• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กล่องเสียงอักเสบ

กล่องเสียง (larynx) เป็นส่วนที่อยู่ถัดลงไปจากคอหอย ตั้งอยู่ตรงส่วนบนของหลอดลม ทำหน้าที่ในการเปล่งเสียงพูด ถ้ามีการอักเสบของกล่องเสียง ก็จะทำให้มีอาการเสียงแหบเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเสียงแหบอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ ก็มักจะทุเลาไปได้ แต่ถ้าหากพบว่ามีอาการเสียงแหบเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์ ก็ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีสาเหตุอื่นๆ มากกว่าการอักเสบเพียงเล็กน้อย

♦ ชื่อภาษาไทย กล่องเสียงอักเสบ

♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Laryngitis

♦ สาเหตุ
การอักเสบของกล่องเสียงเกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดร่วมกับไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ส่วนน้อยเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย

บางรายอาจเกิดจากการระคายเคือง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การใช้เสียงมาก (เช่น ร้องเพลง สอนหนังสือ พูดนานๆ)

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการระคายเคืองจากน้ำย่อยในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งมีน้ำย่อยไหลย้อนไปที่กล่องเสียงขณะนอนหลับ ผู้ป่วยจะสังเกตว่ามีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ หลังตื่นนอนตอนเช้า พอสายๆ ก็ทุเลาไปเอง ซึ่งจะเป็นอยู่ทุกวันติดต่อกันนานเป็นแรมเดือนแรมปี จนกว่าจะได้รับการรักษา

♦ อาการ
มักมีอาการเสียงแหบเป็นสำคัญ บางรายอาจเป็นมากจนถึงขั้นไม่มีเสียง
อาจมีอาการหลังเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือไอ
ถ้าเกิดจากการระคายเคือง ก็มักมีอาการเสียงแหบหลังสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด
ถ้าเกิดจากการใช้เสียง ก็มักมีอาการเสียงแหบหลังจากร้องเพลงมากหรือพูดมาก
ถ้าเกิดจากการติดเชื้อมักมีอาการเสียงแหบนาน 1-3 สัปดาห์
แต่ถ้าเกิดจากการระคายเคือง หรือการใช้เสียงก็มักจะเป็นอยู่นานตราบเท่าที่ยังถูกสิ่งระคายเคือง หรือเป็นๆหายๆ บ่อย

♦ การแยกโรค
ในรายที่มีอาการเสียงแหบเฉียบพลัน และมีอาการอยู่นานไม่เกิน 3 สัปดาห์ ควรแยกสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อ (เป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ) ออกจากการระคายเคืองจากการสูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด และการใช้เสียง

ส่วนในรายที่มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง (นานเกิน 3 สัปดาห์ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- โรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบ และเจ็บคอ หลังตื่นนอนตอนเช้าทุกวัน พอสายๆ ก็ทุเลาไป โดยไม่ได้มีอาการเป็นไข้ เป็นหวัด แต่อย่างใด
- วัณโรคกล่องเสียง ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบเป็นแรมเดือน บางรายอาจมีอาการไข้และไอเรื้อรัง น้ำหนักลดร่วมด้วย
- เนื้องอกของสายเสียง (อาจเป็นปุ่มเนื้อหรือติ่งเนื้อเมือกก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เนื้อร้าย) ซึ่งอาจเกิดจากการใช้เสียงมากเกิน (เช่น นักร้อง ครู นักเทศน์) หรือเกิดจากการสูบบุหรี่หรือโรคภูมิแพ้ก็ได้ ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบนานเกิน 3 สัปดาห์
- มะเร็งกล่องเสียง พบมากในผู้ชายสูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบทุกวันนานเป็นแรมเดือน บางครั้งอาจมีอาการกลืนลำบากหรือสำลักร่วมด้วย ต่อมาอาจพบมีเลือดออกปนเสมหะ หายใจลำบาก มีก้อนแข็งที่ข้างคอ

♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคกล่องเสียงอักเสบจากอาการแสดง (เสียงแหบร่วมกับเป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ) และประวัติของผู้ป่วย (เช่น การใช้เสียงมาก สูบบุหรี่ ดื่มสุรา)
ในรายที่เป็นเรื้อรัง หรือสงสัยมีสาเหตุที่ไม่ธรรมดา ก็อาจต้องทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง เอกซเรย์ เป็นต้น

♦ การดูแลตนเอง
1. ถ้าเริ่มมีอาการเสียงแหบ เป็นมานานเพียง 2-3 วัน ก็ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- งดบุหรี่ สุรา และพักการใช้เสียง จนกว่าอาการ จะทุเลา
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
- ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ
2. ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเลือดปน
- มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือเสียงแหบนาน เกิน 3 สัปดาห์
- มีอาการกลืนลำบาก สำลัก หายใจลำบาก มีก้อนแข็งที่ข้างคอ หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย
- มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น 
- ถ้าเกิดจากไวรัส (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่) ก็จะให้ยาบรรเทาตามอาการ 
- ถ้าเกิดจากแบคทีเรีย (เสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ทอนซิลบวมแดง) ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน
ในรายที่เกิดจากการระคายเคือง ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วย หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง (เช่น บุหรี่ สุรา การใช้เสียง)
ในรายที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน ก็จะให้ยาลดการสร้างกรด

♦ ภาวะแทรกซ้อน
กล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อและการระคายเคือง ส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนน้อยที่อาจทำให้หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ
ในรายที่เกิดจากการระคายเคือง เช่น บุหรี่ การใช้เสียงมากเกิน ก็อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อหรือปุ่มเนื้อของสายเสียง ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

♦ การดำเนินโรค
ผู้ที่เป็นกล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ มักจะมีอาการเสียงแหบอยู่นาน 1 สัปดาห์ หรือทุเลา หลังได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพียงไม่กี่วัน
ส่วนผู้ที่เป็นกล่องเสียงอักเสบจากการใช้เสียง สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด เมื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ ก็มักจะทุเลาได้ภายใน 1-3 สัปดาห์
ส่วนผู้ป่วยที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน อาการมักจะเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปีจนกว่าจะได้รับยาลดการสร้างกรด และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง แต่ถ้าขาดยาและปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ก็มักจะมีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ ไปเรื่อยๆ

♦ การป้องกัน
หมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ระวังอย่าให้เป็นหวัด
หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด การใช้เสียงมากเกิน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเมื่อเริ่มมีอาการเสียงแหบ

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นไข้หวัด เจ็บคอ ไอ สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด หรือใช้เสียงมากเกิน

ข้อมูลสื่อ

360-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 360
เมษายน 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ