ในคนปกติ เมื่อประสบกับความผิดหวัง, การสูญเสียอันเป็นสิ่งที่รัก, ความเจ็บป่วย หรือความล้มเหลว ย่อมรู้สึกเศร้าใจ และไม่ช้าก็ค่อย ๆ ดีขึ้น จนเป็นปกติ มีคนบางคนเมื่อประสบกับสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ จะมีอาการเศร้าใจ, รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า, รู้สึกว่าชีวิตชั่งโหดร้ายอยู่เช่นนั้นติดต่อกันเป็นเวลานาน จนอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด คนที่มีอาการเช่นนี้ เรียกว่า เป็นโรคซึมเศร้า
นอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว คนที่เป็นโรคซึมเศร้ายังมีอาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร, น้ำหนักลด, นอนไม่หลับ, ปวดศีรษะเรื้อรัง, ขาดความสนใจสิ่งแวดล้อม, ตำหนิตนเองตลอดเวลา และความคิดอ่านเชื่องช้า เป็นต้น คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจไม่ได้ป่วยเพราะสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ดังเช่น การสูญเสีย, ความผิดหวัง หรือเหตุการณ์ใด ๆ อาการของโรคเกิดจากปัจจัยภายในตัวของเขาเอง
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่
1. การช็อกด้วยไฟฟ้า
2. จิตบำบัด
3. ยาแก้ซึมเศร้า
ในทางปฏิบัติ แพทย์มักใช้มากกว่า 1 วิธี ในการบำบัดโรคซึมเศร้า
ยาแก้ซึมเศร้าซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่
1. อะมิทริพไทลีน (AMITRIPTYLINE)
2. อิมิพรามีน (IMIPRAMINE)
3. ด็อกซิพิน (DOXEPIN)
ยาทั้ง 3 ชื่อนี้เป็นยาในกลุ่มไตรซัยคลิก ชนิดหลังมีผลข้างเคียงน้อยกว่า และให้ผลเร็วกว่า 2 ชนิดแรก และยังมีฤทธิ์คลายความวิตกกังวลด้วย
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของยาแต่ละรายการ คือ
1. อะมิทริพไทลีน
ชื่อการค้า เช่น อะมิทิต(AMLTID), อะมิทริล(AMITRIL), อีลาวิล(ELAVIL) เป็นต้น
ผลข้างเคียง :
ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการปากแห้ง, ปวดศีรษะ, ชอบกินของหวาน, เมื่อยล้า, อ่อนเพลีย
ชนิดที่พบบ่อยรองลงมา ได้แก่ อาการท้องเดิน, เหงื่อออกมากผิดปกติ, แสบร้อนยอดอก, นอนไม่
หลับหรืออาเจียน
อาการข้างเคียงทั้งหมดนี้มักลดลงและหมดไป เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับยาได้ โดยทั่วไปกิน
เวลาราว 2-4 สัปดาห์ ในระยะแรกที่เริ่มกินยาอะมิทริพไทลีน อาจมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ดังนั้นไม่ควรขับขี่ยวดยานหรือทำงานกับเครื่องจักรกล เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากในระหว่างกินยานี้เกิดมีอาการตาพร่ามัว, ท้องผูก, ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ, ปัสสาวะไม่ค่อยออก, ปวดลูกนัยน์ตา, ประสาทหลอน, มือเท้าสั่น, ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ(น้อยกว่า 50 ครั้งต่อนาที) มีผื่นที่ผิวหนังและคัน, เจ็บคอและเป็นไข้ หรือตาเหลือง ตัวเหลืองต้องรีบปรึกษาแพทย์
ข้อควรระวังเมื่อใช้ยานี้
1. คนที่เป็นโรคหอบหืด, โรคพิษสุรา, ปัสสาวะลำบาก, โรคต้อหิน, โรคหัวใจ, โรคความดันเลือดสูง, โรคตับ, โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
2. คนที่กินยาลดน้ำมูก แก้หวัด, ยาแก้แพ้, ยากันชัก, ยาลดความดันเลือด, ยาเสพติด, ยาแก้ซึมเศร้า
ชนิดอื่น, ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
3. ห้ามดื่มสุราหรือของมึนเมาชนิดอื่น
4. อย่าหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
5. คนที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสียก่อนใช้ยานี้
โปรดระลึกว่า ภายหลัง 2-3 สัปดาห์นับจากเริ่มกินยานี้ จึงจะเห็นผลของการรักษา
2. อิมิพรามิน
ชื่อการค้า เช่น โทฟรานิล(TOFRANIL), อิมาเวต(IMAVATE), เอสเค-พรามีน(SK-PRAMINE) เป็นต้นรายละเอียดเกี่ยวกับผลข้างเคียง และข้อควรระวังคล้ายกับอะมิทริพไทลีน(AMITRIPTYLINE)
3. ด็อกซิพิน
ชื่อการค้า เช่น อะดาพิน(ADA-PIN), ไซนีควาน(SINEQUAN)
ผลข้างเคียงที่เกิดบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการง่วงซึมและมึนงง โดยเฉพาะใน 2-3 สัปดาห์แรกที่เริ่มกินยา ดังนั้นไม่ควรขับขี่ยวดยานหรือทำงานกับเครื่องจักร ผลข้างเคียงเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงหรือหายไปเมื่อร่างกายปรับตัวได้
ผลข้างเคียงอย่างอื่น ได้แก่ อาการปากแห้ง, ปวดศีรษะ, อยากของหวาน, คลื่นไส้และอ่อนเปลี้ย
ที่พบน้อยกว่าคือ อาการท้องเดิน, เหงื่อออกมาก, แสบร้อนยอกอก, นอนไม่หลับ หรืออาเจียน
ข้อควรระวัง เหมือนกับอะมิทริพไทลีน(AMITRIPTYLINE)
- อ่าน 32,323 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้