โภชนาการ หมายถึง อาหารที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แล้วร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต การค้ำจุน และการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นการได้อาหารที่เพียงพอและถูกสัดส่วน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง |
โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นโรคพยาธิที่มีความสำคัญยิ่งที่พบมากในคนไทย โดยเฉพาะคนอีสาน พบว่า มีประมาณถึง 7 ล้านคนที่เป็นโรคนี้ รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ และภาคกลางตามลำดับ นอกจากจะพบในคนแล้ว พยาธิใบไม้ตับยังพบในแมว และสุนัข
⇒พยาธิใบไม้ตับมีรูปร่างอย่างไร และเข้าสู่ร่างกายของคนได้อย่างไร
พยาธิใบไม้ตับมีรูปร่างลักษณะคล้ายใบไม้ ตัวบาง ขณะมีชีวิตมีลักษณะเป็นสีเนื้อใส ขนาดเฉลี่ยของความกว้าง 1.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7.4 มิลลิเมตร แม้มีขนาดเล็กแต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การติดต่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายของคน เนื่องมาจากไข่พยาธิที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในจะออกมากับอุจจาระของคน เมื่อคนถ่ายอุจจาระลงน้ำ ไข่จะถูกกินโดยหอยน้ำจืด ซึ่งพบได้ตามแหล่งน้ำและทุ่งนา จากนั้นตัวอ่อนภายในไข่จะมีพัฒนาการจนมีลักษณะเป็นหางยาว แล้วไชออกจากหอยลงสู่น้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปลาน้ำจืดกินตัวอ่อนพยาธินี้เข้าไป ตัวอ่อนจะเช้าไปอยู่บริเวณเกล็ดเนื้อปลาและหัวปลา เมื่อเข้าไปอยู่ในปลาจะอยู่ในลักษณะเป็นถุงซีสต์ ตัวอ่อนที่อยู่ในปลานี่เองที่ทำให้เกิดการติดต่อ
ปลาน้ำจืดที่พบว่ามีพยาธิใบไม้ตับ ได้แก่ ปลาสูด ปลาซิว ปลาแม่สะแด้ง ปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลาตอง และปลาขาวนา เป็นต้น
คนได้รับพยาธิใบไม้ตับโดยการกินปลาเหล่านี้ โดยเฉพาะกินดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ลาบแจ่ว หรือโดยวิธีปิ้ง นึ่งให้แห้งเฉพาะผิวนอกของตัวปลา แต่ในเนื้อปลายังคงดิบอยู่ ดังนั้น ความร้อนจึงเข้าไม่ถึงเนื้อปลาส่วนใน พยาธิจึงยังมีชีวิตอยู่ เมื่อร่างกายของคนได้รับตัวอ่อนของพยาธิในลักษณะถุงซีสต์เข้าไปที่ลำไส้เล็กของคน ตัวอ่อนที่อยู่ภายในถุงซีสต์จะไชออกมา แล้วเดินทางไปสู่ตับ โดยผ่านทางเดินของท่อน้ำดี เจริญเป็นตัวแก่บริเวณท่อน้ำดีในตับ พยาธิใบไม่ตับนี้สามารถอยู่ในร่างกายของคนได้นาน 20-25 ปี
⇒พยาธิใบไม้ตับก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายของคนอย่างไร
โทษจากพยาธิใบไม้ตับต่อร่างกายของคนนั้นมีความรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิ และระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในตัวคน และสุขภาพของคนผู้นั้น ความผิดปกติของพยาธิใบไม้ตับ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะพบอาการของโรคหลังจากพยาธิเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 3 เดือนขึ้นไป ดังนั้น ถ้ามีพยาธิน้อย คือประมาณ 100-200 ตัว ก็จะไม่พบอาการผิดปกติของร่างกายแต่อย่างใด แต่ผลเสียคือ คนคนนั้นจะเป็นผู้ที่ทำให้โรคแพร่กระจายต่อไป ในรายที่มีพยาธิมากกว่า 200 ตัว ขึ้นไป อาการที่จะพบได้มีตั้งแต่ท้องขึ้น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เจ็บ ๆ ร้อน ๆ ที่ตับ ถ่ายอุจจาระบ่อย ตับโต ระคายเคืองท่อน้ำดี มีอาการอุดตันของทางเดินท่อน้ำดีจนเกิดการอักเสบ และในที่สุดก่อให้เกิดมะเร็งในท่อน้ำดี มะเร็งในตับ และเสียชีวิตในที่สุด
ในแง่ผลเสียต่อภาวะโภชนาการนั้น พบว่า การดูดซึมของวิตามินต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะวิตามิน บี 12 ในรายที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคขาดอาหาร และโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ก็จะเห็นผลทางความผิดปกติเร็วและรุนแรงมากขึ้น ผลร้ายที่ตามมาของโรคนี้คือบั่นทอนสุขภาพของคนอย่างเรื้อรัง ทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน ก่อให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาคุณภาพของคน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
⇒ เราทราบได้อย่างไรว่าเป็นพยาธิใบไม้ตับ
การวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับกระทำได้โดยการตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิ ประกอบกับการซักประวัติผู้ป่วยโดยเฉพาะในรายที่มาจากภาคอีสาน ซึ่งมีบริโภคนิสัยการกินอาหารปลาที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรือกินปลาดิบ ในรายที่มีอาการซับซ้อน อาจจะต้องวินิจฉัยโดยการเจาะน้ำดีหรือตับเพื่อตรวจหาพยาธิ ดังนั้น เมื่อท่านพบว่าท่านมีอาการต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ควรรีบไปพบและปรึกษาแพทย์
⇒การรักษาพยาธิใบไม้ตับ
ปัจจุบันมียารักษาโรคพยาธิใบไม้ตับซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงและมีผลข้างเคียงน้อย แต่เป็นยาที่มีราคาแพง จึงเป็นข้อจำกัดของการรักษาโรคนี้ในหมู่คนจน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พบโรคพยาธิใบไม้ตับกันมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะรักษาด้วยยาแล้วได้ผลดี แต่ระหว่างการให้ยารักษาก็ต้องมีการปรับปรุงด้านสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม และบริโภคนิสัยควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพราโรคพยาธิใบไม้ตับที่รักษาหายแล้วนี้ สามารถกลับเป็นโรคนี้ซ้ำได้อีก
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยพบว่า ในรายที่รักษาหายแล้ว สามารถกลับเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับซ้ำได้อีกภายใน 1-2 ปีเท่านั้น ดังนั้นการรักษาด้วยยาจึงเป็นมาตรการสุดท้ายของการกำจัดโรค แต่ที่สำคัญที่สุดควรช่วยกันให้ความสนใจ และเน้นหนักต่อวิธีการป้องกันการระบาดของโรค เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะตามมา
⇒การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ
การป้องกันให้ได้ผลนั้นควรทำความเข้าใจกับสาเหตุของการเกิดโรคอย่างถ่องแท้ สาเหตุโดยตรงของการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับเกิดจากการกินอาหารในลักษณะดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ การบริโภคเช่นนี้ถือว่า เป็นเรื่องของบริโภคนิสัย และพบว่า นิสัยการบริโภคอาหารปลาดิบนี้ มีความซับซ้อนและสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัจจัยด้านสังคม และวัฒนธรรม ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรุงอาหาร เช่น เข้าใจผิดคิดว่าอาหรก้อยปลาเป็นอาหารสุกแล้ว เพราะผ่านการปรุงด้วยน้ำมะนาวหรือน้ำมะขาม หรือแม้แต่ความเปรี้ยวของมดแดง เป็นต้น นอกจากนี้ วิถีชีวิตของคนโดยเฉพาะ ภาคอีสานมีข้อจำกัดของแหล่งอาหารเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้มีการระบาดของโรคทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ตระหนักถึงผลลัพธ์ของโรค ซึ่งพบเสมอในคนที่ชอบบริโภคอาหารดิบ ๆ เนื่องจากอาการของโรคพยาธิใบไม้ตับจะไม่ปรากฏให้เห็นทันทีที่ร่างกายได้รับพยาธิเข้าไป แต่จะใช้เวลานานประมาณ 3-4 เดือน และกว่าจะตรวจพบร่างกายก็อยู่ในสภาพย่ำแย่หรือรุนแรง จนแทบจะแก้ไขไม่ทัน ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่ง
การป้องกันการกระทำได้โดย
ประการแรก ฝึกนิสัยการกินอาหารที่ผ่านการปรุงให้สุก
ประการที่สอง ถ่ายอุจจาระในส้วม หลีกเลี่ยงการถ่ายลงในน้ำหรือที่ชื้นแฉะอย่างเด็ดขาด เพราะพื้นที่ชื้นแฉะจะช่วยให้พยาธิมีชีวิตได้เป็นอย่างดี
ประการที่สาม กำจัดหอยที่เป็นแหล่งฟักตัวของพยาธิ
ประการที่สี่ ในคนที่รักแมวและสุนัข ควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงทั้งสองชนิดนี้อย่างใกล้ชิด
การป้องการประการสุดท้าย คือ การให้สุขศึกษาเพื่อสร้างสุขนิสัยที่เหมาะสม ปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และสร้างความเข้าใจเรื่องราวของพยาธิใบไม้ตับเป็นอย่างดียิ่ง
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวิธีการป้องกันในเฉพาะบุคคล และก่อนที่จะจบบทความนี้ ใคร่ขอฝากข้อคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ขณะนี้พื้นที่ภาคอีสาน กำลังได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นประเด็นหลักของโครงการพัฒนาต่าง ๆ และการเพาะเลี้ยงปลาตามแหล่งน้ำเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ชาวอีสานมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ แต่จากการศึกษาของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับนั้นมีมากขึ้นตามแหล่งน้ำดังนั้น การให้โภชนศึกษา เพื่อให้ชาวบ้านได้บริโภคอาหารให้เหมาะสม ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้การระบาดของโรคลดลงหรือหมดไปได้
วงจรชีวิตของพยาธิ
1.คนกินปลาที่มีพยาธิตัวอ่อนโดยไม่ทำให้สุกเสียก่อน
2.พยาธิตัวอ่อนออกมาเจริญเป็นตัวแก่ในตับ
3.พยาธิตัวแก่ออกไข่ที่ท่อน้ำดีลงสู่ลำไส้เล็ก
4.ไข่พยาธิปนออกมากับอุจจาระลงสู่แหล่งน้ำจืด
5.หอยน้ำจืดชนิดหนึ่งกินไข่พยาธิ ไข่จึงเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ในตัวหอย
6.ตัวอ่อนออกจากหอยไชเข้าปลาน้ำจืด
7.เเล้วเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 ขดตัวเป็นถุง ฝังอยู่ในเนื้อปลา
- อ่าน 34,153 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้