• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 7 วิ่งแล้วอายุยืนจริงหรือ

"กันไว้ดีกว่าแก้ "หมอชาวบ้าน" ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรค ซึ่งได้ผลดีและประหยัดกว่าการรักษาหลังเกิดโรคแล้ว แต่การเขียนบทความสารคดีเชิงป้องกันและส่งเสริมให้เกิดพลานามัยที่ดีและน่าอ่านนั้นเป็นเรื่องยาก จึงปรากฏแต่บทความเชิงการรักษาพยาบาลหรือแก้ไขโรคเสียส่วนมาก "หมอชาวบ้าน" จึงภูมิใจเสนอสารคดีประจำที่จะเน้นในแง่ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและจิต เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่า"

ตอนที่ 7
วิ่งแล้วอายุยืนจริงหรือ

สุดยอดปรารถนาอย่างหนึ่งของมนุษย์ใหญ่โดยทั่วไป คือ ความใฝ่ฝันที่จะมีอายุยืนยาว สามารถมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้นานๆ แต่มักจะมีข้อแม้ว่า ต้องอายุยืนอย่างมีความสุข คือต้องสุขทั้งกายและใจ สุขภาพต้องแข็งแรง จิตใจสดชื่นแจ่มใสจึงจะเอา หากอายุยืนจริงแต่เจ็บไข้ได้ป่วยกระเสาะกระแสะสามวันดีสี่วันไข้ มีแต่ความทุกขเวทนาก็เห็นจะขอตายตามเวลาอันควรดีกว่าจะได้หมดเวรหมดกรรมไม่ต้องทรมาน

สรุปแล้วมนุษย์เราล้วนแต่อยากมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุขกันทั้งนั้นดังจะเห็นได้จากถ้อยคำอวยพรในงานมงคลต่างๆ เช่น ในวันเกิดก็จะอวยพรให้อายุมั่นขวัญยืน ในวันสมรสก็จะอวยพรให้คู่บ่าวสาวครองเรือนกันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ตลอดจนวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของประมุขประเทศต่างๆ เช่น ชาวอังกฤษ ก็จะถวายพระพรให้สมเด็จพระราชินีของเขาทรงพระเจริญมีพระชนม์ยิ่งยืนนาน (Long live the Queen) ชาวญี่ปุ่นก็จะถวายพระพรสมเด็จพระจักรพรรดิของเขาว่า "บันไซ บันไซ" ซึ่งแปลว่า "อายุยืนหมื่นปี" เป็นต้น

มนุษย์เราล้วนแต่ปรารถนามีอายุยืนอยู่เป็นหนุ่มเป็นสาวไปนานๆ ไม่อยากแก่ทั้งนั้น
มนุษย์เราล้วนแต่ปารถนามีอายุยืนอยู่ดูโลกไปนานๆ ไม่อยากตายทั้งนั้น

เราก็เลยไปพาลเกลียดกลัว ความแก่ และ ความตาย กันหมด พากันลืมสัจธรรมของวัฏสงสาร ว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลายย่อมหนีไม่พ้น เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย

แท้ที่จริงแล้ว เราไม่ได้เกลียดกลัวเจ้าความแก่นักหรอก เรากลัวสิ่งที่จะตามมาพร้อมกับความแก่ คือ ความเสื่อมโทรมของสังขาร และความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างหาก

แท้ที่จริงแล้ว เราไม่ได้เกลียดกลัวเจ้าความตายนักหรอก เรากลัวความทุกข์ของความเจ็บไข้ได้ป่วยก่อนตายต่างหาก

ซึ่งไม่น่าแปลกเลย ที่ผู้คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้พยายามทุกวิถีทางที่จะชะลอความแก่ชะลอความตาย กันด้วยวิธีผิดๆ เช่น อุตส่าห์เสียเงินทองมากมาย เดินทางไปชะลอความแก่กับคุณหมอแอสลานถึงประเทศรูมาเนีย ทั้งๆที่วิธีรักษานั้นไม่มีสถาบันการแพทย์ที่ไหนยอมรับว่าได้ผลตามโฆษณาไว้ และหากการรักษาได้ผลจริง ทำไมตัวคุณหมอแอสลานเองนั่นแหละ ถึงได้ดูแก่กว่าวัยมากมายอะไรอย่างนั้น บางคนก็พยายามชะลอความตายด้วยการไปหาหมอผีนักบุญทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เพื่อต่ออายุให้ยืนยาว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทองและแสดงความโง่เขาอีกด้วย

การชะลอความแก่ ชะลอความตายนั้นมีเพียงวิธีเดียว คือ การหมั่นบำรุงรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงปลอดจากการเบียดเบียนของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับ อาหาร สิ่งแวดล้อม และวิถีการดำเนินชีวิตของคนนั้นๆ

แต่ก็แปลก ในขณะที่ผู้คนทั้งหลายต่างล้วนพยายามหลีกหนีความแก่หลบเลี่ยงความตาย แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็กลับพยายามทำให้สุขภาพทรุดโทรมกันเร็วขึ้น โรคภัยไข้เจ็บให้เกิดกันตนเร็วขึ้น ด้วยการดื่มกินบริโภคอย่างตะกละตะกลาม ไม่มีบันยะบันยังไม่จำกัดปริมาณ คุณภาพและเวลาแข่งกันทำลายสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่นี้ให้เต็มไปด้วยมลภาวะเป็นพิษ ร้ายนานัปการตลอดจนยึดติดในวิถีการดำเนินชีวิตตามคำนิยมที่ว่า การต้องเหน็ดเหนื่อยออกแรงทำอะไรนั้นเป็นความทุกข์ เป็นภาระหน้าที่ของบ่าวไพร่ การไม่ต้องทำอะไร นั่งกินนอนกินไปวันๆ เป็นความสบาย เป็นวิถีชีวิตของผู้มีบารมี บุญหนักศักดิ์ใหญ่ การต้องทำอะไรตลอดเวลาเป็นความโชคร้าย การไม่ต้องทำอะไรเลยเป็นความโชคดี เราจึงเห็นการทำอะไรออกแรงเป็นเรื่องของความยากลำบากควรแก่การหลบเลี่ยง เพราะทุกคนล้วนแต่อยากเป็นคนโชคดี อยากเป็นคนมีบุญบารมีทั้งนั้น ดังนั้นตามหน่วยงานราชการแทบทุกแห่ง จึงเห็นมีแต่คน แต่ไม่ค่อยมีงานให้ทำ วันๆเอาแต่แสวงบุญบารมีด้วยการนั่งๆนอนๆ เช้าชาม เย็นชาม รักษาเนื้อรักษาตัวให้ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ปีละขั้นๆ ไปด้วยความสบายสำราญอารมณ์ จะขึ้นจะลงสักชั้นสองชั้นก็ต้องใช้ลิฟท์ จะติดต่อหน่วยงานเดียวกันที่อยู่ถัดไปไม่กี่โต๊ะก็ต้องใช้โทรศัพท์ หมั่นถนอมเนื้อถนอมตัวอย่างนี้ไม่นาน เมื่อจำเป็นต้องขึ้นบันไดเพียงชั้นเดียวก็เหนื่อยจนจะหมดลมหายใจ เดินสักไม่กี่ก้าวก็เมื่อยจนพุงกระเพื่อม แล้วก็ได้แต่ผลัดตนเองวันแล้ววันเล่าว่า "....เถิด...แล้วพรุ่งนี้เราจะออกกำลังกายเสียที " แต่จนแล้วจนรอด พรุ่งนี้ก็ไม่มีวันมาถึง เพราะยังติดที่ชอบ "ชอบสบาย" และออกกลังกายนั้นหมายถึงความลำบากจนพุงเป็นลอน คางสองชั้น ไขมันในเลือดสูง กรดยูริคในเลือดมาก ความดันเลือดสูง ทำอะไรนิดก็หอบ ทำอะไรหน่อยก็เหนื่อย แต่ก็พกความอยากไว้เต็มสี่ห้องหัวใจที่อ่อนปวกเปียก ล้วนแต่อยากเป็นหนุ่มเป็นสาวนานๆ อยากมีอายุยืนยาวไว้ดูโลกนานๆ

ปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ในโลกเวลานี้ คือ กินมากไป สูบและดื่มมากไป อ้วนเกินไป และออกกำลังกายน้อยเกินไป ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่มนุษย์เลือกดำเนินไปทั้งสิ้น

หมอโธมัส บาสส์เลอร์ ซึ่งเป็นพยาธิแพทย์ที่มีหน้าที่ผ่าตัดชันสูตรศพของผู้ที่เสียชีวิตเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการตายของศพเหล่านั้น ได้เคยกล่าวสรุปไว้ว่า "2 ใน 3 ของคนตายก่อนเวลาอันควรอย่างน่าเสียดาย เพราะมีหัวใจของคนเกียจคร้าน ปอดของคนสูบบุหรี่ และตับของคนกินเหล้า"

ศาสตราจารย์โธมัส เคอร์ตัน แห่งห้องปฏิบัติการณ์ความสมบูรณ์ของร่างกาย มหาวิทยาลัยอิลลินนอยส์กล่าวว่า "คนวัยหนุ่มในประเทศนี้ (อเมริกา) โดยทั่วไปมีร่างกายเหมือนวัยกลางคน ที่อ่อนแอแต่วิ่งช่วงตึกหนึ่งก็ไม่ไหว ขึ้นบันไดชั้นเดียวก็เหนื่อยจนหอบแล้ว พออายุ 20 สังขารก็โทรม เหมือนคนอายุ 40 และคนอายุ 40 ในประเทศส่วนใหญ่ก็ล้วนกำลังใกล้จะตายอยู่แล้ว เพียงแค่จิตใจได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรงอีกครั้งเดียวหรือตรากตรำออกแรงทำอะไรเกินไปอีกนิดเดียว หัวใจก็จะวายอยู่แล้ว

อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่เลย แม้แต่เด็กๆ ก็มีสุขภาพไม่ดี เขาทำการทดสอบความสมบูรณ์ของร่างกายในชั้นนักเรียนอายุประมาณ 10 ขวบ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในอเมริกา พบว่าจากนักเรียนทั้ง 52 คน มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่มีสภาพร่างกายสมบูรณ์ถึงขีดที่ควรจะเป็น

เมื่อไม่นานมานี้ ที่โรงพยาบาลแมสสาจูเสทส์เจนเนอราล รายงานการศึกษาในเด็กก่อนวัยรุ่น 1900 คน พบว่า 15% มีระดับไขมันในเลือดสูงและ 8% มีความดันเลือดสูง

กระทรวงศึกษาธิการของอเมริกา เคยทำการทดสอบ ความแข็งแรง ความว่องไว และความเร็ว ในเด็กวัยระหว่าง 10-17 ปี จำนวน 12 ล้านคน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 10 ปี ไม่พบว่า จะมีแนวโน้มดีขึ้นเลยแม่แต่นิดเดียว

เมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้เขียนมีโอกาสได้ทดสอบสมรรถภาพความสมบูรณ์ของร่างกายของนักบริหารระดับสูงจำนวนเกือบ 40 คน จากหน่วยราชการแห่งหนึ่ง อายุอยู่ระหว่าง 37-63 ปี เฉลี่ย 51 ปี ก่อนทำการทดสอบ หลายทานบอกผู้เขียนว่า ได้ออกกำลังเล่นกีฬาเป็นประจำ เช่น กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน แต่ผลการทดสอบปรากฏว่าทั้งหมดมีขีดขั้นความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ที่ระดับ "แย่มาก"

อย่าว่าแต่คนอาชีพอื่นเลย แม้แต่พวกหมอ ซึ่งเป็นอาชีพที่ประชาชนหวังจะพึ่งพาปรึกษา พวกหมอเองก็ไม่ได้มีสุขภาพดีไปกว่าคนอื่นๆ โดยทั่วไปในสังคม อาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำไป ที่แคลิฟอร์เนียใต้ได้ทำการทดสอบสมรรถภาพความสมบูรณ์ของร่างกายให้กับหมอ 58 คน พบว่า เกือบทั้งหมดมีสุขภาพอยู่ในระดับ "แย่" 20 % ติดบุหรี่ 66% อ้วนเกินไป 25% ความดันเลือดสูง 20% มีความผิดปกติของคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย มากกว่า 50% มีระดับไขมันในเลือดสูง ตอนที่ผู้เขียนอ่านรายงานนี้อยู่ มีเพื่อนแพทย์รุ่นน้องที่สูบบุหรี่ค่อนข้างจัดคนหนึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ ผู้เขียนจึงเล่าตัวเลขพวกนี้ให้เขาฟัง คำตอบของเขาดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่ช่วยสะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนทั่วไป ในการเลือกดำรงวิถีชีวิตซึ่งไม่ได้ยกเว้นแม้แต่กับแพทย์ซึ่งน่าจะมีความเข้าใจดีกว่าคนอื่นๆ เพราะเขาตอบว่า

"ผมไม่กลัวหรอกเรื่องมะเร็งของปอด เพราะกว่าจะถึงเวลาผมเป็น ตอนนั้นเขาคงคิดประดิษฐ์ยารักษาได้แล้ว"


โดยข้อเท็จจริงแล้ว แพทย์ส่วนใหญ่ทำงานมากเกินไป ตรากตรำทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อดูแลรักษาคนไข้จำนวนมาก แพทย์ส่วนใหญ่จึงมัวแต่หมกมุ่นคอยแต่เยียวยารักษาโรคร้ายต่างๆ ที่ทรมานคนไข้อยู่ ก็แทบไม่มีเวลาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีเวลาเหลือสำหรับการทำงานด้านส่งเสริม สนับสนุน หรือป้องกัน หรือแนะนำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่ต้องพูดถึงการรักษาสุขภาพของตัวหมอเอง

พูดง่ายๆ ก็คือ หมอทำงานที่รักษาโรคลูกเดียวก็ไม่ไหวแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานด้านส่งเสริมประชาชนให้มีสุขภาพพลานามัยสุมบูรณ์ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้โรคเกิด อันประหยัดกว่า และได้ผลมากกว่าการคอยรักษาเมื่อปลายเหตุ คือเกิดโรคแล้ว

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ประชาชนจะหันไปพึ่งใคร?
คำตอบก็คือ ประชาชนต้องพึ่งตนเอง ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องพึ่งตนเองด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ให้เป็นชีวิตที่มีสุขอนามัยมากกว่านี้ สนใจในการดูแลรักษาตนเองมากกว่านี้

หมอจอห์น โนวส์ ประธานมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เคยกล่าวว่า "ผู้คนส่วนใหญ่มักจะถือว่า ความเกียจคร้านเฉื่อยชา ความตะกละตะกลามเห็นแก่กิน การเมาสุราเป็นนิจสินการขับรถอย่างประมาท คึกคะนอง การหมกมุ่นเมามัวในโลกียตัณหา และการสูบบุหรี่ควันตลบนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมของทุกคน แล้วกะเกณฑ์ให้รัฐต้องคอยรับผิดชอบกับผลเสียที่เกิดขึ้นตามหลังนั้น ออกจะไม่ยุติธรรม สักหน่อย โดยเฉพาะไม่เป็นธรรมต่อคนที่มีระเบียบวินัย และคอยระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างดี เพราะทัศนคติผิดๆ อย่างนี้ซิ ที่ทำให้รัฐต้องเจียดเงินภาษีจำนวนมากไปเป็นงบประมาณ ค่าพยาบาล ค่ายา พวกคนที่ไม่รักษาสุขภาพพวกนี้" หมอโนวส์พยากรณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการแพทย์ครั้งต่อไปนั้น ความสำคัญจะไม่ได้อยู่ที่หมอ หรือโรงพยาบาล หรือยา ที่ใช้บำบัดรักษา "โรคที่เกิดจากความสำราญ" เหล่านี้ แต่จะอยู่ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน ไปสู่...วิถีชีวิตใหม่ที่มีสำนึกในเรื่องการหมั่นดูแลรักษาตนเองยิ่งกว่านี้

และวิธีเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ให้มีคุณค่าและสุขพลานามัยดีกว่าเดิม ก็ไม่มีอะไรจะเหมาะไปกว่า "การวิ่ง" เพราะนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดแล้ว ยังประหยัดที่สุดอีกด้วย

มีการศึกษาในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในรัสเซีย พบว่า เดิมปีหนึ่งมีกรรมกรลาป่วยรวมกันถึง 436 วัน แต่พอจัดโปรแกรมให้กรรมกรทั้งโรงงานวิ่งออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน พบว่าวันลาป่วยลดลงรวมกันเหลือ 42 วันต่อปี เห็นได้ชัดว่าการวิ่งช่วยลดความเจ็บป่วย ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล และเพิ่มผลผลิตมากแค่ไหน

หมอจอร์จ ชีแฮน ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจชาวอเมริกันกล่าวว่า "การวิ่ง" เป็นการออกกำลังกายที่สมบูรณ์ที่สุดในแง่สรีรวิทยา เพราะการวิ่งนั้นต้องใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่น้อยจำนวนมากในการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะสม่ำเสมอ โดยอัตราเร็วที่เราเองเป็นผู้ควบคุม ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการบริหารการทำงานของระบบ หัวใจ-การไหลเวียนโลหิต และการหายใจ ที่มีประสิทธิภาพที่สุด" หมอชีแฮน จึงได้เสนอแนะวิธีรักษาโรคแบบใหม่ คือ แทนที่จะสั่งยาให้คนไข้ ให้สั่งการออกกำลังกายแทน ซึ่งแนวความคิดนี้แท้ที่จริงไม่ใช่ของใหม่เลย แพทย์ในศตวรรษที่ 17 ในประเทศอังกฤษก็เคยนิยมแนะนำผู้ป่วยให้ออกกำลังกายแทนที่จะกินยาเช่นนี้

โดยเฉพาะ ในแง่การถนอมความหนุ่มสาว และชะลอความแก่ การวิ่งจะช่วยได้มากทีเดียว หมอเฟรด คาสช์ ได้ทำการศึกษาชายวัยกลางคนจำนวน 43 คน เป็นเวลาถึง 10 ปี โดยทำการตรวจวัดสมรรถภาพด้านต่างๆ ที่เป็นดรรชนีบ่งชี้ถึงความแก่ของคนเหล่านี้เป็นระยะๆ ตลอดเวลา 10 ปี โดยตรวจวัด 1. อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ 2. ความสามารถในการรับออกซิเจนของร่างกาย 3. แรงปีบตัวของหัวใจ และ 4. ความต้านทานส่วนปลายของหลอดเลือด โดยให้ทั้ง 43 คนนี้ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วยการวิ่ง หรือว่ายน้ำ ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งให้มีชีวิตสำราญไปตามธรรมดา ไม่มีการออกกำลังกาย เขาติดตามศึกษาคนทั้งสองกลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ คือ ทั้งกลุ่มออกกำลัง และกลุ่มไม่ออกกำลัง เป็นเวลาถึง 10 ปี แน่นอน พวกกลุ่มไม่ออกกำลังพบว่าสมรรถนะของร่างกายเสื่อมถอยแก่ไปตามวัย แต่น่าแปลกใจที่กลุ่มออกกำลังกายนั้นสมรรถนะของร่างกายทั้ง 4 ประการที่ตรวจวัดเป็นระยะๆ ตลอดเวลา 10 ปี นอกจากไม่ทรุดโทรมเสื่อมถอยไปตามวัยเหมือนอย่างพวกไม่ออกกำลังกายแล้ว ยังพบว่าแข็งแรงกว่าเก่า เป็นหนุ่มกว่าเก่า โดยเฉพาะในแง่ความสามารถในการรับออกซิเจนของร่างกาย และแรงบีบตัวของหัวใจ มิหนำซ้ำยังได้ของแถมจากการออกกำลังกายอีกอย่างคือ ความดันเลือดนอกจากไม่สูงผิดปกติแล้ว บางรายที่เคยมีความดันเลือดสูง ก็ลดลงมาเป็นปกติด้วย

หมอนาธาน พริติคิน ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยเรื่องอายุ พบว่า อายุเฉลี่ยของอดีตนักฟุตบอล คือ 57 ปี นักมวยและนักเบสบอล 61 ปี ส่วนอดีตนักวิ่ง 71 ปี

ถึงตรงนี้ผู้เขียนพอดีนึกออกว่าในหนังสือพิมพ์เช้านี้ลงข่าวของ สุรชัย ลูกสุรินทร์ อดีตนักมวยเอก เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เป็นนักมวยที่มีชื่อเสียงมาก แถมรูปหล่ออย่างร้ายกาจด้วย จึงได้รับสมญาว่า "สิงห์สำอางค์" เคยชกกับนักมวยมีชื่อเสียงในสมัยนั้น เช่น ชูชัย พระขรรค์ชัย สุข ประสาทหินพิมาย สมเดช ยนตรกิจ อสมาน ศรแดง และศักดิ์ชาย นาคพยัคฆ์ เป็นต้น ตอนหลังแขวนนวมแล้ว มีการงานทำมั่นคง เป็นหลักแหล่งก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะค่อนข้างมั่นคง ได้ตายเสียแล้วด้วยโรคหัวใจวาย ด้วยอายุเพียง 51 ปี

หมอพลอ ฟาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจได้รายงานไว้ในการศึกษาคนถึง 500 คน พบว่า หัวใจของอดีตนักวิ่งนั้นแข็งแรงและทำงานได้ดีว่าคนที่ไม่เคยวิ่งและกล่าวต่อไปว่า สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายมาก่อน หากเริ่มต้นอย่างจริงจังก็สามารถจะฟื้นฟูสมรรถภาพของหัวใจให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถบริหารให้หัวใจแข็งแรงทัดเทียมกับหัวใจของคนที่พักมาแล้วนานๆ ได้

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 1958 (วันนี้เมื่อ 25 ปีก่อน) คลาเนซ์ เดอมาร์ นักวิ่งสำคัญของโลกก็ได้สิ้นชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเมื่อมีอายุได้ 70 ปี

เมื่อถูกมะเร็งร้ายคร่าชีวิตไป ศพของเขาก็ได้รับการผ่าชันสูตร ผลการผ่าศพได้รายงานลงในวารสารการแพทย์ของนิวอิงค์แลนด์ อันมีชื่อว่า "หัวใจของเขามีขนาดใหญ่และแข็งแรง หลอดเลือดแข็งตัวที่พบเป็นประจำในศพผู้สูงอายุอื่นนั้น แทบหาไม่ได้เลยในตัวของเขา หลอดเลือดโคโรนารีที่ไปเลี้ยงหัวใจของเขานั้นมีขนาดใหญ่กว่าปกติ 2-3 เท่า แสดงชัดเจนว่า การออกกำลังกายอย่างจริงจังนั้น นอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อหัวใจแล้ว ตรงกันข้ามกลับมีผลดีต่อหัวใจอย่างกรณีของเดอร์มาร์นี้"

ถ้าจะพิจารณาดูเดอร์มาร์อย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าเขาเป็นหนุ่มกว่าอายุจริงมาก สุขภาพที่แข็งแรงของเขานั้น ทำให้เขายังสามารถเข้าวิ่งแข่งขันอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งๆที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็งแล้ว หลอดเลือดแดงโคโรนารี ที่ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจของเขานั้นมีขนาดใหญ่มาก ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้มาก ความสามารถในเชิงกีฬาของเขาตอนอายุ 60 ปีนั้น คนที่อายุอ่อนกว่าเป็นสิบๆ ปีก็ไม่สามารถจะเทียบเขาได้ เห็นได้ชัดว่า เขายังเป็นคนหนุ่มอยู่ทั้งๆที่อายุมากแล้ว และนักวิ่งคนอื่นๆ ก็เช่นกัน ที่ดูเหมือนการวิ่งจะช่วยถนอมความหนุ่มและชะลอความแก่ที่ผลที่สุด

ไม่เฉพาะแต่ในมนุษย์เท่านั้น ที่ออกกำลังแล้วทำให้อายุยืนขึ้น แม้แต่ในสัตว์ก็เช่นกัน มีการทดลองใช้หนูตะเภา พบว่า หนูที่ออกกำลังสม่ำเสมอทุกวันจะมีอายุยืนกว่าหนูที่ไม่ออกกำลังถึง 25%

คนที่ต้องรับผิดชอบว่าทำให้มนุษย์หลงผิดไขว้เขวเรื่องการออกกำลังกายมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล คือ ฮิปโปเครติส ซึ่งสั่งสอนลูกศิษย์ไว้ว่า กีฬาทำให้อายุสั้น และด้วยอิทธิพลของฮิปโปเครติส แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่เชื่ออย่างนี้

ในปี 1873 หมอนักปฏิรูปชาวอังกฤษ ชื่อ จอห์น มอร์แกน เป็นคนแรกที่กล้าท้าทายคำสอนของฮิปโปเครติส ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบอายุของชาวอังกฤษโดยเฉลี่ยกับนักกีฬากรรเชียงเรือแข่งขันประเพณีประจำปีระหว่าง ออกฟอร์ด กับ เคมบริดจ์ ระหว่างปี 1829 ถึง 1869 เขาพบว่านักกรรเชียงเรืออายุยืนกว่าชาวอังกฤษทั่วๆ ไปถึง 2 ปีเต็มๆ

ในปี 1932 แอล ไอ ดับลิน ศึกษาประวัตินักศึกษาของทุกคณะในมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ตั้งแต่ปี 1870-1905 โดยเปรียบเทียบอายุยืนของนักกีฬามหาวิทยาลัย 4,976 คน กับบัณฑิตที่ไม่ได้เล่นกรีฑา 38,269 คน พบว่า พวกนักกรีฑาอายุยืนกว่า 3 เดือน

เมื่อเร็วๆ นี้ หมอสองคน ชื่อ อาร์เธอร์ ลีออน และ เฮนรี แบลคเบอร์น พบว่า การออกกำลังกายเป็นเวลา 3-4 ครั้ง จะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นและชีวิตมีคุณภาพขึ้นรวมทั้งอายุยืนขึ้นด้วย

หมอโธมัส บาสส์เลอร์ ยืนยันความเชื่อที่ว่า ใครก็ตามที่สามารถวิ่งมาราธอนจนจบได้ภายในเวลา 4 ชั่วโมงจะมีภูมิคุ้มกันปลอดจากโรคหัวใจเล่นงานนานถึง 5 ปี ที่มีภูมิคุ้มกันโรคหัวใจนี้มิได้เกิดจากการแข่งขันมาราธอนแต่เพราะ
1. การฝึกซ้อมสม่ำเสมอเป็นเวลานานก่อนการแข่งขัน
2. วิถีชีวิตของนักวิ่งมาราธอนที่รักษาสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้าเบียร์ และการควบคุมอาหาร ต่างจากที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันป้องกันโรคหัวใจได้

การศึกษาในประเทศ อีคัวดอร์ ปากีสถาน และรัสเซีย พบเหมือนกันว่าในบรรดาคนที่มีอายุยืนยาวเกิน 100 ปีนั้น ล้วนแต่มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างขยันออกแรงออกกำลังสม่ำเสมอและไม่กินอาหารมัน

ในการแข่งขันชิงแชมป์เปี้ยนโลก นักกีฬาสูงอายุที่โตรอนโต แคนาดา มีผู้เข้าแข่งขันจากนานาประเทศ อายุตังแต่ 30-90 ปี แพทย์ได้ตรวจร่างกายนักกีฬาชาย 128 คน หญิง 7 คน พบว่า สมรรถนะการใช้ออกซิเจนในพวกนี้ดีกว่าประชาชนธรรมดาวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด และพบว่ามีความผิดปกติของหัวใจน้อยกว่าประชาชนทั่วไปด้วย

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายและอายุยืนที่น่าประทับใจที่สุดเห็นจะได้แก่การศึกษาของหมอชาร์ลส์ โรส ที่บอสตันในปี 1965 เขาเที่ยวไปสัมภาษณ์ญาติสนิทของคนที่ตายที่บอสตันในปีนั้นจำนวน 500 ตาย โดยถามคำถามมากมายเกี่ยวกับผู้ตาย เช่น อาหารการกิน ประวัติการดื่ม นิสัยใจคอ งานอดิเรก อาชีพ และการออกกำลังกาย ทั้งที่ทำงานและนอกที่ทำงาน รวมทั้งหมด 200 หัวข้อ แล้วใช้เทคนิคสถิติอันยุ่งยากซับซ้อนเพื่อคำนวณว่า อะไรมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอายุยืนมากที่สุด ผลลัพธ์ออกมาน่าทึ่งมาก คือ พบว่า การออกกำลังในยามว่างนั้นมีประโยชน์มากกว่าการออกกำลังกายในขณะทำงาน ยิ่งกว่านั้นการออกกำลังกายในเวลาว่าง โดยเฉพาะระหว่างอายุ 40-49 ปี เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการมีอายุยืน

มีรายงานอีกอันในปี 1977 พบว่า คนงานท่าเรือที่ซานฟรานซิสโกซึ่งต้องออกแรงทำงานหนัก เป็นโรคหัวใจน้อยกว่าพวกที่ทำแต่งานเบาๆ

สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทั้งในยามว่างหรือยามทำงานล้วนแต่ช่วยทำให้อายุยืนขึ้นทั้งนั้น

ทีนี้เชื่อหรือยังละครับว่า คนก็เอาแต่นั่งกินนอนกินไปวันๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย อย่างพวกที่คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากท้องพ่อท้องแม่นั้นนอกจากจะไม่มีบุญวาสนาอย่างที่เคยเชื่อกันแล้ว ตรงกันข้ามกลับจะเป็นคนบุญวาสนากุดเพราะอายุสั้นด้วย

ข้อมูลสื่อ

51-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 51
กรกฎาคม 2526
รศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม