ภาวะมีบุตรยาก : ทัศนะแพทย์แผนจีน
ฉบับที่แล้วพูดถึงความหมายและภาวะมีบุตรยาก ในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน ฉบับนี้จะต่อด้วยทัศนะของแพทย์แผนจีน
ภาวะมีบุตรยากในทัศนะแพทย์แผนจีน
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประจำเดือน
ประจำเดือนเป็นสิ่งที่ขับระบายออกจากมดลูก เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการทำงานของอวัยวะภายในจั้งฝู่ เลือดและพลัง รวมถึงการคล่องตัวไม่ติดขัดของพลังเลือดในเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้อง
อวัยวะภายในจั้งฝู่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ ไต หลังจากอายุ 7 ขวบ พลังไตค่อยๆ เติมเต็มสะสมมากขึ้นทำให้ระบบสืบพันธุ์ของเพศชายและหญิงค่อยๆ เจริญเติบโต อายุ 14 ปี เป็นช่วงที่ระบบสืบพันธุ์ สุกงอมเริ่มทำงานได้ (สามารถมีการตั้งครรภ์) เริ่มมีประจำเดือนเกิดขึ้น
พลังไต ยังคงทำงานจนถึงภาวะสูงสุด ที่อายุประมาณ 28 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง จนถึงอายุ 49 ปี ระบบสืบพันธุ์เริ่มเสื่อมถอย ภาวะเจริญพันธุ์หมดลง ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
ทัศนะแพทย์จีน "ไต" เป็นที่เก็บสารจิง ซึ่งเป็นรากฐานการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการของระบบสืบพันธุ์ (มีส่วนสัมพันธ์กับระบบฮอร์โมนของแผนปัจจุบัน)
ไตยังเป็นแหล่งของพลังพื้นฐานดั้งเดิม ซึ่งมีความสำคัญแบ่งได้เป็นไตยิน และไตหยาง
พลังไต เป็นกลไกสำคัญของภาวะสมดุลของร่างกายทั้งระบบ
เมื่อพลังไต หรือพลังพื้นฐานดั้งเดิม มีความผิดปกติ ย่อมกระทบต่ออวัยวะภายในทั้งระบบ และมีผลต่อสารจิงของไต และระบบการสืบพันธุ์ รวมถึงการมีประจำเดือนที่ไม่ปกติ
พลังไต ไหลเวียนในเส้นลมปราณไต และสัมพันธ์กับเส้นลมปราณชง ซึ่งมีจุดกำเนิดบริเวณมดลูก การไหลเวียนเลือดและพลังของเส้นลมปราณไต และเส้นลมปราณเยิ่นม่าย (แนวกลางลำตัวด้านหน้า) จึงเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมดลูก การมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ (เกิดการหล่อเลี้ยงสารยินและอุ่นร้อนของพลังหยางของมดลูกที่เหมาะสม)
นอกจากนี้ยังมีเส้นลมปราณตู๋ม่าย (แนวกลางลำตัวด้านหลัง) และต้ายม่าย (ผ่านรอบเอว) ที่มาหล่อเลี้ยงซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน และการสร้างสารน้ำ หล่อเลี้ยงของระบบสืบพันธุ์
อวัยวะตับเกี่ยวข้องกับการเก็บเลือด สำหรับบำรุง เลี้ยงร่างกาย และไหลเวียนลงล่าง ผ่านเส้นลมปราณม่าย (เกี่ยวข้องกับมดลูก) ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งกำกับ "ทะเลเลือด" ตับยังเกี่ยวข้องความแปรปรวนทางอารมณ์อีกด้วย
เส้นลมปราณตับยังไหลเวียนผ่านบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ (ในผู้หญิงบทบาทของประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับตับเป็นหลัก) ผ่านท้องน้อย ชายโครงและเต้านม
ความผิดปกติของตับจึงมีการแสดงออกหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนผิดปกติ คัดหน้าอก อึดอัด ชายโครง อารมณ์หงุดหงิด (มีผลให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน) ปวดท้องน้อย เลือดและพลังไหลเวียนไม่สะดวก ปวดประจำเดือน เกิดก้อน หรือพังผืดของมดลูก
ความผิดปกติของอวัยวะม้ามที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเลือดและพลัง และการลำเลียงอาหารไปเลี้ยงส่วน ต่างๆ รวมถึงเสริมเติมพลังของไต ดังนั้น ระบบม้ามที่บกพร่องย่อมกระทบต่อปัญหาการไหลเวียนชี่ที่ไปยังเส้นลมปราณม้ามและไต รวมถึงอวัยวะสืบพันธุ์
สรุป
ภาวะปกติของระบบสืบพันธุ์ เกี่ยวข้องกับ
1. อวัยวะภายใน คือไต (เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน) ตับ (โดยเฉพาะผู้หญิง) ม้าม รวมถึง ปอด หัวใจ (ตามหลักปัญจธาตุ)
2. พลังไต ความสมดุลของยิน หยาง (ไตยิน - ไตหยาง) เลือด พลังซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานและสร้างเสริมสารจิง (ฮอร์โมน) ที่ดีและพอเพียง
3 เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือดและพลังใน เส้นลมปราณชงม่ายหรือทะเลเลือดของ 12 เส้นลมปราณ (มดลูก) เยิ่นม่าย (ภาวะยิน) และตู๋ม่าย (ภาวะหยาง) และต้ายม่าย (ร้อยรัดเชื่อมประสานเส้นลมปราณที่ผ่านขึ้นลงทั่วร่างกาย)
การวินิจฉัยและการรักษาตามทัศนะแพทย์แผนจีน
แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญของการแยกแยะภาวะร่างกาย
1. เป็นภาวะพร่อง หรือแกร่ง - เพื่อวางแผนว่าจะบำรุงส่วนขาดหรือขับส่วนเกิน
- ประจำเดือนมาช้า ประจำเดือนมีปริมาณน้อย สีซีด หรือคล้ำจาง ตกขาวน้อย ปวดท้องน้อย แบบหน่วงๆ ประคบน้ำร้อนอาการดีขึ้น จัดเป็นประเภทพร่อง - ต้องบำรุง
- ถ้าประจำเดือนมาเร็ว สีเลือดคล้ำเป็นก้อน ปวดท้องน้อยรุนแรง เอามือกดหรือน้ำร้อนประคบจะรู้สึกไม่สบาย จัดเป็นภาวะแกร่ง - ต้องขับ
- บางรายมีทั้งภาวะพร่องและแกร่งร่วมกัน
2. สาเหตุความผิดปกติ แบ่งเป็นหลายประเภท
พลังไตพร่อง
ไม่มีครรภ์เป็นเวลานานตั้งแต่แต่งงาน ประจำเดือนมักเลื่อนมาช้ากว่ากำหนด บางครั้งประจำเดือนหยุดหายไปเลย ปริมาณน้อยสีจางหรือสีคล้ำ ใบหน้าสีดำคล้ำ ปวดเมื่อยขาและเอว ความต้องการทางเพศน้อย ตกขาวมากและเหลว อุจจาระเหลว ขนบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์บางไม่หนาแน่น มดลูกมักมีขนาดเล็ก ลิ้นสีซีด ฝ้าบนลิ้นขาว ชีพจรเล็ก ลึก และช้า
หลักการรักษา : อุ่นไตเสริมจิง บำรุงเส้นลมปราณชง-เยิ่น
ตำรับยา : ยวี่-หลิน-จู ปรับลดยาตามสภาพ
ตับไตพร่อง
อาการสำคัญ : ภาวะมีบุตรยาก มีประจำเดือนช้ากว่าปกติ ปริมาณน้อย สีจางหรือคล้ำ
ถ้าเป็นรุนแรง ก็จะไม่มีประจำเดือน รูปร่างผอม ฝ่ามือฝ่าเท้าและหน้าอกร้อนผ่าว เวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู ใจสั่น นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยเข่าและเอว ตัวลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นน้อย ชีพจรตึงและเล็ก
หลักการรักษา : บำรุงเสริมตับไต เสริมจิง บำรุงยิน ,
ตำรับยา : เอ้อ-จวื้อ-ตี้-หวง-ทัง ปรับลดยาตามสภาพ
เลือดและพลังพร่อง
อาการสำคัญ : ประจำเดือนมีปริมาณน้อยและจาง หรือไม่มีประจำเดือน ใบหน้าสีเหลืองขุ่นมัว ผิวหนังไม่มีประกาย ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง เวียนศีรษะตาลาย ใจสั่น หายใจตื้น บางรายมีมดลูกเจริญไม่ดี ตัวลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรเล็กอ่อนแอ
หลักการรักษา : บำรุงเลือดและพลัง เลี้ยงพยุง เส้นลมปราณสู่มดลูก ,
ตำรับยา : ปา-เจิน-ทัง ปรับลดยาตามสภาพ
พลังหัวใจและตับอุดกั้น
อาการสำคัญ : มักมีอารมณ์หงุดหงิด ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปริมาณน้อยสีคล้ำ หรือประจำเดือนติดขัด ปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน มีอาการคัดหน้าอกก่อนมีประจำเดือน แน่นหน้าอกและชายโครง นอนไม่หลับ ฝันร้าย ตัวลิ้นแดงคล้ำ ฝ้าบนลิ้นขาวบาง ชีพจรตึงหรือเล็กตึง
หลักการรักษา : ระบายตับลดการอุดกั้น ปรับเลือดและพลัง ,
ตำรับยา : ไค-ยวี้-จ้ง-ยวี้ทัง ปรับลดยาตามสภาพ
พลังติดขัดเลือดอุดกั้น
อาการสำคัญ : เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ มีการแท้งมาก่อน หรือเคยผ่าตัดเกี่ยวกับมดลูก รังไข่มาก่อน ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ปริมาณติดขัด ประจำเดือนเป็นก้อน ปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเอามือกดแล้วปวดมากขึ้น ตัวลิ้นม่วงคล้ำ มีจุดเลือดตกค้าง ชีพจรตึงและฝืด
หลักการรักษา : ทำให้เลือดเดินสลายการอุดกั้นของเลือด ทำให้การไหลเวียนของเส้นลมปราณที่ไปมดลูกคล่อง ไม่ติดขัด
ตำรับยา : ซ่าว-ฝู-จู๋-ยวี-ทัง ปรับลดยาตามสภาพ
เสมหะความชื้นตกค้างภายใน
อาการสำคัญ : รูปร่างอ้วน ใบหน้าค่อนข้างขาว ซีด เวียนศีรษะใจสั่น ตกขาวปริมาณมากและหนืด ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ปริมาณน้อย หรือไม่มีประจำเดือน จุกแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง ความต้องการ ทางเพศน้อย ลิ้นบวมซีด ฝ้าบนลิ้นเหนียวขาว ชีพจรลิ้น
หลักการรักษา : สลายชื้น-เสมหะ บำรุงม้าม-ปรับพลัง ,
ตำรับยา : ฉี่-กง-หวาน ปรับลดยาตามสภาพ
ร้อนชื้นไหลลงสู่ส่วนล่าง
อาการสำคัญ : ตกขาวมาก ลักษณะเหนียว สีขาวหรือสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาไม่ตามกำหนด ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว
หลักการรักษา : ขับร้อนสลายชื้น ปรับเส้นลมปราณ ชง-เยิ่น ,
ตำรับยา : ซื่อ-เหมี้ยว-หวาน ปรับลดยาตามสภาพ
เปรียบเทียบภาวะมีบุตรยาก แผนปัจจุบันแผนจีน
แผนปัจจุบันมีแนวคิดการวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก เน้นไปที่ตัวอสุจิและไข่ รวมถึงฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการทำให้เกิดปฏิสนธิระหว่างตัวอสุจิกับไข่ รวมถึงเทคนิคการนำตัวอ่อนไปฝังตัวในมดลูก
การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่ตัวอสุจิ ที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ กับการกระตุ้นการตกไข่ กรณีที่การตกไข่ผิดปกติ กระทำการทุกอย่างให้ไข่และอสุจิเจอกัน โดยการฉีดเชื้อเข้าไปในโพรงมดลูก ร่วมกับการกระตุ้นไข่ให้ตกหลายๆ ฟอง เพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ
เมื่อยังไม่สำเร็จ ก็พิจารณาใช้วิธีการนำไข่กับอสุจิ ผสมกันก่อนภายนอกที่เรียกว่าเด็กหลอดแก้ว แล้วเลี้ยง ให้มีการแบ่งเซลล์ได้มากกว่า 120 เซลล์ เป็นตัวอ่อนที่แข็งแรง เรียกว่า บลาสโตซิส จากนั้นนำกลับฝังตัวที่โพรงมดลูก หรือที่ท่อนำไข่
กรณีเชื้ออสุจิผู้ชายอ่อนแอมากหรือไม่พบเชื้อในน้ำอสุจิ จะใช้วิธีดูดเชื้ออสุจิจากอัณฑะ แล้วฉีดเข้าไปในไข่โดยตรงเลย
จุดเด่นของแผนปัจจุบันคือพยายามค้นหาสาเหตุที่จำเพาะแน่นอน แล้วแก้ปัญหาตรงนั้นล้วนๆ (มองแบบกลไก) รวมถึงการใช้เทคนิคขั้นสูงในการพยายามให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่ และทำการฝังตัวให้ได้
จุดอ่อนแผนปัจจุบันคือการมองปัญหาภาวะมีบุตรยาก แยกจากภาวะความผิดปกติและความเสียสมดุลของร่างกายโดยองค์รวม การรักษาจึงไม่ให้ความสนใจในปัจจัยอื่น หรือสภาพองค์รวมของร่างกาย เพราะในความเป็นจริงภาวะมีบุตรยากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกัน
การแพทย์แผนจีน มองภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหา ที่เกิดจากความไม่สมดุลของสภาพร่างกายองค์รวมร่วมกับมีผลเฉพาะที่ต่อตัวมดลูก รังไข่ เชื้ออสุจิ การมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์
การรักษาต้องปรับสมดุลโดยองค์รวม ควบคู่กับการรักษาเฉพาะที่ ความผิดปกติของเลือด พลัง ภาวะยินหยางของร่างกายซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ต้องปรับสมดุล รวมทั้งภาวะอุดกั้นของเลือด พลัง เสมหะ
ความเสียสมดุลแสดงออกด้วยอาการต่างๆ ที่พบเห็นเกี่ยวข้องกับช่วงมีประจำเดือน เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดท้องประจำเดือน อาการคัดหน้าอก ประจำเดือนเป็นก้อน ประจำเดือนมาช้าหรือมาเร็วกว่าปกติ อาการหายใจไม่อิ่ม หนาวง่าย ประจำเดือนมามากผิดปกติ ภาวะเครียดมากและหงุดหงิดมากช่วงใกล้มีประจำเดือน จะได้รับการเยียวยาไปพร้อมๆ กัน เมื่อภาวะเหล่านี้ดีขึ้น เป็นการบ่งบอกภาวะสมดุลของร่างกายที่ดีขึ้นด้วย การตั้งครรภ์โดยธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นได้เอง หรือเมื่อจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้นเช่นกัน
ที่สำคัญกว่านั้น การรักษาแบบองค์รวมทำให้ คุณแม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่ดีซึ่งจะเป็นหลักประกันต่อทารกในครรภ์ หรือสุขภาพของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ และภายหลังการคลอด (สูญเสียเลือดและพลัง) ว่าจะได้รับผลกระทบในทางไม่ดีน้อยที่สุด
ความรีบร้อนที่จะรีบใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนสมดุลให้กับคุณแม่ก่อน จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพง ประสบผลสำเร็จน้อย และมีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพทารกและคุณแม่อีกด้าน
การแพทย์แผนจีนจึงมีข้อเด่นและเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาภาวะมีบุตรยากร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน
- อ่าน 9,005 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้