• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทำความสะอาดปาก-ฟัน ผู้ป่วยบนเตียง

การทำความสะอาดปาก-ฟัน ผู้ป่วยบนเตียง

ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องนอนอยู่ในเตียงตลอดเวลา นอกจากต้องได้รับการดูแลเรื่องการอาบน้ำ การสระผม การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระปัสสาวะแล้ว ความสะอาดของปากและฟันยังเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องได้รับการดูแลตามความเหมาะสมคือ

1. ถ้าผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุรู้สึกตัวดี พลิก ตะแคงได้ ผู้ดูแลช่วยเหลือด้วยวิธีการแปรงฟันหลังอาบน้ำทุกครั้งตามปกติ สำหรับการบ้วนปาก วิธีป้องกันไม่ให้น้ำหกเปื้อนที่นอนและเสื้อผ้า ด้วยการใช้ภาชนะที่มีรูปร่างเหมือนถั่วหรือทางการแพทย์เรียกว่า ชามรูปไต ช่วยรองรับน้ำโดยวางชามรูปไตข้างที่เว้าเข้าแนกับแก้มผู้ป่วยให้สนิท (ถ้าไม่มีก็ใช้กระโถนธรรมดาแต่ต้องรองผ้ากันเปื้อนบริเวณใต้คอหลายๆ ชั้น)

กรณีที่มีฟันปลอมชนิดถอดได้ต้องถอดออกทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเช่นกัน

การทำความสะอาดฟันปลอมต้องแปรงให้ทั่วทุกซอก จะใช้ยาสีฟันหรือสบู่ก็ได้ล้างให้สะอาด ก่อนนอนควรถอดฟันปลอมแช่น้ำไว้ เพื่อป้องกันให้ส่วนเพดานของฟันปลอมแห้งและแตก นอกจากนี้ยังช่วยให้เนื้อเยื่อในปากและเหงือกได้พักอีกด้วย

2. ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ห้ามใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้โดยเด็ดขาด เพราะอาจหลุดลงคอไปได้ กรณีนี้ผู้ดูแลไม่สามารถแปรงฟันและให้ผู้ป่วยบ้วนปากได้ ต้องใช้วีการเช็ดปาก โดยใช้สำลีพันปลายไม้ที่แข็งแรงและค่อนข้างยาว ชุบน้ำยาสำหรับบ้วนปากหรือน้ำเกลือ เช็ดปาก ฟัน เหงือก ลิ้นเบาๆ จนสะอาด หลังการเช็ดตัวหรืออาบน้ำทุกครั้ง ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ถ้าปล่อยให้ปากและฟันไม่สะอาจะเกิดการติดเชื้อได้ทั้งชนิด “บักเตรี” และ “เชื้อรา” ก่อให้การเจ็บป่วยอื่นตามมาอีก

ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ปากแห้ง แตก ให้ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบกลีเซอรีนโบแรกซ์ขององค์การเภสัชกรรม หรือใช้ขี้ผึ้งทาปากทาก็ได้

อย่าลืมเปรียบเทียบกับตนเองว่า เมื่อปาก-ฟันของท่านสะอาดแล้วท่านรู้สึกอย่างไร ผู้ที่ช่วยตนเองไม่ได้ก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน

ข้อมูลสื่อ

81-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 81
มกราคม 2529
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์