• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลิ้นจี่ : ก็เป็นยานะ

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่แจ้งให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

ลิ้นจี่ : ก็เป็นยานะ

ลิ้นจี่แม้จะเป็นผลไม้ชนิดที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการนำมาปลูกทางภาคเหนือของไทยเราเมื่อไม่กี่ปีมานี้ รสชาติเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ที่ยังเกี่ยงกัน คือ ราคาแพงไปหน่อยเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น แต่คิดว่าในไม่ช้าลิ้นจี่คงจะเป็นผลไม้ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของไทยในอนาคต ทั้งราคาและคุณภาพ

ลิ้นจี่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Litchi Chinensis Sonn. วงศ์ Sapindaceae

ต้นกำเนิดของลิ้นจี่ คือ ประเทศจีน มีประมาณ 30-40 พันธุ์ กวีเอกสมัยราชวงศ์ถังชื่อ ป๋ายจีอี้ เคยเขียนไว้ว่า “ถ้าลิ้นจี่ถูกเด็ดจากต้น 1 วัน เปลือกจะเปลี่ยนสี 2 วัน กลิ่นหอมก็จะเปลี่ยน 3 วัน รสชาติก็เปลี่ยนไป และหลังจาก 4-5 วัน ทั้งสี กลิ่น และรสก็จะเปลี่ยนไปหมดสิ้น”

เคยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความอร่อยของลิ้นจี่ ทำให้กษัตริย์ในราชวงศ์จีนหลายสมัยต้องมีคำสั่งให้ม้าเร็วห้อม้านำลิ้นจี่สดในกระบอกไม้ไผ่จากทางภาคใต้ของจีนไปถวายพระสนม (เช่น หยางกุ้ยเฟย) โดยโกหกว่าเป็นคำสั่งด่วนทางราชการ

สารเคมีที่พบ

เนื้อลิ้นจี่ กลูโคส (glucose) 66% ซูโคส (sucrose) 5% โปรตีน (protein) 1.5% ไขมัน 1.4% วิตามิน เอ,บี,ซี, folic acid, malic acid, free arginine และ trytophan

เปลือกลิ้นจี่มี Polyphenoloxidase

เนื้อลิ้นจี่มีคุณสมบัติร้อน (เป็นหยาง) รสหวานปนเปรี้ยว

สรรพคุณ

  • เนื้อ แก้กระหายน้ำ เรออาเจียน ปวดกระเพาะอาหาร ปวดฟัน เป็นฝี เป็นแผลเลือดออก
  • เปลือก แก้บิด แก้ผดผื่น แก้อาการแพ้ที่เกิดจากการกินลิ้นจี่มากเกินไป

ตำรับยา

1. คนชราที่มักมีอาการท้องเสียตอนดึกๆ : ใช้ข้าว 1 กำมือ เนื้อลิ้นจี่แห้งประมาณ 5 เม็ด ต้มเป็นข้าวต้มลิ้นจี่ให้กินติดต่อกัน 3 ครั้ง

2. เด็กปัสสาวะกลางคืน : ให้กินเนื้อลิ้นจี่แห้งประมาณ 10 เม็ด ติดต่อกันจนดีขึ้น

3. กระทุ้งหัด : ใช้เนื้อลิ้นจี่ 9 กรัม ต้มน้ำกิน

4. ร่างกายอ่อนแอหลังฟื้นไข้ : ให้กินเนื้อลิ้นจี่สดวันละ 60-150 กรัม ติดต่อกันครึ่งเดือน

5. ปวดกระเพาะอาหาร (เวลากดบริเวณท้องจะรู้สึกสบาย) : เมล็ดลิ้นจี่หนัก 30 กรัม ตำให้แหลก ต้มกับขิงสด 6 กรัม แล้วกินน้ำ

หมายเหตุ

ผู้ที่ยีนบกพร่อง คือ มีอาการ เวียนหัว ตาลาย มีเสียงในหู ปวดเมื่อยเอว ร้อนอุ้งเท้า ปากคอแห้ง ลิ้นแดง มัฝ้าน้อย ไม่ควรกินลิ้นจี่

ถ้ากินลิ้นจี่มากจะทำให้เกิด “โรคลิ้นจี่” ซึ่งมีอาการหัวใจเต้นเร็ว แขนขาไม่มีแรง มึนหัว หน้ามืดตาลาย เป็นต้น ถ้ามีอาการดังกล่าว ให้เอาเปลือกลิ้นจี่ ต้มกิน อาการก็จะหายไป

ข้อมูลสื่อ

75-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 75
กรกฎาคม 2528
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล