ประชาชนส่วนใหญ่สามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น |
ฉบับก่อน ๆ ได้กล่าวถึงการตรวจรักษาอาการ “หน้ามืดเป็นลม” ซึ่งอาการหน้ามืดเป็นลมก็คือ อาการไม่รู้สึกตัวเพียงชั่วครู่ (เพียงเดี๋ยวเดียว) เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงอย่างเฉียบพลันเพียงครู่เดียว
อาการไม่รู้สึกตัวในที่นี้จึงหมายถึง อาการไม่รู้สึกตัวที่เป็นนาน (ติดต่อกันเป็นเวลานาน) นั่นเอง
ระดับของอาการไม่รู้สึกตัว
อาการไม่รู้สึกตัว ในทางการแพทย์มีหลายระดับ (ในทางธรรมคงจะมีมากกว่านี้ เพราะอาจนับคนที่ขาด “สติ” ในระดับต่าง ๆ เข้าไปด้วยได้)
ระดับของอาการไม่รู้สึกตัวในทางแพทย์ อาจแบ่งออกเป็น
ระดับหนึ่ง อาการเหม่อลอย หรือหลับใน (absentmindedness, complete blankness, episodic unconsciousness) หมายถึง อาการที่ไม่รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวในขณะนั้นเพียงชั่วครู่ ทั้งที่ไม่ได้หลับ ถ้าเรียกหรือปลุกจะกลับมารู้สึกตัวเต็มที่ใหม่
ระดับที่สอง อาการง่วงหลับ (drowsiness) หมายถึง อาการง่วงมาก จนหลับนก หรือสัปหงก หรืออาการหลับที่ยังปลุกให้ตื่นได้ง่าย และเมื่อตื่นขึ้นแล้ว ยังตอบคำถามต่าง ๆ ได้
ระดับที่สาม อาการซึมมาก หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว (drowsiness) หมายถึง อาการที่ไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาการหลับสนิทจนต้องปลุกอย่างรุนแรงจึงจะตื่น แต่ก็ตื่นอย่างไม่เต็มที่พอที่จะตอบคำถามได้อย่างรู้เรื่อง เมื่อหยุดปลุกหรือหยุดเขย่าตัวคนไข้ คนไข้ก็จะหลับ หรือไม่รู้สึกตัวอีกคนไข้ในระยะนี้ จึงมีลักษณะ คล้ายคนไข้หลับสนิท ถ้าคนไข้ยังหาวและกลืนน้ำลายได้ แสดงว่ายังมีระดับความรู้สึกตัวดีกว่าคนไข้ที่นอนอ้าปากและน้ำลายไหลยืด
ระดับที่สี่ อาการไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติอย่างเบา (semi-conscious-ness, semi-coma, light coma) หมายถึง อาการหลับที่ปลุกอย่างไรก็ไม่ตื่น แต่ถ้าหยิกแรง ๆ หรือใช้ข้อหมัด (ข้อนิ้วมือที่กำหมัดอยู่) กดขยี้ที่กระดูกสันอกส่วนบนแรง ๆ เพื่อให้คนไข้เจ็บมาก ๆ คนไข้จะนิ่วหน้าหรือขยับแขนขาเล็กน้อย แสดงว่ายังรู้สึกตัวเล็กน้อย แต่ไม่สามารถบอกว่าเจ็บ หรือขยับตัวและแขนขาหนีจากสิ่งที่ทำให้เจ็บนั้นได้
ระดับที่ห้า อาการไม่รู้สึกตัวเต็มที่ หรือหมดสติเต็มที่ (unconsciousness, coma, deep coma) หมายถึง อาการไม่รู้สึกตัวอย่างสมบูรณ์ คนไข้จะไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใด ๆ ไม่ว่าจะหยิก จะทุบ จะเขย่าขยี้อย่างไร ก็ไม่แสดงอาการใด ๆ ทั้งสิ้น
อาการไม่รู้สึกตัวฉุกเฉิน
ถ้าคนไข้มาหาด้วยอาการไม่รู้สึกตัว ต้องดูว่าคนไข้ไม่รู้สึกตัวระดับใด ถ้าไม่รู้สึกตัวในระดับที่ห้า, สี่ และสาม ต้องถือว่าเป็นคนไข้ฉุกเฉินมากไปจนถึงฉุกเฉินน้อยตามลำดับ และต้องรีบตรวจรักษาทันที
การตรวจรักษา ให้ทำดังนี้ (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ขั้นตอนการรักษาคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวหรือหมดสติ
ขั้นตอนที่ 1 วางผู้ป่วยนอนหงายราบลงกับพื้น (คนไข้มักอยู่ในท่านอนอยู่แล้ว เพราะไม่รู้สึกตัว) ระวังภาวะกระดูกหัก โดยเฉพาะภาวะกระดูกคอ หรือกระดูกสันหลังหักในคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุ โดยพยายามให้ศีรษะ คอ และลำตัวอยู่ในแนวตรงเดียวกันตลอดเวลา กระดูกที่หักจะได้ไม่ไปกดไขสันหลัง ทำให้หยุดหายใจหรือเป็นอัมพาต
รูปแสดงหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของ
ร่างกายบริเวณที่วงกลมไว้คือบริเวณที่คลำชีพจร
ได้ง่าย
ขั้นตอนที่ 2 คลำชีพจรที่คอ และขาหนีบ (ดูรูป)
ขั้นตอนที่ 3 ถ้าคลำที่ชีพจรที่คอและขาหนีบไม่ได้ ให้ถือว่าคนไข้อยู่ในภาวะ “หัวใจหยุด” (หัวใจหยุดเต้น) ให้รีบทำการฟื้นชีวิต (ดูรูป) แล้วส่งโรงพยาบาล
ถ้าคลำชีพจรที่คอและที่ขาหนีบได้ ให้ดูการหายใจ (ดูวิธีสังเกตการณ์หายใจในหมอชาวบ้านปีที่ 2 ฉบับที่ 17 เดือนกันยายน 2523)
การช่วยคนไข้ที่หมดสติ และคลำชีพจรไม่ได้
1. ใช้กำปั้นทุบตรงกลางหน้าอกผู้ป่วยที่หมดสติ และคลำชีพจรไม่ได้ ถ้าทุบแล้วยังคลำชีพจรไม่ได้ให้
2. ช้อนคอผู้ป่วยขึ้น ให้ศีรษะเงยไปข้างหลัง ปากจะได้เปิดอ้าออกแล้วใช้หมอนหนุนใต้คอและไหล่ แล้งจึง
3.แนบปากลงให้คล่อมปากผู้ป่วย ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกผู้ป่วยไว้แล้วเป่าลมหายใจเข้าไปในปากผู้ป่วยเต็มแรง หลังจากเป่าปากช่วยหายใจแล้งจึง
4. วางมือซ้อนทับกันลงกลางหน้าอกผู้ป่วยในระดับราวนมเหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรงแล้วใช้น้ำหนักตัวกดลงจนกระดูกหน้าอกของผู้ป่วย ยุบลงประมาณ 2 นิ้ว แล้วยกมือขึ้นกดแล้วยก ๆ 3-5 ครั้งติดต่อกัน แล้วเป่าปากผู้ป่วย 1 ครั้ง แล้วจึงมากดหน้าอกผู้ป่วยใหม่สลับกันไปเช่นนี้
ขั้นตอนที่ 4 ถ้าหายใจช้า หายใจไม่ออก หรือหยุดหายใจ ให้รีบช่วยการหายใจ (ดูรูป) แล้วส่งโรงพยาบาล ถ้าหายใจปกติ หรือหายใจเร็ว ให้ล้วงเสมหะและสิ่งของในปาก (เช่น ฟันปลอม อาหาร) ออก แล้วจับคนไข้นอนตะแคงคว่ำ เพื่อให้น้ำมูก น้ำลาย และสิ่งที่คนไข้อาเจียนออกมาสามารถไหลออกทางจมูก ทางปากได้สะดวก และไม่สำลักเข้าสู่หลอดลม
ตารางที่ 2 ขั้นตอนการรักษาคนไข้ที่ถูกสารพิษ
ขั้นตอนที่ 5 ตรวจดูว่าคนไข้ มีกลิ่นเหล้า กลิ่นยาพิษ (สารพิษ) มีน้ำลายฟูมปาก ปากคอไหม้ อาเจียนเลอะ อุจจาระปัสสาวะราด กล้ามเนื้อเต้นหรือชักกระตุกหรือไม่
ถ้ามี ให้การรักษาแบบถูกสารพิษ (ตารางที่ 2)
ถ้าไม่มี ให้การรักษาตาม ขั้นตอนที่ 6
ขั้นตอนที่ 6 ตรวจดูคนไข้ยังกลืนน้ำได้หรือไม่ โดยใช้ช้อนตักน้ำหยอดเข้าไปในปากคนไข้สัก 1 ช้อน แล้วสังเกตดูว่าคนไข้กลืนหรือไม่ (ถ้าคนไข้กลืน ลูกกระเดือก จะเลื่อนขึ้นลง)
ถ้าคนไข้กลืนแล้วไม่มีอาการไอ หรือสำลัก ให้ป้อนน้ำดูอีกสัก 2-3 ช้อน ถ้าคนไข้ยังกลืนได้โดยไม่สำลัก ให้ใช้ช้อนตักน้ำหวาน (น้ำผสมน้ำตาล) ป้อนให้คนไข้ประมาณ 1-2 แก้ว
ถ้าคนไข้ไม่กลืน หรือกลืนแล้วสำลัก ถ้าฉีดยาได้ ควรฉีดกลูโคส 50 เปอร์เซ็นต์เข้าเส้นเลือด ประมาณ 50-100 มิลลิลิตร (ซี.ซี.)
ขั้นตอนที่ 7 หลังให้น้ำตาลแก่คนไข้แล้ว ไม่ว่าจะให้ทางปากหรือทางการฉีดเข้าเส้น ให้สังเกตอาการคนไข้
ถ้าคนไข้ฟื้นคืนสติ (ตื่น) แสดงว่าคนไข้หมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) เพราะน้ำตาลในเลือดไม่พอ (น้ำตาลพร่องในเลือด หรือ hypoglycemia) ให้คนไข้กินของหวาน ๆ และอาหารเพิ่มขึ้น แล้วสาเหตุของภาวะน้ำตาลพร่องในเลือด (ตารางที่ 3) เพื่อการรักษาสาเหตุต่อไป
1.1 หลังกินอาหารอิ่มมากในบางคน 1.2 เบาหวานระยะแรกในผู้ใหญ่ 1.3 เด็กที่แพ้สารพิวรีนซีน ( leucine hypersensitivity ) 1.4 กรรพันธุ์ 1.5 ไม่รู้สาเหตุ
2. เกิดในขณะ " อด " เช่น 2.1 ออกกำลังกายมากเกินไป 2.2 ขาดอาหาร เช่น ร่างกายขาดอาหารมานาน ระยะหลังของการตั้งครรภ์ ( ท้องแก่ ) เด็กคลอดก่อนกำหนด ทารกและเด็กบางคน 2.3 ทารกที่เกิดจากแม่ที่เป็นเบาหวาน 2.4 โรคตับ และตับอ่อน 2.5 โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไตและต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น 2.6 ไตปล่อยน้ำตาล ( renal glycosurin ) 2.7 ดื่มสุรามาก ใช้ยาแก้โรคเบาหวานมากเกินไป เป็นพิษจากยาแก้ปวดไข้พวกซาลิซิเลต ( salicylates )เช่น ที่มีอยู่ในแอสไพลิน ยาพีซี ยาทัมใจ และยาประสระนอแรด เป็นต้น |
ถ้าคนไข้ไม่ฟื้นคืนสติให้ระวังการหายใจให้คนไข้นอนตะแคงคว่ำเพื่อป้องกันการสำลักน้ำมูกน้ำลายและสิ่งที่อาเจียนออกมาแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
( อ่านต่อฉบับหน้า )
- อ่าน 51,889 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้