• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

องุ่น : สำหรับผู้มีร่างกายอ่อนแอ

องุ่น : สำหรับผู้มีร่างกายอ่อนแอ

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสมอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

มนุษย์รู้จักองุ่นมาเป็นเวลานานกว่า 5 พันปีมาแล้ว ถิ่นเดิมขององุ่นอยู่ที่ยุโรป และเอเชียตะวันตก องุ่นได้แพร่เข้าไปในประเทศจีน ในสมัยฮั่นตะวันตก (ค.ศ.206-24 ก่อนคริสต์ศักราช) โดยแพร่ไปจากประเทศ
รัสเซีย

องุ่นเป็นผลไม้ที่ปลูกกันทั่วโลก ปัจจุบันมีเกินกว่า 8 พันชนิด ปีหนึ่งๆ ให้ผลผลิตเกินกว่าถึง 57,000 พันต้น นอกจากส่วนหนึ่งที่ได้รับประทานสดๆ แล้ว ผลผลิตประมาณ 80% ใช้ทำเหล้าและเครื่องดื่ม

องุ่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vitis vinifera Linn วงศ์ VITACEAE

สรรพคุณ

เนื้อองุ่น : มีรสหวาน-เปรี้ยว คุณสมบัติเป็นกลาง สรรพคุณ บำรุงเลือดและพลัง แก้ไอ แก้อาการปวดข้อ รักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ ขับปัสสาวะ

รากต้นองุ่น : มีรสหวาน-ฝาด คุณสมบัติเป็นกลาง สรรพคุณ แก้อาการปวดข้อ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ

เถาและใบ : มีรสหวาน-ฝาด คุณสมบัติเป็นกลาง สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ แก้ตาแดง เป็นฝี

ตำรับยา

1. หญิงตั้งครรภ์มีอาการจุกแน่นหน้าอก: ใช้องุ่น 30 กรัม ต้มกินน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

2. บำรุงร่างกาย หลังฟื้นไข้: ลูกเกด (องุ่นแห้ง) 30 กรัม หรือ เหล้าองุ่น 30 กรัม กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น กินเป็นประจำ (ระยะนานหลายเดือนจึงจะเห็นผล)

3. คอแห้ง กระหายน้ำ: ใช้องุ่นสด 250 กรัม ล้างให้สะอาด กินเช้า-เย็น

4. บวมน้ำเพราะขาดอาหาร: ใช้ลูกเกด 30 กรัม และเปลือกขิงสด 15 กรัม ต้มกินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

5. ปัสสาวะสีเข้มหรือมีอาการแสบทางเดินปัสสาวะเวลาถ่ายปัสสาวะ: ใช้องุ่นสด 250 กรัม คั้นน้ำ แล้วเติมน้ำอุ่นกินครั้งเดียมหมด

6. ปัสสาวะเป็นเลือด: ใช้องุ่นสด 120 กรัม เหง้าบัวสด 250 กรัม ตำให้ละเอียด คั้นน้ำกินวันละ 3 ครั้ง

7. กระทุ้งหัด: ลุกเกด 30 กรัม ต้มกินน้ำ นอกจากนี้ให้ใช้เถาหรือใบองุ่น หรือผักชี จำนวนพอประมาณต้มน้ำอาบ

สารเคมีที่พบ

เนื้อองุ่น มีกลูโคส (Glucose) ฟรัคโตส (Fructose) ซูโครส (Sucrose) จำนวนเล็กน้อย Xylose, Tartaric acid, Oxalic acid, Citric acid, Malic acid

ในองุ่น 100 กรัม มีโปรตีน 0.2 กรัม แคลเซียม 4 มก. ฟอสฟอรัส 15 มก. เหล็ก 0.6 มก. Carotene 0.04 มก. Thiamine 0.04 มก. Riboflavin 0.01 มก.Nicotinic acid 0.1 มก. วิตามิน 4 มก.

เปลือกองุ่น มีCyanidin, Peonidin, Delphinidin, Petunidin, Malvidin, Oenin,

เมล็ดองุ่น มีน้ำมัน 9.58 % Catechol, Gallocatechol และ Gallic acid

ลำต้น มี ซูโครส (Sucrose), Starch, แทนนิน (Tannin), Flavonoid,

ใบ มีTartaric acid, Malic acid, Oxalic acid, Fumaric acid, Succinic acid, Citric acid, Quinic acid, Shikimic acid, Glyceric acid, Isoquercitrin, Quercitrin, Rutin

ราก เถา และใบ มียาง (Rubber) และพวกน้ำตาล เป็นต้น

ผลทางเภสัชวิทยา

กินน้ำมันจากเมล็ดองุ่น 15 กรัม จะลดกรดในกระเพาะอาหาร ถ้ากินขนาด 12 กรัม ทำให้ขับน้ำดีมากขึ้น (จะไม่ได้ผลในระหว่างที่มีอาการปวดถุงน้ำดี) ถ้ากินในขนาด 40-50 กรัม มีฤทธิ์ทำให้ถ่ายอุจจาระ

ใบและลำต้นมีฤทธิ์ฝาดสมานแต่ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ

ข้อควรระวัง

ไม่ควรกินองุ่นมาก จะทำให้ร้อนใน (มีอาการคอแห้ง เจ็บคอ ไอ บางครั้งมีอาการท้องผูก)

เปลือกองุ่นย่อยยาก ผู้ที่ระบบการย่อยไม่ดีหรือท้องอืดเป็นประจำ ไม่ควรกินองุ่น (ถ้าจะกินไม่ควรกินเปลือก)

ข้อมูลสื่อ

81-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 81
มกราคม 2529
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล