• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แก่ทุกข์-แก่สุข

เมษายนเป็นเดือนแห่งวันมหาสงกรานต์และการระลึกถึงผู้สูงอายุ ลูกหลานอยากเห็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มีสุขภาพดีและมีความสุข

ผู้สูงอายุแล้วมีความสุขก็เป็นบุญ แต่ผู้สูงอายุบางคนก็มีความทุกข์อย่างน่าสลดสังเวช
สังขารมีความเสื่อมลง แต่จิตใจควรจะเจริญขึ้นเพราะล่วงกาลผ่านวัยมามาก แต่สมองคนก็คล้ายคอมพิวเตอร์ สุดแต่โปรแกรมอย่างไรไว้ก็เป็นไปตามนั้น สภาพอย่างเดียวกัน คนที่มองในแง่ดีก็เห็นความดีงาม และมีความสุขชื่นชมยินดี คนที่มองในแง่ร้ายก็เห็นทุกอย่างเลวทรามไปหมด และเต็มไปด้วยความทุกข์เหมือนตกนรกทั้งเป็น

คนแก่อารมณ์ร้ายไม่มีใครอยากเข้าใกล้
เพราะเอาแต่บ่นๆ ว่าๆ คนอื่น ไม่ถูกใจไปเสียทั้งนั้น ใครทำอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ แถมสงสัยว่าเขาจะคิดร้ายต่อตน คนอย่างนี้ลูกหลานคนรอบข้างพลอยเดือดร้อนไปหมด เมื่อสูงอายุศูนย์ในสมองที่เคยควบคุมพฤติกรรมเสื่อมไป ทำให้พฤติกรรมทางลบที่นอนเนื่องฝังลึกอยู่หลุดออกมาทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น อย่างไม่มีใครจะช่วยได้ และช่วยตัวเองไม่ได้ เหมือนตกอยู่ในบ่วงกรรมที่ไม่มีทางหลุด

ฉะนั้น จึงควรที่จะฝึกตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ ให้มองในแง่ดี ชื่นชมกับธรรมชาติรอบตัว มีความเมตตาต่อผู้คนและสรรพสิ่ง จนเป็นนิสัย เหมือนสร้างโปรแกรมแห่งความสุขไว้ในสมอง เมื่อแก่เฒ่าลงไปควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจที่ดีที่ฝึกไว้จนเป็นนิสัยก็จะทำงานไปเองโดยอัตโนมัติ เป็นคนที่แก่อย่างมีความสุขและคนรอบข้างมีความสุขด้วย เรียกว่าแก่อย่างบุญ ไม่ใช่แก่อย่างบาป

โปรแกรมในสมองเป็นเรื่องเปลี่ยนยาก นอกจากฝึกเจริญสติไว้เสมอๆ สติจะตัดบ่วงกรรมทั้งปวง และทำให้ลาจากทุกข์โดยสิ้นเชิงก็ได้ ดังเรื่องของคุณกำพล ทองบุญนุ่ม ที่นำมาคุยไว้ในฉบับที่แล้ว

ขอให้ผู้สูงอายุทุกท่านและผู้จะเป็นผู้สูงอายุต่อไปจงเป็นผู้พบหนทางบุญและมีชีวิตที่เป็นสุข

ข้อมูลสื่อ

360-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 360
เมษายน 2552
ศ.นพ.ประเวศ วะสี