จะนอน จะนั่ง จะยืน จะทำงานท่าไหนดี
มีอาการเจ็บปวดหรือโรคหลายชนิดที่สามารถป้องกันได้ ถ้าเราสนใจท่าทางต่าง ๆ ของเราเองในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น
อาการปวดต้นคอ
อาการปวดหลัง
การปวดร้าวลงมาที่แขนและขา
ข้อไหล่ติดขัด
ข้อเท้าแพลง
อาการเสื่อมของข้อสะโพกและข้อเข่า
การฉีกขาดของเส้นเอ็นตามข้อต่าง ๆ
อาการเหล่านี้มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากท่าทางที่ผิดปกติทั้งนั้นซึ่งทำให้ต้องเสียเวลานอนพักหรือไม่สามารถทำงานได้ในระยะเวลาหนึ่ง ทั้งเสียเงินทองที่จะต้องหายามาทา ถู กิน เพื่อลดอาการเจ็บปวด แต่แล้วเนื่องจากไม่ได้แก้ไขที่ต้นตอ อาการต่าง ๆ จึงไม่ได้หายไปและมักจะเป็นมากขึ้นทั้งยังมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากการกินยาอย่างพร่ำเพรื่อ ทำให้เป็นโรคกระเพาะหรือเกิดอาการแพ้ยาอื่น ๆ รวมทั้งการทำลายข้อต่อต่าง ๆ จากผลของยาเหล่านี้
ทางที่ดีเราจึงควรรักษาสุขภาพของเราเอง โดยป้องกันอาการที่อาจเกิดจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึง “ท่านอน” ไปแล้ว และ “ท่ายืน” ว่าจะนั่งจะยืนท่าไหนดี
⇒ท่านั่งของเรา
นอกจากนั่งบนเก้าอี้แล้ว ประเพณีของเรายังนิยมให้นั่งพับเพียบหรือนั่งขัดสมาธิ (รูปที่ 1 ) บนพื้น การนั่งพับเพียบนั้นเป็นท่าที่ไม่เหมาะมาก หลังจะต้องเบี้ยวไปข้างหนึ่งทำให้ต้องใช้มือช่วยพยุงไว้ และคอต้องเบี้ยวมาด้านตรงข้าม เพื่อพยายามให้ศีรษะตั้งตรงอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดอาการปวดหลังและปวดคอได้ง่าย ทั้งยังทำให้ปวดในข้อตะโพกและข้อเข่า
ถ้าจำเป็นจะต้องนั่งกับพื้น ควรจะนั่งในท่าขัดสมาธิ(รูปที่2) ซึ่งหลังจะอยู่ในท่าตรงตลอดเวลา และมีฐานที่มั่นคงมาก ทำให้ใช้กล้ามเนื้อน้อยลงเหมาะสำหรับการนั่งฟังเทศน์ หรือทำงานบนพื้นที่ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ
อย่างไรก็ดีเราควรจะนั่งบนเก้าอี้โดยให้เท้าทั้งสองวางราบอยู่บนพื้น (รูปที่ 3) เก้าอี้ที่สูงเกินไปหรือเตี้ยเกินไปทำให้เกิดอาการปวดหลังและเมื่อยขาได้
ที่นั่งของเก้าอี้ควรจะแข็งหรือแน่นพอสมควร โดยเฉพาะเก้าอี้ที่ใช้ทำงานกับโต๊ะ จำเป็นจะต้องมีที่นั่งที่แข็ง เพื่อให้หลังยืดตรงได้ มีพนักพิงที่เข้ากับบริเวณหลัง(รูปที่ 4 )
เก้าอี้ทำงานทั่ว ๆ ไป ถึงแม้จัดความสูงได้ แต่ก็มีที่นั่งที่นิ่มเกินไป ซ้ำพนักพิงยังควบคุมด้วยสปริงที่อ่อนมาก ทำให้กล้ามเนื้อต้องทำงานตลอดเวลาเกิดความเมื่อยล้าได้ง่าย ที่บริเวณบั้นเอวควรมีหมอนใบเล็ก ๆ เพื่อรักษาส่วนโค้งของกระดูกสันหลังไว้ ควรให้ระดับโต๊ะอยู่ใต้หรือเหนือข้อศอกเล็กน้อย (รูปที่ 5) เพื่อไม่ต้องก้มหรือเงยหน้ามากเกินไป
การนั่งไขว่ห้างบนเก้าอี้ย่อมทำได้แต่ควรจะให้ขาวางอยู่บนต้นขาอีกข้างหนึ่ง ในลักษณะงอที่ตะโพกและหัวเข่าเป็นมุมเกือบ 90 (ดูรูปที่ 6)
การนั่งทำงานเป็นเวลานานย่อมทำให้ปวดหลังได้ง่าย ทางที่ดี ทุกครึ่งชั่วโมงต้องแอ่นหลังและยืดตัวไปข้างหลัง หรือลุกขึ้นเดินไปมา เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และให้กล้ามเนื้อมีโอกาสพักผ่อน
การนั่งขับรถ ควรจะจัดที่นั่งให้ขาสามารถเหยียบห้ามล้อ คลัชและคันเร่งได้อย่างสบาย มือทั้งสองวางอยู่บนพวงมาลัย ข้อศอกงอเล็กน้อย ควรมีเบาะวางบนที่นั่งและมีหมอนเล็ก ๆ วางอยู่ที่บริเวณบั้นเอว(รูปที่ 7 )
การขับรถทางไกลควรจะมีเข็มขัดนิรภัยรัดลำตัวไว้ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว ยังทำให้หลังแนบกระชับกับพนักเก้าอี้รถ ช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังได้อย่างดี
⇒ ท่ายืนของเรา
ในชีวิตประจำวัน เราจะอยู่ในท่ายืนในขณะที่เรารอรถประจำทางแล้วขึ้นไปยืนโหนอยู่บนรถ ทหารหรือตำรวจต้องยืนอยู่ในแถว ครูและพนักงานขายของหน้าร้าน ช่างเสริมสวย การยืนเป็นเวลานานไม่เพียงแต่ทำให้เมื่อยขาเท่านั้น ยังทำให้เกิดความเจ็บปวดที่หลัง ข้อตะโพก ข้อเข่า และเท้า
ท่ายืนที่ถูกต้องควรให้ศีรษะลำตัว และขาอยู่ในแนวเส้นตรง(รูปที่ 8 ) ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง ตามปกติส้นรองเท้าสำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน 1 นิ้วครึ่ง(รูปที่ 9) ส้นรองเท้าที่สูงเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อของขาต้องทำงานอย่างหนัก และเป็นสาเหตุหนึ่งของการปวดหลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนักเพื่อไม่ให้ตัวล้มไปข้างหน้า
ฝ่าเท้าของเรานั้นมีลักษณะเป็นรูปโค้ง(รูปที่ 10 ) เพื่อให้รับน้ำหนักตัวได้ดี เช่นเดียวกับสะพานที่สร้างเป็นลักษณะโค้ง มีคนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่ส่วนโค้งนี้ได้หายไป เกิดอาการเท้าแบน ซึ่งคนสมัยก่อนเข้าใจว่าเป็นคนมีบุญ แต่ความจริงแล้วผู้มีเท้าแบนจะมีกรรมมากกว่า คือจะปวดเมื่อยเท้าเมื่อยืนเป็นเวลานาน
มีรองเท้าบางชนิดทำพื้นในรองเท้าให้นูนขึ้นทางด้านในเล็กน้อย เพื่อช่วยพยุงส่วนโค้งของเท้าไว้ เรียกว่ารองเท้าสุขภาพแต่เนื่องจากมีราคาค่อนข้างแพงจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก แต่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีการปวดหลังจาการยืน
สำหรับผู้ที่ต้องห้อยโหนรถเมล์เป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มือข้างหนึ่งต้องหิ้วกระเป๋าหนักหลายกิโล ส่วนมืออีกข้างหนึ่งต้องโหนราวรถประจำทางซึ่งสูงเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้การเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังจะผิดปกติไปได้ง่าย หลังจะเบี้ยวหรือคด ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก
ตามโรงเรียนต่าง ๆ จึงควรมีลิ้นชักหรือตู้สำหรับเก็บหนังสือของนักเรียนแต่ละคน หรือกำหนดหนังสือที่จะเรียนแต่ละวันให้น้อยที่สุด ไม่ควรให้นักเรียนต้องหอบหนังสือมาโรงเรียนวันละมาก ๆ กระเป๋านักเรียนสำหรับเด็ก ควรจะเป็นกระเป๋าที่สามารถสะพายไว้บนหลังเช่นเดียวกับเป้ จะทำให้หลังอยู่ในแนวตรงได้
สำหรับคนทั่วไปที่ต้องยกของหนัก ควรจะพยายามอุ้มของนั้นให้ชิดกับลำตัว หรือวางไว้บนบ่า ถ้าจำเป็นต้องทำงานในท่ายืน เช่นทำครัวหรือล้างชาม ต้องให้โต๊ะทำงานหรืออ่างน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าข้อศอกเล็กน้อย(รูปที่ 11) เพื่อจะได้ไม่ต้องก้ม ซึ่งจะทำให้ปวดหลังได้ง่าย
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 15,896 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้