• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำอย่างไร เมื่อหน้าต่างของหัวใจเกิดการอักเสบ

คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วยโดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรค หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม กรุณาเขียนถามมาได้

ถ้าท่านผู้อ่านสนใจติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับโรคระบาดต่าง ๆ จากหน้าหนังสือพิมพ์ในระยะนี้ คงจะเห็นข่าวการระบาดของโรคตาแดงอักเสบอยู่บ่อย ๆ จึงเป็นหัวข้อที่ผมอยากจะหยิบยกขึ้นมาในฉบับนี้ โดยมิได้มีจุดประสงค์จะพูดอะไรเกี่ยวกับโรคหัวใจแต่อย่างใด แต่ที่จั่วหัวไว้ก็เนื่องจากคำพังเพยที่ว่า “ดวงตาคือหน้าต่างของดวงใจ” ก็เลยขอยืมคนโบราณมาใช้หน่อยครับ

โรคตาแดงอักเสบมีความสำคัญทางสาธารณสุข ไม่ได้เกิดจากความรุนแรงของโรคแต่อย่างใด เพราะถ้าดูจากความรุนแรงของโรคแล้ว มีโรคอื่นอีกมากมายที่มีความรุนแรงของโรคมากกว่า เช่น โรคไข้สมองอักเสบ, โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น ที่จัดได้ว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงลำดับต้น ๆ แต่โรคตาแดงอักเสบมีความสำคัญจนจัดให้เป็นโรคหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังจากข่ายงานของกระทรวงสาธารณสุข ก็เนื่องมาจากจำนวนผู้ป่วยที่เกิดในแต่ละปีมีจำนวนมาก และความไวของการแพร่โรคนั่นเอง ดังเช่นมีรายงานการเฝ้าระวังโรคจากกองระบาดวิทยาว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคตาแดงอักเสบถึงปีละเกือบแสนราย จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา จากนั้นก็ลดลงมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 60,000 กว่ารายขึ้นไปแม้จะไม่พบผู้เสียชีวิตเลยก็ตาม

จากการสอบสวนโรคตาแดงอักเสบหลาย ๆ หนในระยะหลังนี้ พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทหลายครั้งที่เกิดขึ้นมา ซึ่งอาจมีผลต่อความสวยงามเกิดขึ้นตามมาได้ เช่น มีอาการปากเบี้ยว, หนังตาหลับไม่สนิท ตลอดจนอาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแอเกิดขึ้น เป็นต้น
โรคตาแดงอักเสบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นโรคที่เกิดเนื่องจากเชื้อไวรัส ที่มีชื่อสายพันธุ์เอนเทอโร 70 เป็นส่วนใหญ่ (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยไวรัส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) การป่วยมักจะไม่เลือกหน้า คือพบได้ในทุกกลุ่มอายุใกล้เคียงกัน อาการมักเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว โดยเริ่มจากอาการปวดหรือเคืองคล้ายผงเข้าตา โรคจะมีการดำเนินไปจนถึงมีเปลือกตาบวม เยื่อบุตาอักเสบแดง มักพบอยู่รอบ ๆ ตาดำ มีน้ำตาไหล บางรายมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาได้ มักพบเป็นทั้ง 2 ข้าง

ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจคล้ายหวัด โรคจะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีหนองจากตา แต่เมื่อพบหนองเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีอาการติดเชื้อซ้ำเติมจากแบคทีเรีย
แต่การติดเชื้อมักเป็นการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งหลั่ง เช่น ขี้ตา, น้ำตาของผู้ป่วย นอกจากนี้เราอาจติดโรคจากละอองเสมหะหรือน้ำลายของผู้ที่มีเชื้อในลำคอ การติดต่อกันในบ้านมักเกิดจากการใช้สิ่งของ เช่น ผ้าเช็ดตัว, ขันน้ำ, ผ้าเช็ดหน้า, สบู่ร่วมกัน แต่ในโรงเรียนเด็ก ๆ มักแพร่เชื้อได้เร็วจากการเล่นสัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนนักเรียนคนอื่นที่ป่วยการแพร่เชื้อให้ถือว่า ช่วงที่ผู้ป่วยยังมีอาการอยู่ เป็นระยะที่สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ตลอดเวลา เนื่องจากโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะสามารถกลับเป็นได้อีก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราพบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ ทั้งนี้สาเหตุทางการแพทย์ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมา ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้

 

ทำอย่างไรดี ?
เมื่อท่านผู้อ่านทราบรายละเอียดของโรคตาแดงอักเสบแล้ว คราวนี้ก็จะมาถึงคำตอบที่ว่า จะทำอย่างไรดี ถ้าเราเกิดมีผู้ป่วยขึ้นมาในครอบครัว หรือท่านที่เป็นครูอาจารย์ก็อาจจะมีคำถามว่า จะทำอย่างไร ถ้าเกิดมีผู้ป่วยนั้นในห้องเรียน คำตอบก็คือ ให้ระวังวิธีการแพร่โรคต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เพราะยังไม่ได้มีการรักษาเฉพาะโรคตาแดงอักเสบจากเชื้อไวรัสนั่นเอง

สำหรับการแยกผู้ป่วยในครอบครัว หากสามารถแยกห้องเวลานอน ในระยะเวลาที่มีอาการ ก็จะช่วยสกัดกั้นการแพร่กระจายโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากแยกไม่ได้ ก็ควรระวังในการติดเชื้อจากปลอกหมอนของผู้ป่วย ควรมีการเปลี่ยนซักทุกวัน
การป้องกันที่ได้ผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ การหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ไม่ป่วย
สำหรับผู้ป่วยที่พบในชั้นเรียน ควรหยุดเรียนประมาณ 3-7 วัน ในช่วงที่มีอาการมาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อไปในชั้นเรียน การให้สุขศึกษาแก่นักเรียนบ้างเป็นบางระยะ จะเป็นการให้ความรู้ในการป้องกันที่ดีวิธีหนึ่ง

การรักษา เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวดพาราเซตมอล หรือแอสไพรินเมื่อมีไข้ หรือปวดตามาก และใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาที่มียาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน และถ้าหากตาแดงอักเสบมีหนองหรือตื่นเช้ามามีขี้ตามากผิดปกติจนตาติดกันเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ ดังนั้นความรู้อันนี้คงช่วยทำให้ “หน้าต่างของดวงใจ” ของทุกท่าน ปลอดภัยจากการอักเสบนะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

114-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์