• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแล “ไข้”


“ไข้” เป็นอาการที่แสดงว่ามีความผิดปกติ เกิดขึ้นกับร่างกายที่พบได้บ่อยมาก คือ การมี “เชื้อโรค” เข้าสู่ร่างกาย เช่น การเป็นหวัด การเจ็บคอ การออกผื่นและอุจจาระร่วงบางชนิด เป็นต้น
การดูแลไข้ หรือที่แท้จริงคือ การดูแลผู้ที่มีอาการไข้ ผู้ที่มีอาการไข้ นอกจากตัวจะร้อน ซึ่งการวัดความร้อนสามารถวัดได้ด้วย “ปรอทวัดไข้” ดังนี้เคยกล่าวมาแล้วนั้น ผู้ที่มีอาการไข้ส่วนใหญ่จะปวดศีรษะ ในเด็กที่พูดไม่ได้จะร้องกวน ไม่ดูดนม และถ้าไข้สูงมากอาจมีอาการชัก ในรายที่อาการไข้เกิดจากเชื้อโรคชนิดออกผื่น จะปรากฏผื่นให้เห็นในระยะเวลาต่าง ๆ กัน เช่น อีสุกอีใส หัด และหัดเยอรมัน


หลักการดูแลผู้ที่มีอาการไข้
1. พักผ่อนมาก ๆ เพราะการออกแรงจะเพิ่มอัตราการเผาไหม้ในร่างกาย ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้น

2. ดื่มน้ำมาก ๆ อาจเป็นน้ำสะอาดธรรมดา น้ำผลไม้ น้ำหวาน นมสดเครื่องดื่มชนิดชง น้ำจะช่วยพาความร้อนออกทางปัสสาวะ และช่วยละลายพิษของเชื้อโรคในร่างกายให้เจือจางลง

3. ใช้น้ำก๊อก หรือจากตุ่มลูบตัวเพื่อลดไข้ ดังที่เคยกล่าวในรายละเอียดมาแล้ว

4. ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล

5. อาหารนอกจากน้ำหรือเครื่องดื่ม หรือนมสดแล้ว ควรเป็นอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ซุป ข้าวต้ม โจ๊ก สำหรับผู้ที่ไม่อยากกินอาหารอาจงดไว้ก่อน เพราะการฝืนกินอาจทำให้อาเจียน

6. พยายามให้บ้วนปาก หรือกลั้วคอ เนื่องจากการมีปาก ฟัน ที่สะอาดจะช่วยให้ผู้ที่มีไข้รู้สึกสบายขึ้น และช่วยให้อยากกินอาหาร

7. สำหรับผู้ที่มียากินตามแพทย์สั่ง ให้กินยานั้น ๆ ให้ตรงตามขนาด และเวลา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ต้องกินให้หมดตามจำนวนที่แพทย์กำหนด
 

ข้อมูลสื่อ

110-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์