• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“ครูป” โรคของหน้าหนาว

ร่างกายคนเราเป็นองค์เอกภาพของสมดุลต่างๆ การกิน ตื่น และขับถ่าย การเสริมสร้างและทำลาย ฯลฯ ดุลยภาพเหล่านี้มีอยู่ตั้งแต่ระดับเซลล์ที่เป็นหน่วยเล็กที่สุด จนถึงร่ากายทั้งหมดที่เป็นองค์รวม เมื่อดุลยภาพเหล่านี้เสียไป คนเราก็เจ็บป่วย

“กลไกการเกิดโรค” จะเล่าสู่กันฟังถึงกระบวนการที่ร่างกายสูญเสียดุลยภาพเหล่านี้และเกิดโรคขึ้น เรียกกันด้วยภาษาที่ยุ่งยากว่า “พยาธิกำเนิด” ผู้จะเป็นหมอชาวบ้านแบบวิทยาศาสตร์พึงมีความรู้เรื่องนี้

“ครูป” โรคของหน้าหนาว

ชื่อครูปอาจจะฟังดูแปลกเนื่องจากเป็นภาษาต่างประเทศ เรายังไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย ก็ต้องยืมภาษาของคนอื่นเขามาใช้ก่อน

ครูป เป็นโรคของทางเดินหายใจอย่างหนึ่ง เป็นในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักจะเป็นกับเด็กอายุประมาณ 2 ปีบ่อยที่สุด

อาการเด่นชัดที่สุดของครูปก็คือ อาการไอแห้งๆ เสียงก้อง เสียงไอดังโฮ่งๆ เหมือนเสียงหมาเห่า หากได้ยินเสียงเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้ติดหู เนื่องจากเป็นเสียงไอที่มีลักษณะเฉพาะจริงๆ นอกจากจะมีอาการไอแล้ว เด็กที่เป็นโรคครูปจะมีไข้ค่อนข้างสูง ส่วนมากมักสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เสียงแหบ หายใจเสียงดัง ถ้าเป็นมากเด็กจะหายใจลำบาก หอบหน้าอกและซี่โครงบุ๋ม และตัวเขียว

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็คือ เชื้อไวรัสของทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของกล่องเสียง

ทางเดินหายใจรับเชื้อโรคง่าย เมื่อเชื้อไวรัสที่ล่องลอยอยู่ในอากาศรอบตัวเข้าไปสู่ทางเดินอากาศจากการสูดหายใจเข้าไป เชื้อไวรัสจะทำให้เยื่อบุผนังทางเดินหายใจอักเสบ บวมและมีน้ำมูก หากตำแหน่งของการอักเสบอยู่ที่จมูก อาการที่เกิดขึ้นก็คือ คัดจมูก น้ำมูกไหล หากตำแหน่งของการอักเสบอยู่ในลำคอ ลำคอก็จะบวม มีเสมหะใสๆ เกิดอาการระคายเคืองในคอ และมีอาการไอ หากตำแหน่งขงการอักเสบอยู่ต่ำลงไปถึงกล่องเสียง อันเป็นประตูทางเข้าออกของลมหายใจเข้าสู่หลอดลม สายเสียงก็จะบวมทำให้พูดแหบ ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ที่มีกล่องเสียงเล็กและทางเดินหายใจส่วนนี้แคบ อาการบวมจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนนี้อุดตันได้ อาการที่เกิดขึ้นจึงเป็นอาการของการอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบน

หากไวรัสตัวเดียวกันนี้ทำให้กล่องเสียงของผู้ใหญ่อักเสบ อาการที่เกิดขึ้นก็จะมีเพียงเสียงแหบ อาการไอเสียงก้องหรืออาการทางเดินหายใจอุดตันแบบที่เกิดกับเด็กเล็กจะไม่พบในผู้ใหญ่ และเราก็ไม่เรียกโรคที่เป็นในผู้ใหญ่ว่าเป็นโรคครูป

ทำไมโรคครูปจึงเกิดบ่อยในฤดูหนาว

อาจจะเป็นเพราะว่าในฤดูหนาวอากาศแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย เยื่อบุทางเดินหายใจก็จะแห้งกว่าปกติ ทำให้ภูมิต้านทานโรคของทางเดินหายใจลดลง ยิ่งในเด็กเล็กแนวโน้มของการติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่

การดำเนินของโรค

โรคครูปเกิดขึ้นได้กะทันหัน อาการหายใจลำบากที่เกิดขึ้นจะเกิดได้ในระยะเวลาประมาณ 1-2 วันหลังจากเริ่มมีอาการ อาการหายใจลำบากที่ว่ามักจะเป็นอยู่เพียงชั่วเวลา 12 ชั่วโมง ส่วนมากเด็กที่เป็นโรคครูปมักจะมีอาการไม่มาก และอาการทั้งหมดจะหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน เนื่องจากโรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส อาการจึงหายไปได้เองเมื่อถึงเวลา แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นมากเด็กอาจจะหายใจไม่ออกและถึงตายจากทางเดินหายใจอุดตันได้

การดูแลรักษาด้วยตนเองที่บ้าน

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส การดูแลรักษาที่บ้านย่อมเป็นไปได้ แต่เมื่อรู้ว่าเด็กเป็นโรคครูป เราก็จะประมาทไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดภายใน 1-2 วันแรก จะต้องเฝ้าดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการของทางเดินหายใจที่อาจจะอุดตันได้ตลอดเวลา

ให้เด็กกินน้ำมากน้ำที่ว่าจะเป็นน้ำอะไรก็ได้ ตั้งแต่น้ำเปล่าๆ น้ำส้ม หรือ นม น้ำที่ให้เด็กกินควรจะเป็นน้ำเย็นเล็กน้อย เนื่องจากจะช่วยอาการบวมของกล่องเสียงได้ดีกว่า

ไอน้ำจะช่วยลดอาการบวมของกล่องเสียงที่เกิดขึ้น อาจจะใช้อ่างน้ำร้อนมาวางไว้ในห้อง หรือใช้กาต้มน้ำร้อนให้ไอพุ่งออกมาตลอดเวลาจนเต็มห้องที่เด็กอยู่ แต่ระวังอย่าให้น้ำร้อนลวกหรือเกิดไฟไหม้

ให้ยาลดไข้เพื่อลดไข้ ให้ยาลดน้ำมูกหรือแอนติฮีสตามีน เพื่อลดอาการบวมของกล่อมเสียงขนาดของยาที่ให้ควรเป็นขนาดที่ใช้สำหรับเด็กซึ่งแล้วแต่อายุและน้ำหนักตัวของเด็ก

เมื่อใดที่ต้องพาเด็กไปหาหมอ

1. เมื่อเด็กมีไข้สูงหรือกระสับกระส่ายมาก หายใจเร็วและแรงหรือหายใจลำบาก เด็กที่เป็นโรคครูปทุกคนจะหายใจเสียงดัง แต่จะไม่มีอาการหายใจลำบากทุกคน

2. เมื่อเด็กนอนไม่ได้ ต้องนั่งอยู่ตลอดเวลา

3. เด็กที่เป็นโรคครูป ตัวมักจะแดงเพราะพิษไข้ หากเด็กเริ่มมีอาการตัวเขียวให้พาไปหาหมอโดยเร็ว

4. ถ้าเด็กมีท่าหายใจแบบกระหายอากาศ ต้องพาไปหาหมอทันที ไม่ว่าจะเป็นยามค่ำคืนก็ต้องไปไม่ควรจะเสียเวลารอ

5. ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นโรคครูป ก็ควรจะพาไปหาหมอเช่นเดียวกัน เนื่องจากโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคครูปแต่เป็นโรคที่ร้ายแรงกว่ามากนั้นมี คือ โรคคอตีบ

ดังนั้นเมื่อใดที่สงสัยแยกโรคครูปออกจากโรคคอตีบไม่ได้ ก็ต้องรีบพาไปหาหมอเพื่อวินิจฉัยแยกโรค

ระบบทางเดินปัสสาวะระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ชายและผู้หญิงประกอบด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ เหมือนๆ กัน แต่เนื่องจากมีโครงสร้างของอวัยวะสืบพันธุ์ที่ต่างกัน ทำให้ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชายมาก ด้วยเหตุนี้ เชื้อโรคจึงมีโอกาสเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่าย ทำให้ผู้หญิงเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ขัดเบา) และไตอักเสบได้บ่อยกว่าผู้ชาย

วิธีป้องกัน คือ อย่าอั้นท่อปัสสาวะ ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด จะป้องกันมิให้เชื้อโรคคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ลดการติดเชื้อลงได้

ข้อมูลสื่อ

82-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529
พญ.ลลิตา ธีระศิริ