ความหมายของคำว่า “อาบอบสมุนไพร” คือการใช้สมุนไพรหลาย ๆ ชนิดต้มน้ำและนำไอน้ำและน้ำนั้นมาอบอาบ จะทำให้เส้นสายที่ตึงเครียดหย่อนคลายลง ด้วยไอน้ำสมุนไพรการอาบอบสมุนไพรที่ทำกันอยู่ปัจจุบัน ได้ดัดแปลงมากจนกลายเป็นการ “อาบอบนวดสมุนไพรประยุกต์” ขนานแท้และดั้งเดิมนั้นไม่มีพิษมีภัย มีแต่ประโยชน์ สมควรที่จะส่งเสริม
การอาบอบสมุนไพรมีมานานแล้ว ที่ใช้กันมากคือในผู้หญิงหลังคลอดเรียกว่า “การเข้ากระโจม” นอกจากนั้นยังใช้รักษาโรคบางชนิด เช่น แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ โรคผิวหนัง ช่วยประกอบในการรักษาคนที่ติดยาเสพติด ปัจจุบันมีร้านบริการอาบอบสมุนไพรเกิดขึ้นมาบริการมากมาย ที่ร้านพวกนี้ไม่ต้องขออนุญาตกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องขออนุญาตจากกรมตำรวจเพราะถือเป็นสถานบริการไม่ใช่สถานพยาบาลจุดประสงค์ส่วนใหญ่ก็เพื่อบริการให้แก่คุณสาวๆ หรือคุณหนุ่ม ๆ ที่เป็นโรคกลัวอ้วน เพราะการอาบอบสมุนไพรช่วยลดความอ้วนได้ โดยเฉพาะด้านจิตใจให้จิตใจสดใสหลังจากได้อาบอบสมุนไพรแล้ว
ประโยชน์ในการอาบอบสมุนไพร
สิ่งสกปรกถูกขับออกมา ไอน้ำช่วยให้รูขุมขนขยายใหญ่ขึ้น สิ่งสกปรกต่าง ๆที่ผิวหนังจะหลุดออกมา แม้แต่ไขมันที่อยู่ติดกับผิวหนังจะหลุดออกมาบ้าง (หนุ่ม ๆ สาว ๆ บางคนที่มีหน้ามันเยิ้มไอน้ำพอจะช่วยได้) สำหรับในการรักษาคนไข้ที่ติดยาเสพติด สารพิษพวกนี้จะถูกขับออกมาทางเหงื่อด้วย
ทำให้เหงื่อออกมาก ท่านที่ต้องการลดความอ้วน ควรทำบ่อยๆ น้ำหนักจะลด นักมวยที่มีน้ำหนักเกินรุ่นเล็กน้อย ก่อนขึ้นชั่งน้ำหนักควรอบไอน้ำจะทำให้เหงื่อออกมาก เป็นการช่วยลดน้ำหนักดีกว่าการใช้ยาขับปัสสาวะ
ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ไอน้ำช่วยทำให้เลือดลมเดินสะดวก อาการปวดเมื่อยล้าที่กล้ามเนื้อจะบรรเทาลง หลังจากอบแล้วจะรู้สึกว่ากระปรี้กระเปร่าเบาเนื้อตัว
ผ่อนคลายอารมณ์ ระยะเวลาที่เข้าทำการ 15-30 นาที จะเป็นการพักทั้งสมอง ร่างกาย ผ่อนคลายอารมณ์ลงได้
จิตใจผ่องใส เนื่องจากของเสียถูกขับออกทางผิวหนัง เลือดลมเดินสะดวก จะช่วยคลายความตึงเครียดทั้งสมองและร่างกาย
การเข้ากระโจมในสมัยโบราณ (ปัจจุบันคนสมัยใหม่ก็ยังทำกันอยู่ แต่ที่ไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก เพราะหาผู้มาช่วยจัดทำยาก) คนที่คลอดลูก มักคลอดที่บ้านโดยมีหมอตำแย หรือผดุงครรภ์มาช่วยหลังคลอดแล้วบางคนก็อยู่กระดานไฟ บางคนอยู่ชุดเป็นเวลา 7-10 วัน โบราณถือว่ายิ่งอยู่ได้นาน ๆ เป็นเวลา 15-20 วันยิ่งดี ความร้อนมาก ๆดี จะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และน้ำคาวปลาจะออกมากและแห้งเร็ว
การอยู่ไฟ จะมีการเตรียมการแบบโบราณ ทั้งมีการถือเคล็ดหลายๆอย่าง เช่น มีวิธีดับพิษไฟ หรือ ขณะที่คนคลอดลูกนอนอยู่ไฟ ห้ามคนมาเยี่ยมพูดหรือถามว่า “ร้อนไหม” ถ้าพูดแบบนี้คนที่อยู่ไฟจะแพ้ทันที เกิดลูกไฟพองขึ้นตามตัว บางคนถึงต้องนอนใบตอง(ยังกะคนเป็นโรคฝีดาษ) เพราะนอนกับผ้า หนังที่พองนั้นจะติดผ้า (ข้อนี้ความจริงคงจะเนื่องจากไฟที่ใส่ไปมันร้อนเกินไป จึงทำให้ผิวหนังพอง ที่ห้ามพูด เพราะปกติคนหลังคลอดก็ไม่อยากนอนผิงไฟแบบนี้อยู่แล้ว ถ้ามีคนไปพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เป็นการชักใบให้เรือเสีย เพราะบางคนอาจจะโดนบังคับโดยผู้ปกครอง จึงจำต้องทนอบ)
การอยู่ไฟจะต้องนอนผิงไฟทั้งกลางวันกลางคืน เหงื่อไหลไคลย้อยบังคับให้ดื่มน้ำร้อน ๆ อดอาหาร
หลายชนิด เพราะแสลงโรค กินหมูทอดกระเทียมพริกไทยมากๆ แกงเลียงหัวปลี หรือใบกุ่ยช่าย ปลาเค็ม ของที่มีประโยชน์งดหมด หลังจากอยู่ไฟแล้วก็จะทำการชะล้างร่างกายที่สกปรกหมักหมมมาเป็นเวลาหลายวัน แทนที่จะอาบน้ำเย็นธรรมดา ก็ใช้การเข้ากระโจมอาบอบสมุนไพรแทน
วิธีการเข้ากระโจม
เตรียมกระโจม อาจใช้สุ่มที่ครอบไก่ใหญ่ ๆ คลุมด้วยผ้าห่มให้เกือบมิดเปิดช่องข้างบนให้หายใจ หรือใช้ไม้ปักเป็นสามเส้าทำเหมือนกระโจมอินเดียนแดงก็ได้ ใช้ล้อมด้วยเสื่อ เตรียมสมุนไพรสดๆ หลายชนิดแล้วแต่จะหาได้ ต้มสมุนไพรในหม้อใหญ่ ๆ จนเดือด นำหม้อต้มสมุนไพรที่กำลังเดือดเข้าไปในกระโจม ซึ่งมีหญิงหลังคลอดรออยู่ ค่อย ๆ แง้มฝาหม้อเปิดขึ้นทีละน้อย โรยการบูรลงไป (จะใช้พิมเสนก็ได้) ความร้อนจากไอน้ำจะทำให้เหงื่อออกมาก
หลังจากอบไอน้ำช่วงระยะเวลาหนึ่ง 15-20 นาที น้ำในหม้อจะอุ่นๆ ก็นำน้ำนั้นมาอาบ สระผม ถูขี้ไคลหลังจากอาบน้ำชำระร่างกายแล้ว จะรู้สึกตัวเบาสบาย จิตใจผ่องใส
ตัวยาสมุนไพรที่ใช้ต้มประกอบด้วยของ 4 พวก
พวกที่ 1 เป็นสมุนไพรที่ให้น้ำมันหอมระเหย ได้แก่ หัวขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ไพล ว่านน้ำ ลูกมะกรูด ใบมะกรูด ตะไคร้ ใบส้มโอ ใบมะนาว ใบหนาด เป็นต้น
พวกที่ 2 เป็นสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว จะทำให้น้ำต้มสมุนไพรมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน ๆ ได้แก่ ใบ ฝักส้มป่อย ใบมะขาม ผลมะกรูดผ่า
พวกที่ 3 เป็นสารที่หอมระเหยได้ เช่น การบูร พิมเสน
พวกที่ 4 เป็นสมุนไพรอื่นๆ ที่ใช้รักษาเฉพาะโรค เช่น โรคผิวหนัง ผื่น คัน เติมสำมะงา เหงือกปลาหมอ แก้หวัดคัดจมูกเติมหัวหอมหรือสมุนไพรที่เชื่อกันว่าช่วยทำให้ตาหายฝ้าฟาง เช่น ผักบุ้ง
สำหรับสมุนไพรสดนี้ไม่จำกัดแล้วแต่จะหาได้ แต่คงถือหลัก 4 พวกนี้ สำหรับหัวข้ออื่นๆ ต้องการรักษาโรคอะไรก็ให้เติมลงไป มีสมุนไพรบางชนิดที่สรรพคุณไม่แน่ชัด เช่น น้ำผักบุ้งอบอาบแล้วหายตาฟาง ควรที่จะใช้กินมากกว่า เพราะในผักบุ้งมีวิตามินเอมาก จะช่วยให้ตาดีขึ้น และมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ใส่ลงไปสำหรับอาบอบสมุนไพร แต่สรรพคุณทางยาในการใช้ภายนอกไม่มี
สรรพคุณของสมุนไพรในพวกแรก มีน้ำมันหอมระเหยเป็นตัวยาสำคัญเช่น พวกน้ำมันหอมเหล่านี้จะระเหยออกมากับไอน้ำ คนเข้ากระโจมสูดดมเข้าไปบางตัวมีตัวยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ขมิ้นชัน บางตัวทำให้จมูกโล่ง แก้หวัด คัดจมูก เช่น น้ำมันจากว่านน้ำ หัวหอม
ส่วนพวกที่สองมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งมีคุณสมบัติชำระล้างสิ่งสกปรกออกได้ มีคุณสมบัติเช่น สบู่ ปกติในผิวหนังคนจะมีฤทธิ์เป็นกรดเล็กน้อย เป็นสิ่งที่ช่วยต้านทานเชื้อโรคได้ดีตามธรรมชาติ การอบสมุนไพรเสริมสิ่งที่เป็นกรดเข้าไป ก็จะช่วยให้ผิวหนังเรามีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนเช่นธรรมชาติ และสารพวกนี้ช่วยทำให้ร่างกายสะอาด และทำให้ผิวหนังลื่น ใช้สระผมทำให้ผมสะอาดเป็นเงางาม(เช่นผลมะกรูด) สำหรับใบมะขามยังมีสรรพคุณทางยาคือ เป็นตัวช่วยชะล้างแผลเรื้อรังให้สะอาดยิ่งขึ้น
สำหรับสารพวกที่สาม เป็นสารที่มีกลิ่นคนไทยชอบ เช่น พิมเสน ใช้ดมเมื่อเป็นลม ทั้งพิมแสนและ
การบูรใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ
พวกสุดท้ายเป็นสมุนไพรเพิ่มเติม สรรพคุณเพื่อใช้รักษาเฉพาะโรค
ข้อที่ควรระวัง ก็คือว่า การอบน้ำร้อนหรือเเช่น้ำร้อนประจำจะทำให้เกิดผลเสีย คือผิวหนังจะแห้งแตกคัน เพราะน้ำมันที่อยู่ที่ผิวหนังถูกล้างออกไปหมด สังเกตจากหน้าหนาว ถ้าอาบน้ำอุ่นประจำจะรู้สึกคัน
การอาบอบสมุนไพร ถ้าจะเติมน้ำมันมะกอกลงไปด้วยก็จะช่วยให้ผิวหนังนิ่มนวล บางคนก็อบสักพัก แล้วออกมานวดตัวด้วยน้ำมันมะกอก จึงเข้าไปอบใหม่ แต่ถ้าไม่ใส่ก็คงไม่มีปัญา เพราะการอาบอบสมุนไพรก็ไม่ได้ทำเป็นประจำ
- อ่าน 28,761 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้