• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยเหลือเด็กชัก

การช่วยเหลือเด็กชัก

การชักในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุตํ่ากว่า 3 ปี มักมีสาเหตุมาจาก “ไข้สูง” ดังนั้นการเช็คตัวเพื่อลดไข้ควรจะได้กระทำทุกครั้ง เพื่อป้องกัน “การชัก” ชั่วระยะเวลาที่เด็กมีอาการชัก สมองจะขาดออกซิเจน ดังนั้น เด็กที่มีอาการชักบ่อย หรือการชักแต่ละครั้งใช้เวลานาน อาจทำให้เด็กพิการสติปัญญาเสื่อม การเจริญเติบโตช้า หรือได้รับบาดเจ็บถ้ามีการตกจากที่สูง เวลาชัก หรือล้มลงบนของมีคมเป็นต้น

นอกจากนี้ เด็กที่ชักโดยไม่มีไข้หรือ ชักหลังจากอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้ว ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้รักษาได้ตรงกับสาเหตุนั้น

เมื่อพบเด็กชัก ควรจะกระทำดังต่อไปนี้

1. พ่อแม่หรือผู้พบเห็นไม่ควรตกใจ ให้อุ้มหรือจับให้พ้นจากการพลัดตก หรือจากของมีคม ตะแคง

หน้าเด็กไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้นํ้าลาย เสมหะ หรืออาจเป็นเศษอาหาร พลัดตกลงไปในหลอดอาหารเพราะขณะชักเด็กไม่รู้สึกตัว

2. ถ้ามีนํ้าลายหรือเสมหะให้ดูดเอาออก โดยใช้หลอดกาแฟ หรือลูกสูบยางที่ใช้กันตามบ้านก็ได้

3. ระวังการกัดลิ้นเวลาชัก ด้วยการใช้ปลายช้อนพันด้วยผ้า ปากกา หรือผ้าม้วนเป็นก้อน ใส่เข้าไปในปากวางบนลิ้น

4. ถอดเสื้อผ้าออก เช็ดตัวด้วยนํ้าเย็น หรือนํ้าใส่นํ้าแข็ง ค่อนข้างแรงและเร็ว วางผ้าที่ชุบนํ้าบิดหมาดๆ ไว้ตามซอกพับต่างๆ เพื่อให้ไข้ลดลง

5. เมื่อเด็กหยุดชัก ให้นอนตามสบาย สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับอากาศ

6. ถ้ามีอาการอ่อนเพลียมาก หรือชักติดต่อกันบ่อยครั้ง หรือไข้สูงไม่ลด ควรพาไปสถานพยาบาลที่ใกล้บ้าน

ข้อควรคำนึง

ขณะเด็กชัก ไม่ควรกรอกยาหรือกรอกนํ้าเป็นอันขาด เพราะเด็กไม่รู้สึกตัว จะสำลักยาและนํ้า ซึ่งถ้าเข้าไปในปอดจะทำให้เกิด “ปอดบวม’”

เด็กที่มียากันชักรับประทานต้องให้ยาสมํ่าเสมอตามแพทย์สั่งและจะหยุดยาต่อเมื่อแพทย์สั่งให้หยุดเท่านั้น

เด็กบางคนก่อนชักอาจมีอาการนำ เช่น ตาเหลือก กระตุก มีอาการแปลกๆ ควรสังเกตไว้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันที

เด็กที่เคยชัก มักมีแนวโน้มจะชักอีกเมื่อมีไข้สูง ดังนั้นไม่ควรให้เด็กมีไข้สูง

นอกจากความไม่สมดุลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับจำนวนประชาชนแล้ว ภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันยังทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้บริการของสถานพยาบาลได้ทุกครั้ง การดูแลตนเองหรือดูแลซึ่งกันและกันเมื่อมีความผิดปกติบางอย่างจึงมีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือบรรเทาภาวะวิกฤติก่อนที่จะไปสถานพยาบาลได้ และปัญหาบางอย่างต้องการเพียง พยาบาลในบ้าน

ข้อมูลสื่อ

73-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์