• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทรรศนะกับการแก้ปัญหาสุขภาพ

 

การที่จะทำอะไรได้ถูกต้อง ต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเรื่องนี้คืออะไร ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้เรียกชื่อกันต่าง ๆ มรรค 8 ท่านเรียกว่า สัมมาทิฐิ ถ้าเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปอาจเรียกว่าสัมมาทรรศนะ ที่ใกล้เคียงกันเรียกว่ามโนทัศน์บ้าง กรอบความคิดบ้าง อันแปลมาจากภาษาฝรั่งว่า concept

สัมมาทิฐิ หรือสัมมาทรรศนะมีความสำคัญที่สุด จึงมาเป็นอันดับต้น เพราะเป็นตัวปัญญาที่เข้าใจว่าเรื่องนี้คืออะไร ไม่ต้องเป็นไปอย่างไร ความเข้าใจว่าเรื่องนี้คืออะไร เป็นตัวกำหนดว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าความเข้าใจหรือความคิดผิด การกระทำที่ตามมาก็จะผิดเรื่องของสุขภาพนั้นขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง แต่ขณะนี้ โดยไม่รู้ตัว แพทย์และประชาชนถูกกระทำให้มีทรรศนะว่า การที่จะแก้ปัญหาสุขภาพคือเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นเมื่อนึกถึงสุขภาพก็นึกถึงแพทย์ โรงพยาบาล เครื่องมือ ยา เป็นสำคัญ จริงอยู่ การแก้ปัญหาบางอย่างต้องอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ไม่ต้องการการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เมื่อทรรศนะไปติดอยู่ที่เทคโนโลยีทางการแพทย์เสียแล้ว ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ และเกิดความสูญเสียอย่างมาก เช่น

โรคหัวใจ ถ้านึกถึงแต่การตรวจหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า จะแก้ปัญหา ไม่ได้แต่ถ้าแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมจะป้องกันโรคหัวใจได้

พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพบในคนอีสานกว่าหนึ่งในสาม และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมมาก ถ้าฐานของความคิดอยู่ที่โรงพยาบาลจะแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้เงินเท่าไรก็ตาม พยาธิใบไม้ในตับเกิดจากพฤติกรรมกินปลาดิบ ถ้าฐานของทรรศนะในเรื่องนี้อยู่ที่พฤติกรรม ฝ่ายต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทมาก ถ้าฐานของทรรศนะอยู่ที่เทคโนโลยีการแพทย์ จะเป็นเรื่องจำเพาะทางสาธารณสุขเท่านั้น คนอื่นจะคิดว่าไม่เกี่ยวเพราะไม่มีความสามารถ เมื่อฐานของทรรศนะอยู่ที่พฤติกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจะเข้ามา รณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ฝ่ายการเมือง การศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน วงการบันเทิง และถ้ายิ่งได้พระบารมีด้วย เรื่องนี้จะแก้ปัญหาได้ในปีเดียว และใช้เงินไม่มาก
มะเร็ง “หมอชาวบ้าน” กำลังจะพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “เปลี่ยนชีวิต พิชิตมะเร็ง” ซึ่งเขียนโดยคนออสเตรเลีย ชื่อเอียน กอเลอร์ หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่าเรามีทรรศนะเกี่ยวกับมะเร็งที่ผิดอย่างไร ที่ทิ้งให้เรื่องนี้เป็นการสู้กันระหว่างแพทย์กับมะเร็งเท่านั้น แต่บทบาทของคนไข้ในการพิชิตมะเร็งหายไป จิตใจสมาธิ-ภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีบทบาทอย่างสูงในการป้องกัน และรักษามะเร็ง

ถ้าทรรศนะคติของสุขภาพอยู่ที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ จะทำให้การพึ่งตนเอง เช่น จิตใจ-สมาธิภูมิคุ้มกันธรรมชาติ พฤติกรรม และบทบาทของสังคมถูกละเลย เพราะเอาเรื่องทั้งหมดไปฝากไว้กับคนจำนวนน้อยและวิธีการที่แพง
เรื่องอัตตาหิ อัตตโน นาโถ หรือการพึ่งตนเอง มีความหมายที่ลึกซึ้งหลายด้าน รวมทั้งเรื่องของจิตใจที่จะควบคุม ส่งเสริมสุขภาพในร่างกายและรักษาความเจ็บป่วยด้วย อันควรได้รับความสนใจ ทำความเข้าใจกันอย่างจริงจัง และส่งเสริมให้เป็นทรรศนะและวิธีการในการพัฒนาชีวิตและสังคม
 

ข้อมูลสื่อ

115-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 115
พฤศจิกายน 2531
ศ.นพ.ประเวศ วะสี