• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วอร์ด

 

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากได้ทำความรู้จัก “ภาษาหมอ” ก็จะทำให้เราสื่อสารกับหมอได้ดียิ่งขึ้น คอลัมน์นี้จึงขอแนะนำ “ภาษาหมอ” เดือนละคำสองคำ 

 

            


วอร์ด  มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Ward หมายถึง ห้องพักผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล บ้างก็เรียกว่า “ตึกผู้ป่วย“ตึกผู้ป่วยใน” “หอผู้ป่วย” “ตึกคนไข้ใน” เป็นต้น
ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จะแบ่งห้องพักผู้ป่วยตามกลุ่มโรคที่เป็น เช่น ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด จะพักอยู่ “ห้องผู้ป่วยศัลยกรรม” (ภาษาหมอเรียกว่า “วอร์ดศัลยกรรม” เรียกสั้น ๆว่า “วอร์ดศัลย์”) ผู้ป่วยเด็กจะพักอยู่ใน “ห้องผู้ป่วยเด็ก” หรือ “ตึกผู้ป่วยเด็ก” (ภาษาหมอเรียกว่า “วอร์ดเด็ก” ) เป็นต้น
ถ้าเป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ เช่นโรงพยาบาลอำเภอ มักจะเป็นเพียงห้องผู้ป่วยชาย (วอร์ดชาย) กับห้องผู้ป่วยหญิง (วอร์ดหญิง) เท่านั้น


ราวด์วอร์ด  มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Round ward หมายถึงการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในห้องพักผู้ป่วย (วอร์ด) ของแพทย์และพยาบาล ซึ่งจะทำเป็นกิจวัตรประจำวัน
แพทย์และพยาบาลจะเดินไปที่เตียงผู้ป่วยทุกเตียงเพื่อตรวจและสอบถามอาการของผู้ป่วย พร้อมทั้งสั่งการรักษาตามอาการที่เปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กลับบ้าน ถ้าอาการทุเลาแล้ว ตามโรงพยาบาลทั่วไป มักทำการราวด์วอร์ด ในตอนเช้า ๆ ถ้าขยันก็อาจเพิ่มรอบเย็นอีกรอบหนึ่งสำหรับโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ วันหนึ่ง ๆ อาจมีราวด์วอร์ดกันหลายรอบ คือนอกจากราวด์วอร์ดเพื่อสั่งการรักษาแล้ว ยังมีรอบพิเศษโดยพานักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ที่ฝึกหัดงานมาราวด์ตามเตียงผู้ป่วยเพื่อการสอนอีกด้วย
ดังนั้นเมื่อได้ยินว่า “หมอไปราวด์” ก็อย่าเข้าใจว่า “หมอจะไปประเทศลาว” เสียล่ะครับ เพราะบางครั้งผู้พูดลืมกระดกลิ้น ตัว “ร” ไป !

 

ข้อมูลสื่อ

64-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
พูดจาภาษาหมอ