยู่ในช่องท้อง (คลำไม่พบ)เลยก็ได้ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ในบางคนอาจจะรู้สึกถ่วงๆ หรือหน่วงๆ ในบริเวณขาหนีบ เพราะลูกอัณฑะที่อยู่ในบริเวณท่อขาหนีบถูกเบียดหรือบีบโดยกล้ามเนื้อบริเวณนั้น
ถ้าลูกอัณฑะอยู่ในช่องท้องหรือท่อขาหนีบนาน ๆ อาจจะฝ่อเล็กลงทำให้เป็นหมัน หรือหมดสมรรถภาพทางเพศ หรือลักษณะความเป็นชายลดลง และอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่าลูกอัณฑะที่อยู่ในถุงอัณฑะ
ในปัจจุบัน เด็กที่เป็นลูกทองแดง ควรจะได้รับการผ่าตัดนำลูกอัณฑะลงมาอยู่ในถุงอัณฑะระหว่างอายุ 3-5 ปี
1.12 ท่ออัณฑะบิด (torsion of the spermatic cord) เนื่องจากท่ออัณฑะเป็นท่ออ่อนๆ ซึ่งภายในเป็นหลอดอสุจิ และหลอดเลือดซึ่งวิ่งจากลูกอัณฑะไปที่ท่อขาหนีบเพื่อเข้าไปในช่องท้อง ลูกอัณฑะจะมีลักษณะเหมือนลูกตุ้มที่ห้อยอยู่ด้วยท่ออัณฑะ การหมุนตัวของลูกอัณฑะจะทำให้ท่ออัณฑะบิดตัว หลอดเลือดและอสุจิจะพลอยถูกบิดตัวจนตีบตันได้ เลือดจะไหลเวียนไปเลี้ยงลูกอัณฑะไม่ได้ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่ลูกอัณฑะและถุงอัณฑะทันที ลูกอัณฑะและถุงอัณฑะจะบวมและกดเจ็บมาก ถ้าใช้มือค่อยๆ คลำและบิดลูกอัณฑะไปมา จนทำให้การบิดตัวของท่ออัณฑะกลับสู่ปกติซึ่งรู้ได้จากการทุเลาของอาการก็จะไม่ต้องทำการผ่าตัด มิฉะนั้นจะต้องผ่าตัดก่อนที่ลูกอัณฑะและเส้นอัณฑะจะขาดเลือดจนตายได้
ดังนั้น คนที่เกิดอาการเจ็บปวดที่ลูกอัณฑะและถุงอัณฑะอย่างเฉียบพลันทันที โดยไม่มีอาการติดเชื้อ (กามโรค คางทูม ฯลฯ) มาก่อน และเป็นอาการเจ็บรุนแรง จะต้องนึกถึงการบิดตัวของท่ออัณฑะด้วยเสมอ และรีบคลำรีบคลึงลูกอัณฑะนั้นไปมา ถ้าอาการดีขึ้น ก็แสดงว่าการบิดตัวนั้นได้คลายกลับคืนสู่ปกติ ถ้าไม่ดีขึ้นควรพิจารณาผ่าตัด
2. ลึงค์ (penis)
ลึงค์เป็นส่วนที่เป็นแท่ง และมีท่อปัสสาวะ (ซึ่งเป็นท่ออสุจิด้วย) อยู่ตรงกลาง มีหนังหุ้มทั้งแท่ง หนังหุ้มทั้งส่วนหัวและส่วนปลาย ทำให้ส่วนหัวหรือส่วนปลายมีหนังอ่อนและไวต่อความรู้สึกมากหนังหุ้มส่วนหัวนี้จะเปิด (ถอก) ลงมาได้ถึงส่วนคอดหรือส่วนคอ (corona) ในผู้ใหญ่
การตรวจลึงค์ อาจจะตรวจความผิดปกติดังต่อไปนี้ เช่น
2.1 ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น มีรูปัสสาวะที่ด้านล่าง หรือด้านหน้าของลึงค์
2.2 หนังหุ้มปลายตีบ คือการไม่สามารถเปิดหรือถอกให้หนังหุ้มปลายร่นขึ้นมาให้ส่วนปลาย (หัว) ของลึงค์โผล่ออกมาได้ เป็นของธรรมดาในเด็ก นอกจากเด็กคนนั้นจะถูกขลิบ (ถูกตัดหนังหุ้มปลาย) ตั้งแต่ยังเล็กๆ ดังที่มีการทำกันเป็นประจำในบางศาสนา
เมื่อหนังหุ้มปลายไม่สามารถเปิดออกเต็มที่ จะทำให้มีการหมักหมมของขี้ไคล (สิ่งขับถ่ายและเหงื่อไคล) ในบริเวณส่วนคอ และส่วนหัว ทำให้ ส่วนคอและส่วนหัวเกิดอักเสบ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นควรจะขลิบหนังหุ้มปลายเสีย
2.3 หนังหุ้มปลายถอกรัด คือการที่หนังหุ้มปลายถอกร่นขึ้นมาตรงส่วนคอ และรัดแน่นติดอยู่ ไม่สามารถรูดกลับลงไปปิดบริเวณหัวได้ ส่วนมากเกิดจากหนังหุ้มปลายอักเสบบวมจากการติดเชื้อ หนังหุ้มปลายที่ถอกรัดบริเวณของลึงค์อาจจะรัดแรงมาก จนทำให้หลอดเลือดที่บริเวณคอของลึงค์ถูกบีบจนตีบ ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงที่ส่วนปลายของลึงค์ ทำให้ส่วนปลายของลึงค์ขาดเลือดและตายได้
2.4 ลึงค์แข็งตัวตลอด คือการที่ลึงค์แข็งตัวอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เกี่ยวกับความต้องการทางเพศ ทำให้เกิดความเจ็บปวด มักเกิดในกรณีที่ไขสันหลังถูกกระทบกระแทก ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง การอุดตันของหลอดเลือด หรือมะเร็งของลึงค์ และบางครั้งในการติดเชื้อเฉียบพลัน ของต่อมลูกหมาก
2.5 การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง เช่นเดียวกับผิวหนังในบริเวณอื่น ซึ่งอาจเป็นโรคผิวหนังทุกชนิดได้ แต่ที่พบบ่อยมากเกิดเป็นผื่นคันจากการสกปรกหมักหมม หรือการติดเชื้อโรคโดยเฉพาะกามโรค เช่น
ก. แผลริมแข็ง เกิดจาก เชื้อซิฟิลิส ทำให้เกิดแผลริมแข็ง (แผลขอบแข็ง) พื้นแผลแข็ง มีน้ำเหลืองใสๆ และไม่เจ็บปวด มักจะเป็นที่ลึงค์ส่วนปลาย หรือที่ด้านในของหนังหุ้มปลาย และมักเป็นแผลเดี่ยวๆ
ข. แผลริมอ่อน เกิดจาก เชื้อแผลริมอ่อน มักเริ่มเป็นส่วนที่คอของลึงค์หรือกระเปาะสองข้างของสายลึงค์ หรือบริเวณผิวหนังต่อกับเยื่อเมือกในบริเวณทวารหนัก เป็นตุ่มใสๆ ซึ่งต่อมาจะแตกออกเป็นแผลตื้นๆ เจ็บปวดมาก พื้นแผลปกคลุมด้วยหนองสีเหลือง และเมื่อถูกอะไรเข้าจะมีเลือดออกง่าย ริมแผลและพื้นแผลจะนิ่ม (ไม่แข็ง)
ค. ฝีมะม่วง เกิดจาก เชื้อฝีมะม่วง ซึ่งมักเริ่มด้วยเม็ดใสเล็กๆ หรือแผลเล็กๆ บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ไม่เจ็บปวด และหายเองได้ จนอาจไม่เป็นที่สังเกต แต่ 10-30 วันต่อมา ต่อมน้ำเหลือที่ขาหนีบข้างเดียวหรือทั้งสองข้างจะบวมโตและติดกับผิวหนังทำให้เกิดเป็นรอยย่น ต่อมาจะแตกออกเกิดเป็นรูหนองออกหลายรู มักจะมีไข้ อ่อนเพลีย ผอมลง และปวดเมื่อยตามตัวตามข้อได้
ง. เริม เป็นตุ่มใสๆ แต่อาจแตกออกเป็นแผลเป็นที่ลึงค์ ส่วนปลายของลึงค์ และที่หนังหุ้มปลายได้
จ. หนองใน ทำให้ปัสสาวะแสบหรือขัด มีหนองสีขาวปนเหลืองไหลออกมา อาจทำให้เกิดฝีรอบท่อปัสสาวะ และถ้าเป็นเรื้อรัง จะทำให้ ท่อปัสสาวะตีบ
นอกจากกามโรคแล้ว โรคผิวหนังอื่นๆ รวมทั้งมะเร็งก็อาจจะเป็นที่ลึงค์ได้
3. ต่อมลูกหมาก
จะตรวจได้โดยการใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนัก ดังได้กล่าวไว้ในฉบับก่อนเรื่องการตรวจทวารหนัก
ถ้าต่อมลูกหมากเจ็บ แสดงว่า ต่อมลูกหมากอักเสบ ซึ่งส่วนมากเกิดจาก กามโรค หรือการติดเชื้อจากการใส่เครื่องมือในท่อปัสสาวะ
ถ้าต่อมลูกหมากใหญ่กว่าปกติแสดงว่า ต่อมลูกหมากโต
ถ้าต่อมลูกหมากโตและแข็ง แสดงว่าอาจเป็น มะเร็งของต่อมลูกหมาก เป็นต้น
- อ่าน 78,316 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้