บรรดากล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตป่าของประเทศไทยนั้น ดูเหมือน "ช้าง" จะเป็นชื่อที่ชาวไทย รู้จักคุ้นเคยมากที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าสถานะของช้างที่เป็นกล้วยไม้ กับช้างที่เป็นสัตว์ป่ามีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ช้างนับเป็นราชาในหมู่สัตว์ป่าไทย เช่นเดียวกับ "ช้าง" ก็เป็นราชาในหมู่กล้วยไม้จากป่าไทยนั่นเอง
"ช้าง" : กล้วยไม้ที่มีลักษณะคล้ายช้าง
ช้าง ในวงการกล้วยไม้มีความหมาย 2 อย่าง คือ ก. เป็นชื่อของสกุล (Genus) กล้วยไม้ คือ สกุล Rhynchostylis ข. เป็นชื่อของกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง คือ ชนิด Rhynchostylis gigantea ซึ่งอยู่ในสกุลช้างนั่นเอง ปัจจุบัน พบกล้วยไม้ในสกุลช้างตามธรรมชาติเพียง 4 ชนิด คือ ช้าง (R. gigantea) ไอยราหรือพวงมาลัย (R. retusa) เขาแกะ (R.coelestis) และช้างฟิลิปปินส์ (R.violacea) ในประเทศไทยพบ 3 ชนิด คือ ช้าง ไอยเรศ (พวงมาลัย) และเขาแกะ ส่วนช้างฟิลิปปินส์พบเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์
สำหรับกล้วยไม้ชนิดที่เรียกว่า ช้าง (R. gigantea) นั้น พบอยู่ในป่าธรรมชาติของไทยทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศพม่า จีน ลาว เขมร เวียดนาม อินโดนีเซีย และหมู่เกาะทะเลจีนตอนใต้ ช้างเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดลำต้น ใบ ใหญ่กว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นที่อยู่ในสกุลเดียวกัน
ใบหนาค่อนข้างแข็ง ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร มีลายสีเขียวแก่สลับสีเขียวอ่อนเป็นทางขนานกันตามความยาวของใบ ปลายใบหยักมนเป็น 2 แฉก ไม่เท่ากัน
ราก เป็นรากอากาศมีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว
ช่อดอก รูปทรงกระบอกโค้ง แต่ไม่ต่ำจนห้อยย้อย ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อละราว 30-60 ดอก ขนาดดอกประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร โดยทั่วไปกลีบดอกมีพื้นสีขาว มีจุดกระสีม่วงแดง เป็นเม็ดเล็กหรือใหญ่ กระจายอยู่บนพื้นสีขาวของกลีบดอก ทำให้ช้างแบ่งออกเป็น ๓ ชื่อย่อย ตามสีของกลีบดอก คือ
ก. ช้างเผือก กลีบดอกสีขาวบริสุทธิ์ ไม่มีจุดสีอยู่บนกลีบดอกเลย ส่วนที่เป็นปากอาจมีสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียว
ข. ช้างกระ กลีบดอกมีพื้นสีขาว มีจุดกระสีม่วงแดง เป็นเม็ดเล็กหรือใหญ่ ที่กลีบดอกทุกกลีบ ปากมีสีม่วงแดง
ค. ช้างแดง กลีบดอกเป็นสีม่วงแดง อาจมีสีขาวหลงเหลืออยู่บ้างที่โคนกลีบดอก
ทั้ง 3 ชื่อย่อย เป็นกล้วยไม้พันธุ์เดียวกัน ต่างกันที่สีดอกเท่านั้น ศาสตราจารย์ระพี สาคริก สรุปว่า ความแตกต่างเกิดจาก จุดสีม่วงแดงบนพื้นกลีบดอกนั่นเอง
สำหรับชื่อช้างนั้น สันนิษฐานว่า ได้จากลักษณะ ลำต้น ใบ ราก ช่อดอก ที่ใหญ่กว่าชนิดอื่น หรืออาจได้จากดอกที่มีรูปร่างคล้ายหัวช้าง โดยมีเดือยดอกคล้ายกับงวงช้าง
ดอกของช้างมีกลิ่นหอมฉุน ส่งกลิ่นไปไกล ออก ดอกบานระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ และบานทนได้ประมาณ 2 หรือ 3 สัปดาห์
ช้างเป็นกล้วยไม้ที่เหมาะสำหรับเกาะกับต้นไม้ใหญ่มาก เพราะมีรากที่แข็งแรง ทนทานต่อดินฟ้าอากาศ และใบที่สามารถสะสมอาหารเอาไว้สำรองในช่วงแห้งแล้งได้ดี
เอื้อเฟื้อภาพจาก
หนังสือกล้วยไม้เมืองไทย เขียนโดย รศ.ดรอบฉันท์ ไทยทอง
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บ้านและสวน
- อ่าน 10,028 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้