“หมอกับชาวบ้านแม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่หมอก็มีวัฒนธรรมแบบหมอ ๆ และชาวบ้านก็มีวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน ๆ วัฒนธรรมในที่นี้ หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ค่านิยม ความถนัด ความเคยชิน ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งภาษาในการสื่อสาร “พูดจาภาษาหมอ” มิเพียงแต่เป็นเรื่องของการอธิบายศัพท์เกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมย่อยสองระบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างหมอกับชาวบ้านหากผู้อ่านมีข้อเสนอแนะประการใด ก็โปรดเขียนถึงคอลัมน์นี้ได้เลยครับ” |
เด็กหนุ่มคนหนึ่งมาพบหมอที่ห้องตรวจ หมอก็ซักไซ้ไล่เลียงอาการต่าง ๆ
“มีอาการท้องเสียหรือเปล่าครับ? หมอถาม
“มีครับ” คนไข้ตอบ
“ถ่ายสักกี่ครั้งมาแล้ว?” หมอถามอีก
“วันนี้ยังไม่ถ่ายเลยครับ” เด็กหนุ่มตอบ
“อ้าว!! แล้วที่ว่าท้องเสียมันอย่างไรล่ะ?” หมอซักงง
“ก็รู้สึกไม่ค่อยสบายท้อง ปวดจุกแน่นอยู่เรื่อย ๆ”
ก็มาถึงบางอ้อว่า อาการท้องเสียของพ่อหนุ่มคนนี้เขาหมายถึง อาการไม่สบายท้อง หาใช่อาการถ่ายท้องแบบที่คนทั่วไปเข้าใจกันไม่ โดยทั่วไป ถ้าหากใครก็ตามเกิดถ่ายอุจจาระเหลว ๆ หรือเป็นน้ำบ่อยครั้งกว่าปกติ เราก็จะเรียกว่า เป็นอาการ “ ท้องเดิน ” บ้าง, “ท้องเสีย” บ้าง , “ท้องร่วง” บ้าง ทั้ง 3 คำนี้ทั้งชาวบ้านและหมอ ก็มักจะเรียกปน ไปปนมาโดยไม่ได้แยกแยะว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า
ท้องเดิน – อาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ
ท้องร่วง – อาการที่ท้องเดินอย่างแรง
ท้องเสีย – อาการที่เกิดจากเครื่องย่อยอาหารไม่น้ำที่ปกติ ทำให้ถ่ายอุจจาระกระปิดกระปรอย
ถ้าจะยึดถือตามนี้ก็จะเป็นว่า คำกลาง ๆ ทั่วไปที่ใช้เรียกอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำก็คือ “ท้องเดิน”, ถ้าเป็นมากก็เรียกว่า “ท้องร่วง” , ถ้าหากเกิดจากระบบการย่อยอาหารไม่ดีก็เรียกว่า “ท้องเสีย” ในปัจจุบันศัพท์แพทย์นิยมใช้เรียกคำกลาง ๆ ทั่วไปแทนคำว่า “ท้องเดิน” ก็คือคำว่า “อุจจาระร่วง” ซึ่งฟังดูเป็นภาษาวิชาการและดูสุภาพดี ตรงกับศัพท์แพทย์ภาษาอังกฤษว่า “diarrhea” (อ่านว่า ไดอะเรีย) คำว่าอุจจาระร่วงนี้ เข้าใจว่า คงจะใช้การแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้เอง เพราะแม้แต่พจนานุกรมฉบับดังกล่าวก็ยังไม่ได้เก็บคำนี้ไว้
อาการท้องเดินนี้ ยังมีภาษาชาวบ้าน ๆ ที่ใช้เรียกกันอีกมากมาย เช่น ถ่ายท้อง , ท้องไม่ดี, ขี้รั่ว, ขี้ราด, ขี้ไหล เป็นต้น รวมทั้งคำแสลงร่วมสมัย เช่น “จู๊ด ๆ” ในที่นี้มิได้มีจุดมุ่งหมายจะพูดถึงรายละเอียดของโรคอุจจาระร่วง เพียงแต่นึกรวบรวมภาษาหมอและภาษาชาวบ้านที่นิยมใช้เรียกโรคนี้กันเท่าที่จะนึกได้
ก่อนจบอยากจะฝากศัพท์แพทย์อีกคำที่คู่กับอุจจาระร่วงนั่นคือ “โออาร์เอส” (ORS) คำ ๆ นี้ย่อมาจาก oral rehydration solution แปลกันตรงตัวว่า “สารน้ำที่กินแก้อาการขาดน้ำ” มีคนเรียบเรียงเป็นไทย ๆ ว่า “สารละลายน้ำตาลเกลือแร่” ที่อยากจะฝากเป็นคู้แฝดกับอุจจาระร่วงก็เพราะว่า โออาร์เอสนี้เป็นวิธีรักษาโรคอุจจาระร่วงอย่างง่าย ๆ ราคาถูกและได้ผลชะงัด โดยไม่ต้องใช้ยาชนิดอื่นใดอีกเลย ในสมัยก่อนทั้งหมอและชาวบ้าน จะให้คนที่เป็นโรคท้องเดิน (อุจจาระร่วง) อดอาหารจนอ่อนเปลี้ยด้วยเข้าใจผิดว่าจะช่วยให้ลำไส้ได้พักแล้วโรคจะหายเร็ว ชาวบ้านจะไม่ให้คนไข้ดื่มน้ำเลย กลัวว่ายิ่งดื่มจะยิ่งถ่ายเป็นน้ำ
ปัจจุบันพบว่า วิธีนี้มีโทษมากกว่าคุณ ในระยะประมาณ 10-15 ปีมานี้ จึงเริ่มหันมาส่งเสริมให้กิน “โออาร์เอส” ตั้งแต่เริ่มท้องเดินกันเลย ยิ่งถ่ายมากก็ยิ่งให้กินมากขึ้นตามส่วน เพราะเราทราบกันดีว่า ยิ่งถ่ายมาก น้ำและเกลือแร่ก็ยิ่งรั่ว หรือไหลออกจากร่างกายมาก จนอาจเป็นอันตรายได้ จึงต้องเสริมน้ำ และเกลือแร่เข้าไปทดแทนให้พอเพียงกับส่วนที่รั่วหรือไหลออกไป (คำว่า ขี้รั่ว ขี้ไหล จึงดูเหมือนว่าให้ภาพพจน์ที่เป็นเหตุของการให้โออาร์เอสดีกว่าคำอื่น ๆ) โออาร์เอสหรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ มีชนิดบรรจุซองสำเร็จรูป สะดวกในการพกพา (เช่น เดินทางไกล) นอกจากนี้ยังสามารถเตรียมการเองในบ้านได้ เช่น น้ำข้าวใส่เกลือ, เครื่องดื่มใส่เกลือถ้าไม่มีอะไรจริง ๆ ก็ใช้น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ เกลือแกงครึ่งช้อนชา ผสมในน้ำต้มสุกขนาด 1 ขวดน้ำปลากลมก็ได้
วงการแพทย์มีความภาคภูมิใจในเทคโนโลยีง่าย ๆ แบบนี้กันมาก จนแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติ วิธีรักษาโรคอุจจาระร่วงกันเลยทีเดียวเพราะโออาร์เอสหรือสารน้ำตาลเกลือแร่สามารถช่วยให้คนไข้ ส่วนใหญ่หายจากโรคและฟื้นตัวได้เร็ว ด้วยราคาประหยัดและลดจำนวนคนไข้ที่มีอาการเพียบลงจนต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด
พูดจาภาษาหมอขอลงท้ายด้วยคำขวัญว่า
“อุจจาระร่วงคราใด อย่าลืมใช้โออาร์เอส”
- อ่าน 29,382 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้