ลำไย: ยาบำรุงธรรมชาติ
อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา เป็นและเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
พูดถึงลำไยของไทยเราตอนนี้ เป็นที่โด่งดังมากในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เช่นเดียวกับทุเรียน เพราะเม็ดโต และอร่อย จนชาวสิงคโปร์ ตั้งชื่อผลไม้ไทยเป็นสิงคโปร์ไปหมด เช่น ทุเรียนสิงคโปร์ ลำไยสิงคโปร์ ฯลฯ
ลำไยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphoria Longan (Lour.) Steud. วงศ์ Sapindaceae.
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าชาวจีนทางใต้รู้จักปลูกลำไยมาตั้งแต่สมัย ฮั่นตะวันตก (หรือประมาณ 2 พันกว่าปีมาแล้ว)
ต่อมาในราวศตวรรษที่ 18 ลำไยจากจีนได้แพร่ไปยังประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย เวียดนาม ไทย เป็นต้น ทำให้ประเทศเหล่านี้เริ่มมีการปลูกลำไยกัน
สรรพคุณ
ใบ มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสหวาน จืด สรรพคุณ แก้หวัด มาลาเรีย ริดสีดวงทวาร
เนื้อ มีคุณสมบัติร้อน รสหวาน สรรพคุณ แก้ผอมแห้งแรงน้อย นอนไม่หลับ ขี้ลืม ใจสั่น บำรุงร่างกาย
เปลือก มีคุณสมบัติร้อน รสหวาน แก้มึนหัว ทำให้ตาสว่าง
ดอก สรรพคุณ ขับนิ่ว
เมล็ด รสฝาด สรรพคุณ ห้ามเลือด แก้ปวด รักษาเกลื้อน
ตำรับยา
1. แก้หวัด : ใช้ใบลำไย 10-15 กรัม ต้มกินต่างน้ำชา
2. ยาบำรุงเลือด : เอาเฉพาะเนื้อลำไย จำนวนพอประมาณ ใส่ลงในภาชนะดินเคลือบ โดยใส่เนื้อลำไยในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำตาล 3 กรัม ตุ๋นหลายๆชั่วโมง กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะประจำ
3. ยาบำรุง : ใช้เนื้อลำไยจำนวนพอประมาณ ดองเหล้าทิ้งไว้ร้อยวัน กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
4. ท้องเสีย : ใช้เนื้อลำไยตากแห้ง 14 เม็ด และขิง 3 แผ่น หั่นบางๆ ต้มน้ำกิน
5. กลาก : ใช้เมล็ดลำไย (แกะเปลือกสีดำออก) ฝนกับน้ำส้มสายชู ทาบริเวณที่เป็น
6. ปัสสาวะไม่ออก : ใช้เมล็ดลำไย (แกะเปลือกสีดำออก) ทุบให้แตก ต้มน้ำกิน
7. ยาบำรุงร่างกาย : เนื้อลำไยแห้ง 10 กรัม ถั่วลิสง 15 กรัม ต้มน้ำกิน
8. กระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ : ใช้เมล็ดลำไยคั่วให้แห้ง แล้วบดเป็นผง ชงน้ำกินครั้งละ 15-20 กรัม
9. อุจจาระเป็นเลือด : ใช้เมล็ดลำไย (เอาเปลือกสีดำออกมา) บดเป็นผง กินละ 6 กรัม ให้กินขนาดท้องว่าง วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
10. รักแร้มีกลิ่น : ใช้เมล็ดลำไย 15 กรัม พริกไทย 9 กรัม บดเป็นผงทารักแร้
สารเคมีที่พบ
ใบ มี Sitosterol,Stigmasterol,Stigamasteryl glucoside,Epifriedelinol,16-Hentriacontanol,Quercetin,Quercitrin.
เนื้อลำไยแห้ง มีน้ำ 0.85% ส่วนที่สามารถละลายได้ มี 79.77% ส่วนที่ไม่ละลายมี 19.39% ash 3.36%
ส่วนที่สามารถละลายได้มี กลูโคส (Glucose) 24.91% ซูโคส (Sucrose),tartaric acid 1.26% adenine &Choline 6.309% นอกจากนี้มีโปรตีน (protein) 5.6% ไขมัน 0.5%
เมล็ด มี Saponaretin และไขมัน
ข้อควรระวัง
สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ท้องอืดแน่น ฝ้าบนลิ้น สีขาว และหนา หรือเป็นหวัด เจ็บคอ (ทอลซินอักเสบ) ไม่ควรกินลำไย
- อ่าน 18,430 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้