• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มิติใหม่ของการป้องกันโรคมะเร็งในตับ


               
 
 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรค
มะเร็งในตับได้เคยพูดคุยกับ หมอชาวบ้าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 35 ปี พ.ศ.2524 ถึงเรื่อง “มะเร็งของตับ”
เมื่อพูดถึงหนทางของการป้องกันโรคมะเร็งในตับท่านไม่ทราบจะแนะนำอะไร เพราะเมื่อคำนึงถึงสาเหตุ
ของโรคนี้ก็แทบจะมองไม่เห็นหนทางแก้ไข ก็คงจะสุดแล้วแต่ดวงใครดวงคนนั้น ท่านเคยพูดไว้เช่นนั้น
เมื่อผ่านไป 3 ปี ท่านได้ค้นพบหนทางใหม่ในการป้องกันโรคมะเร็งในตับและได้ให้สัมภาษณ์หมอชาว
บ้านเป็นพิเศษเมื่อวันที 8 มิถุนายน 2527


⇒โรคพยาธิใบไม้ในตับอนาคตยังยาวนาน
เมื่อพูดถึงการป้องกันโรคมะเร็งในตับ กล่าวสำหรับมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดีแล้ว ในปัจจุบันแม้ว่าจะมียาใหม่ที่มีชื่อว่าพราซิควอนเทล(Praziquantel) ซึ่งใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้ในตับอย่างได้ผลแล้วก็ตาม แต่ในการเอายานี้มาใช้กับคนในหมู่บ้าน พบว่าได้ผลน้อยมากเนื่องจากผู้ป่วยเมื่อหายแล้ว ก็ยังคงกลับไปกินปลาดิบๆ ตามเดิมอีก จึงรับเอาพยาธิเข้าไปอยู่ในตับ กลายเป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับอีก
ดังนั้น ในการรักษาและป้องกันโรคนี้จึงมีความยากลำบาก การใช้ยาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สัมฤทธิ์ผลเป็นแน่ (ความจริงยานี้ยังมีราคาแพง คงไม่สามารถจ่ายให้ผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงอยู่แล้ว)จะต้องหาทางเปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นฐานในการกินของประชาชนคือให้เลิกกินปลาน้ำจืดดิบๆ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญดังนั้น การป้องกันโรคมะเร็งชนิดนี้จึงยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน


⇒ มะเร็งของเซลล์ตับนับว่ามีความหวังรำไร
การที่เราเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์ตับ ทำให้ความหวังในการหาวิธีป้องกันโรคนี้เริ่มจะมีเค้าแห่งความจริงขึ้นมาบ้างแล้ว
กุญแจสำคัญก็อยู่ที่การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งของ
เซลล์ตับในขณะนี้คนไทย 100 คน จะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ในเลือดกันถึง 10 คน ตัวเลขนี้ดูแล้วน่ากลัวทีเดียว เชื้อนี้จะถ่ายทอดจากแม่ซึ่งเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีไปยังทารกจะโดยวิธีไหนนั้นยังไม่ทราบชัด อาจจะถ่ายทอดมาตามกระแสเลือดผ่านไปที่รกแล้วเข้าไปในทารกตั้งแต่อยู่ใจครรภ์ หรืออาจจะติดต่อกันภายหลังที่ทารกคลอดออกมาแล้ว และสัมผัสกับแม่อย่างใกล้ชิดก็ได้ทารกเกิดใหม่ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเข้าไปในร่างกาย ก็จะมีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายอย่างเรื้อรัง อาจจะเป็นไปได้ว่าทารกพวกนี้เมื่อโตขึ้นมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งตับได้มาก

ดังนั้น ในขณะนี้จึงมีการค้นคว้าวิจัยกันอย่างมากที่จะใช้ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีฉีดให้ทารกที่เกิดจากแม่ที่เป็นโรคนี้หลังจากคลอดโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ได้ผลประมารร้อยละ 60-70 .ถ้าฉีดซีรัมซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ควบคู่ไปด้วยอีกอย่าง ก็จะทำให้ได้ผล (ทำให้ร่างกายเด็กปลอดจากเชื้อนี้) สูงถึงประมาณร้อยละ 90 แต่ว่ายานี้แพงมาก


⇒ วัคซีน-คือคำตอบแห่งปัญหาแต่ว่าราคาแพง
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบมีวิธีผลิต 2 แบบ
แบบที่ 1  เอาน้ำเหลือง (พลาสมา) จากเลือดของคนที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้มาสกัดเอาเชื้อนี้ออกมา แล้ว
ทำให้มันหมดฤทธิ์ที่จะทำให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันได้วัคซีนชนิดนี้ในปัจจุบันยังค่อนข้างแพง

แบบที่ 2   ราคาถูกลงหน่อย ผลิตโดยกรรมวิธีทางวิศวกรรมพันธุศาสตร์ (Geneticengineering) คือสร้างยีนส์ (พันธุกรรม) ขึ้นมาแล้วเอาสอดใส่เข้าไปในตัวแบคทีเรียหรือยีนส์ แล้วแบคทีเรียหรือยีนส์ก็จะสร้างโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่าทางประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เอาวัคซีนที่ผลิตแบบที่ 2 นี้ไปทดลองใช้ในอาสาสมัคร เพื่อดูประสิทธิภาพและความปลอดภัย คิดว่ายังต้องกินเวลาอีกประมาณ 5-6 ปี กว่าจะทราบผลแน่นอนในเวลานี้ถ้าจะนำวัคซีนมาฉีคในทารกจะต้องฉีดในทารกหนึ่งคน 3 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายร้อยบาทจนถึงพันบาท
แต่ถ้ามีทางทำให้ราคาวัคซีนถูกลงได้ก็น่าจะนำมาฉีดให้ทารกเกิดใหม่ทุกคนบวกเข้าไปกับวัคซีนอีก 6 ชนิด (คือ ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ วัณโรค หัด) ที่ให้เป็นประจำอยู่แล้ว

ข่าวดีก็คือ ในขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข มหาวิยาลัยมหิดล และสภากาชาดไทย ได้มีการประชุมร่วมกันในการพิจารณาหาหนทางผลิตวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ขึ้นในประเทศของเราเองโดยขอความร่วมมือและความช่วยเหลือจากมิตรประเทศที่มีเทคโนโลยีทางด้านนี้คาดว่าโครงการนี้จะเป็นไปได้ในราวอีก 5-10 ปีข้างหน้านี่จะเป็นความหวังที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งของเซลล์ตับในอนาคต


⇒ อฟลาท็อกซิน มีทางกำจัดได้
สารพิษที่เกิดจากเชื้อราตามธัญพืชตัวนี้ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งของเซลล์ตับอีกอันหนึ่ง ได้ค้นพบและพูดกันมานานกว่า 10 ปีแล้วการที่เราไปมัวแต่พูดกันว่าในธัญพืชเช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง พริกแห้ง เหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่มีอฟลาท็อกซิน (สารพิษก่อให้เกิดมะเร็งของตับ)สูงโดยไม่หาทางทำอะไรเลยนั้นรังแต่ก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นเหตุให้ประเทศต่างๆตีราคาข้าวโพดของเราต่ำหนทางแก้ไขก็คือ การผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางส่งเสริมให้กับชาวไร่ชาวนารู้จักวิธีเก็บ
ธัญพืชในลักษณะของไซโลซึ่งมีความชื้นต่ำ คือว่าต้องมีการอบและทางที่ดีจะต้องอบโดยการใช้พลัง
งานแสงอาทิตย์

ดังนั้นจึงอยากจะฝากให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเกษตรก็ดี วิศวกรก็ดี สาธารณสุขก็ดี หันมาช่วยกันสร้างไซโลอย่างจริง ๆ จัง ๆ ยิ่งถ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้าช่วยก็ยิ่งดี ชาวไร่ชาวนาจะได้ธัญพืชทีมีสารอฟลาท็อกซินน้อยจะได้ขายได้ราคาสูงและประชาชนก็จะได้ปลอดภัยจากสารพิษชนิดนี้เป็นการป้องกันโรคมะเร็งของตับไปในตัว


⇒ จงงดอาหารหมัก อาหารผสมดินปะสิว

อาหารเหล่านี้มีสารไนโตซามีนส์ซึ่งเป็นสารพิษอีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็งของเซลล์ตับ ควรหาทางเลิกกินอาหารประเภทนี้เสีย หรือหากเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินอาหารนี้ไม่ได้ ก็หาทางกินให้น้อยลง จะเป็นหนทางอีกอันหนึ่งในการป้องกันโรคมะเร็งของตับ


⇒ เป็นมะเร็งตับอยู่ได้นานกว่า 5 ปี ถ้ามีการตรวจพบแต่แรก
เราทราบดีว่า คนที่เป็นมะเร็งของตับไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ มันเกิดมะเร็งก้อนใหญ่ขึ้นมาทันที แต่จะเริ่มจากก้อนเล็ก ๆ ก่อน ดังนั้นจึงควรมุ่งหาวิธีค้นพบมะเร็งตั้งแต่ยังเป็นก้อนเล็กๆ
อย่างในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเขาก้าวหน้าไปมาก เขาสามารถตรวจพบมะเร็งของตับตั้งแต่ระยะเริ่มแรก (ก้อนเล็ก) แล้วผ่าตัดเอาออก ผู้ป่วยสามารถอยู่ได้ถึง 5 ปี หรือเกินกว่านั้นแทนที่จะตายภายใน 6 เดือนอย่างของเรา ขณะนี้ในบ้านเราก็สามารถทำการตรวจหามะเร็งของตับระยะเริ่มแรกแล้วโดยการเจาะเลือดตรวจหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein)สารนี้จะสร้างโดยเซลล์มะเร็งของตับถ้าตรวจเลือดพบสารนี้ก็แสดงว่าเป็นมะเร็งของตับ
เวลานี้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตน้ำยาราคาถูกเพื่อใช้ตรวจหาสารนี้ (ต้นทุนประมาณ 2-3 บาทต่อการตรวจ 1 ครั้ง) และยินดีกระจายไปให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศนำไปบริการแก่ประชาชน
 

      

คนที่ควรจะตรวจเช็คมะเร็งของตับ (โดยการตรวจเลือด) อย่างยิ่งได้แก่คนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูง เช่น
 o คนที่ดื่มเหล้าจัด
 o คนที่เป็นโรคตับแข็ง
 o คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
ถ้าตรวจพบมะเร็งของตับตั้งแต่ก้อนยังเล็ก ก็มีโอกาสมีชีวิตยืนยาวไปได้อีกหลายปี นี่ก็เป็นความหวังใหม่ อีกอย่างหนึ่ง !


⇒มิติใหม่แห่งการป้องกันโรคมะเร็งในตับ
พญามัจจุราชสำหรับผู้ชายไทย พอเอ่ยถึงมะเร็งในตับ คุณๆ ที่เคยมีญาติสนิทหรือคนรู้จักที่ป่วยด้วยโรคนี้ ย่อมทราบถึงความร้ายกาจของมันเป็นอย่างดี
“คงอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน” แพทย์มักจะกระซิบบอกญาติผู้ป่วยโรคนี้ด้วยคำพูดสั้น ๆ ประโยคนี้เสมอ
ในปัจจุบัน มะเร็งใรตับเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับแรกสุดของโรคมะเร็งทุกชนิดที่พบในผู้ชายไทย


⇒เหตุปัจจัยของโรคนี้
มะเร็งในตับ ที่พบในบ้านเรานั้นมีอยู่ 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับหรือ ภาษาหมอเรียกว่า เฮพาโตมา (Hepatoma) กับมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี (ซึ่งฝังอยู่ในตับ) หรือภาษาหมอเรียกว่า โฆแลงจิโอคาร์ซิโนมา (Cholangiocarcinoma) ทั้งสองชนิดนี้แทบจะเป็นคนละโรคกันเลยทีเดียว แตกต่างกันทั้งวัยของผู้ป่วยที่พบ สาเหตุ และการรักษา

มะเร็งของเซลล์ตับ (Hepatoma) พบในคนอายุ 40-50 ปี เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการของโรคนี้แล้วมาหาหมอ โดยมากจะตายภายใน 6 เดือน ในบ้านเราเชื่อว่า โรคนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับโรคไวรัสตับอักเสบบี (Viral hepatitis B) ซึ่งเป็นโรคตับอักเสบ (โรคดีซ่าน) ชนิดหนึ่งที่พบมากในบ้านเรา กล่าวคือ มะเร็งของเซลล์ตับมักจะพบตามหลังผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีนอกจากนี้สารเคมีซึ่งเป็นสารพิษบางชนิดก็อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งของเซลล์ตับได้
สารพิษที่สำคัญได้แก่ อฟาท็อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเกิดจากเชื้อราที่ขึ้นอยู่ตามธัญพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง พริกแห้ง
สารพิษอีกตัวหนึ่งได้แก่ ไนโตนซามีนส์ (Nitrosamines) ซึ่งพบในอาหารประเภทหมักหรือผสมดินประสิว แม้แต่พวกอาหารฝรั่ง เช่น แฮม, เบคอน ก็มีสารนี้ การกินอาหารที่มีสารพิษนี้เข้าไป มาก ๆก็มีโอกาสทำให้กลายเป็นโรคมะเร็งของเซลล์ตับ

มะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) พบมากในคนที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ สำหรับบ้านเราพบมากในประชาชนทางภาคอีสาน ซึ่งนิยมกินปลาน้ำจืดดิบ ๆหรือสุก ๆ ดิบ ๆ
มะเร็งชนิดนี้มักจะพบในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไป จะคลำได้ตับที่โตเป็นก้อนผิวขรุขระที่บริเวณใต้ชายโครงข้างขวา ชาวอีสานรู้จักโรคนี้ดีในนามของ “โรคตับโต” พอเอ่ยถึงโรคตับโต ชาวบ้านรู้ว่าจะอยู่ได้อีกไม่นานสาเหตุก็คือการกินเอาพยาธิใบไม้ในตับที่มีอยู่ในปลาน้ำจืด (ที่ไม่ทำให้สุกเสียก่อน)แล้วเป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับนานนับสิบ ๆ ปี พอเข้าวัยสูงอายุ ก็จะกลายเป็นโรคมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี
 

ข้อมูลสื่อ

63-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 63
กรกฎาคม 2527
อื่น ๆ
ศ.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ