• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลิ้นกับฟัน


ลิ้นกับฟันเป็นของคู่กัน ทั้งคู่เป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้ชิดกันและทำงานประสานกัน เพื่อแปลงรูปอาหารที่จะเข้าสู่ร่างกายให้เหมาะสมที่ร่างกายจะย่อยเอาไปใช้ เมื่อใดที่ฟันทำงานลิ้นก็จะช่วยโดยอัตโนมัติ คุณเคยสังเกตบ้างไหมว่าเวลาแทะข้าวโพด ทันทีที่เมล็ดข้าวโพดเข้าสู่โพรงปาก ลิ้นก็จะม้วนตวัดเอาเมล็ดข้าวโพด ป้อนเข้าสู่ฟันกรามด้านในเพื่อบดให้ละเอียด ในขณะที่ฟันกำลังทำหน้าที่ของมัน ลิ้นก็จะคลุกเคล้าอาหารที่ชิ้นเล็กลงไปมา เพื่อทำหน้าที่ย่อยอาหารขั้นหนึ่งก่อน ก่อนที่อาหารจะเคลื่อนลงสู่กระเพาะอาหาร ดังนั้นลิ้นกับฟันจึงเปรียบเหมือนด่านแรกของประตูทางเข้าของอาหารที่จะไปเลี้ยงร่างกาย
 

      

 
ฟันเป็นส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกายมนุษย์ ฟันแข็งแรงกว่ากระดูกทั่ว ๆ ไปหลายเท่า เพราะฟันต้องทำงานหนักคือบดเคี้ยวอาหารวันละอย่างน้อย 3 ครั้ง ตลอดชีวิตของเจ้าของ ฟันบางคนที่แข็งแรงอาจจะเคี้ยวเหรียญหรือก้อนหินได้ ที่ฟันแข็งแกร่งมากเนื่องจากมีอีนาเมล เป็นส่วนประกอบที่อยู่ด้านนอกสุด ชั้นในเป็นเนื้อฟันที่ค่อนข้างอ่อนเรียกว่าเดนทีน ส่วนกลางของฟันและรากฟันเป็นที่อยู่ของเส้นเลือดและเส้นประสาทไปเลี้ยงฟันซี่นั้น เนื่องจากฟันต้องถูกกระแทกด้วยแรงเสียดสีจากการเคี้ยวมา ฟันจึงต้องมีรากฟันที่ยึดฟันฝังติดกับกระดูกขากรรไกรอย่างแข็งแรง

เมื่อเด็กเกิดมาเด็กไม่มีฟันที่มองเห็นได้ แต่ที่จริงแล้วฟันอยู่ในเหงือก ต่อมาเมื่อเด็กเริ่มต้องการอาหารที่แข็งขึ้น เมื่อนั้นแหละที่ฟันจะค่อย ๆ งอกขึ้นมาที่ละ 1-2 ซี่ ฟันชุดแรกนี้เรียกว่า ฟันน้ำนม ฟันน้ำนมมีเพียง 20 ซี่ ที่มีจำนวนเพียงเท่านี้เป็นเพราะขากรรไกรของเด็กเล็ก ๆ มีเนื้อที่บรรจุฟันได้น้อย เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ความต้องการอาหารแข็งเพิ่มมากขึ้น ขากรรไกรก็เติบโตมากขึ้น เด็กจึงมีฟันใหม่งอกเพิ่มขึ้น ฟันน้ำนมเดิมหลุดไปมีฟันถาวรงอกขึ้นมาแทนที่ ฟันชุดหลังนี้เราเรียกว่า ฟันแท้

 ฟันคนเรามี 2 ชุด ในเด็กที่เราเห็นมีฟันน้ำนมอยู่ ที่จริงก็มีฟันแท้อยู่ซ้อนฟันน้ำนมเพียงแต่ซ่อนอยู่ในเหงือก ฟันแท้ถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกที่แข็งแรง ทำหน้าที่ป้องกันฟันแท้ให้ปลอดภัยจนกระทั่งถึงเวลาที่ฟันแท้จะขึ้น

 

 


ฟันน้ำนมจะขึ้นครบเมื่ออายุ 2 ปี ฟันน้ำนมแบ่งเป็นฟันบน 10 ซี่ ฟันล่าง 10 ซี่ ฟันหน้าเรียกว่าฟันตัดถัดฟันตัดออกไปทั้งสองข้างเรียกว่า เขี้ยว (ซี่แหลม ๆ นั่นแหละ ) ถัดจากเขี้ยวคือฟันกราม ฟันกรามมีข้างละ 2 ซี่ ฟันน้ำนมอยู่กับร่างกายเราไม่นาน ก็จะหลุดไปตามเวลาดังนี้

ฟันล่าง  อายุ   6 ปี           ฟันตัดคู่กลาง
               อายุ   7 ปี           ฟันตัดคู่ริม
               อายุ   9 1/2 ปี    เขี้ยว
               อายุ   10 ปี         ฟันกรามซี่หน้า
               อายุ   11 ปี         ฟันกรามซี่หลัง

ฟันบน    อายุ   7   ปี         ฟันตัดคู่กลาง
               อายุ   8   ปี         ฟันตัดคู่ริม
               อายุ 11 1/1ปี     เขี้ยว
               อายุ 10 1/2 ปั     ฟันกรามซี่หน้า
               อายุ 10 1/2 ปั     ฟันกรามซี่หลัง

เมื่อฟันน้ำนมหลุดไปฟันแท้จะขึ้นมาแทนฟันน้ำนมซี่ที่หลุดไป ฟันแท้มี 32 ซี่ มากกว่าฟันน้ำนมถึง
12 ซี่ ฟันใหม่นี้เป็นฟันกรามด้านบน 6 ซี่ข้างละ 3 ซี่ ฟันกรามล่าง 6 ซี่ เท่ากัน ฟันกรามซี่แรกจะขึ้นเมื่อมีอายุได้ 6-7 ปี ซี่ที่สองจะขึ้นเมื่อมีอายุ 11-13 ปี ส่วนฟันกรามซี่สุดท้ายจะขึ้นเมื่ออายุ ได้ 17-21 ปี แต่ในบางคนฟันกรามซี่สุดท้ายอาจจะไม่ขึ้นเลยก็เป็นได้
 

 

 

  

ฟันมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันถึง 4 ชนิด ตามหน้าที่ของมัน ฟันหน้าเรียกว่า ฟันตัด เป็นฟันที่คมและบาง ใช้ขบกัดอาหารเพื่อแบ่งอาหารให้เป็นคำเล็กพอดีที่จะเข้าไปในโพรงปาก เขี้ยวที่อยู่สองข้างของฟันตัดมีส่วนปลายที่แหลม ทำหน้าที่ฉีกอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทเนื้อที่เหนียวเกินกว่าฟันตัดจะกัดให้หลุดออกมาได้ ถ้าไปมองฟันสุนัขและสังเกตเวลามันกินเนื้อก็จะเข้าใจหน้าที่ของเขี้ยวได้ดีขึ้น ส่วนฟันที่อยู่ถัดไปทางด้านใน ได้แก่ฟันกรามน้อย และฟันกรามตามลำดับ ฟันกรามเป็นฟันที่มีขนาดใหญ่ที่สุด รูปร่างหนา หน้าตัดเป็นปุ่มนูนใช้บดอาหารให้ละเอียดก่อนที่อาหารจะถูกกลืนลงหลอดอาหาร

ฟันกรามจะทำงานได้ดีต่อเมื่อฟันกรามบนและล่างสบกันได้พอดีพอเหมาะที่จะทำการบดอาหาร เมื่อเราปิดปากหรือเคี้ยวฟันกรามบนและล่างควรสวมกันเข้าได้พอดีถ้าฟันคุณสบกันไม่ดี ทันตแพทย์สามารถจัดฟันให้คุณใหม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฟันแม้จะเป็นส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกาย แต่ก็ผุเป็นรูได้หาเราดูแลรักษาฟันไม่ดี ทั้งนี้เพราะในปากของเรามีแบคทีเรียซึ่งเป็นเชื้อโรคตัวเล็ก ๆ แบคทีเรียเหล่านี้กินเศษอาหารที่หลงเหลืออยู่ตามซอกฟัน โดยเฉพาะน้ำตาล ที่เป็นส่วนประกอบของอาหารที่เรากินเข้าไป แบคทีเรียจะเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นกรด กรดที่เกิดขึ้นจะเซาะอีนาเมลให้ผุกร่อน ดังนั้นควรรักษาฟันให้สะอาดจากเศษอาหารและแบคทีเรียโดยการแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหารก่อนนอนและตอนตื่นนอน
 

    

ลิ้นน่าแปลกที่ลิ้นมีลักษณะตรงข้ามกับฟันคือ ลิ้นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ที่มีเซลล์กล้ามเนื้อผสานกันอย่างหนาแน่น การที่ลิ้นมีกล้ามเนื้อมากทำให้ลิ้นเคลื่อนไหวไปได้หลายทิศทาง เพื่อทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับฟันในการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด

นอกจากนี้ลิ้นยังทำหน้าที่คลุกเคล้าอาหารที่บดแล้ว เข้ากับน้ำย่อยที่ต่อมน้ำลายในปากส่งมาย่อยอาหารเพื่อเป็นการปรับสภาพอาหารให้เหมาะที่จะส่งไปย่อยต่อที่กระเพาะอาหารต่อไป

หน้าที่ที่สำคัญมากของลิ้นที่เราต้องกล่าวถึงคือ หน้าที่ในการรับรู้รสอาหารที่เรากินเข้าไป นับได้ว่าลิ้นเป็นอวัยวะบ่งบอกความอร่อยของรสอาหารบนลิ้นมีตุ่มรับรสเล็ก ๆ ถ้าใครอยากเห็นก็ง่ายนิดเดียว เพียงแต่แลบลิ้นส่องกับกระจกดูเท่านั้นเอง ตุ่มเหล่านี้จะทำหน้าที่ชิมรสต่าง ๆ ของอาหาร และรายงานความรู้สึกไปยังสมอง
                    

 

 

 

 

 

 ตุ่มรับรสต่างๆกระจายกันอยู่ในแต่ละ
 ส่วนของลิ้น

 

 

 

 

 


ตุ่มรับรสมีหลายชนิด รับรสที่แตกต่างกันออกไป ตุ่มรับรสต่าง ๆ กระจายกันอยู่ในแต่ละส่วนของลิ้นดังนี้ ปลายลิ้นไวต่อรสเค็มและหวาน โคนลิ้นไวต่อรสขม ส่วนบนของเพดานปากด้านหน้าไวต่อรสเปรี้ยว ส่วนบนของเพดานปากด้านหลังไวต่อรสขม (เนื้อเยื่อเพดานปากก็มีตุ่มรับรสอยู่ด้วย)


แล้วทำไมแต่ละคนถึงชอบรสอาหารไม่เหมือนกัน
เด็ก ๆ ไม่ชอบกินผักแต่มักชอบของหวาน ๆ ขนม ไอศกรีม บางคนก็ชอบกินกล้วยมากกว่าจะกินของหวานๆ สัตว์ก็เช่นเดียวกัน มีของกินที่ชอบและไม่ชอบ และกระทั่งไม่กินของบางอย่าง เช่นช้างกินหญ้าและอ้อย แต่ช้างจะไม่กินลูกชิ้นปิ้ง ไม่ว่าคุณจะไปบังคับมันอย่างไร สุนัขชอบกินน่องไก่ทอดแต่จะไม่กินน้ำส้มคั้น แมวจะไม่ยอมกินเป๊ปซี่ ส่วนจิ้งหรีดกินหญ้าและแมลงตัวเล็ก ๆ

คำตอบก็คือตุ่มรับรสบนลิ้นเป็นตัวกำหนดความชอบหรือความพึงพอใจในรสอาหาร (แต่สัตว์กินอย่างหนึ่ง ไม่กินอีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะร่างกายสัตว์ต้องการสารอาหารที่มีอยู่ในสิ่งที่มันกินเข้าไป)

ข้อมูลสื่อ

67-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 67
พฤศจิกายน 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ