ฉบับที่ผ่านมา เราได้คุยกันไปว่าก่อนจะเริ่มเดินบนวิถีแห่งโยคะ วิถีสู่ความสมดุลของสุขภาพ จะต้องทบทวนองค์ประกอบ 4 ประการ
1. เป้าหมายสูงสุดที่เราจะไปให้ถึง
3. จุดเริ่มต้นของตัวเราเอง ศักยภาพ จริตของเรา ณ ขณะนี้
3. แนวทางเดินที่เราได้พิจารณา เลือกแล้วว่าน่าจะเป็นแนวนี้ และ
4. ความเพียร ทั้งวินัย และการหมั่นทบทวนการเดินทางของเราเป็นระยะๆ คราวนี้ เราเข้าเรื่องวิถีฯ กัน
มาเริ่มกันตั้งแต่ตื่นนอนเลย พวกเราคนรักโยคะตื่นกันตอนกี่โมง?
จริงๆ ตัวเลขไม่ใช่สาระหรอก ที่สำคัญอยากให้เราทบทวนว่าเวลาที่ตื่นอยู่ทุกเช้านี้ลงตัวไหม? และเวลาที่เราตื่นนี้ เหมาะสมแล้วหรือยัง?
ผมคงไม่ระบุตัวเลขว่าต้องเป็นกี่โมง เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ ต่างคนต่างต้องบริหารจัดการกันเอง เรามาพูดถึงหลักคิดดีกว่า ผมแบ่งเวลาตื่นเป็น 2 ลักษณะคือ ตื่นก่อนเช้า และตื่นหลังเช้า
นักเรียนโยคะที่ได้คุยด้วย ส่วนใหญ่ตื่นหลังเช้า หมายถึงว่าเวลาที่ตื่นมานั้น สิ่งแวดล้อมแทบทุกอย่างรอบตัวตื่นแล้ว เช่น พระอาทิตย์ตื่นแล้ว ท่านปลุกชีวิตทั้งหลายขึ้นมารอเราแล้ว น้ำเต้าหู้หน้าปากซอยตั้งโต๊ะขายแล้ว กำลังรอเราไปซื้อหนังสือพิมพ์มาส่งแล้ว (หรือรายการข่าวเช้าทางทีวีเริ่มแล้ว) รอไปเปิดอ่าน-เปิดดู ลูกตื่นแล้ว กำลังรอเราไปดูแล
บางคนได้โบนัสเพิ่ม คือเจ้านายโทร.มาสั่งงานก่อนเราลุกจากเตียงเสียอีก การตื่นแบบนี้ เราเป็นฝ่ายตั้งรับ ออกจะเสียเปรียบ เพราะทุกสิ่งล้ำหน้าเราไปแล้วทั้งสิ้น แทบจะไม่มีเวลาตั้งตัว แทบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาสัมผัสชีวิตของวันใหม่เลยแหละ
วิถีชีวิตแห่งโยคะเป็นเรื่องของการตื่นก่อนเช้า เราลุกขึ้นมาขณะที่ทุกอย่างยังคงหลับใหล ทำให้มีเวลาสำหรับตัวเอง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Me Time คือช่วงเวลาที่เป็นของฉันจริงๆ เป็นช่วงเวลาที่คนรักโยคะฝึกอาสนะ ฝึกลมหายใจ ฝึกสมาธิ เช่นกัน ใครจะฝึกอะไรก่อนหลัง ใครจะฝึกอะไรกี่นาที เป็นเรื่องเฉพาะตนที่ไม่มีใครตอบเราได้นอกจากตัวเราเอง
ช่วงเวลาแรกของชีวิตใหม่นี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ตนเอง บางคนใช้คำว่า "รู้กาย - รู้ใจตนเอง" บ้างใช้คำว่า "รู้และเข้าใจตนเอง" ได้ทั้งนั้น การค่อยๆ ฝึกทักษะแห่งการหยั่งรู้เข้าใจตนเองนี้แหละ เป็นการสะสมระยะทางสู่เป้าหมายสูงสุด ผมเรียกว่าเป็นการหยอดกระปุกสู่นิพพาน ถ้าพวกนักการตลาดเขาเรียกสะสมแต้มอะไรทำนองนั้น
พวกเราคนอ่านหมอชาวบ้านล้วนเป็นฆราวาส ยังต้องรับผิดชอบภาระต่างๆ หลายอย่าง แต่เราก็สนใจเรื่องการพัฒนาจิตด้วย เราไม่อาจทุ่มเทเวลาทั้ง 24 ชั่วโมง ไปเพื่อการพัฒนาจิต แต่เราก็รู้ว่า ต้องบริหารเวลาส่วนหนึ่งไว้เพื่อการนี้ และเราก็เลือกเราเวลาก่อนเช้า (ซึ่งเป็นเวลาที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเห็นด้วยร่วมกันว่าเป็นเวลาที่ดีที่สุดของวัน) นี่แหละ มาฝึกโยคะ
เมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมานี่เอง ครูท่านหนึ่งมาคุยด้วย แกฝึกโยคะสม่ำเสมอทุกเช้ามา 2 ปีแล้ว ทำไมพักหลังไม่รู้สึกอยากทำท่าอาสนะ ตื่นมาก็ฝึกสมาธิ หรือบางทีก็รู้สึกอยากเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ไม่ใช่รูปแบบท่าโยคะอาสนะ แกถามผมว่ามันผิดไหม?
ผมถามกลับไปว่ายังเป็นการตื่นเวลาเดิมใช่ไหม แกตอบว่าใช่
ผมถามว่าที่ไม่ทำท่าอาสนะนั้น ไม่ใช่เพราะขี้เกียจนะ แกตอบว่าไม่
ผมถามว่าหลังการใช้เวลาก่อนเช้าอยู่กับตนเอง แม้ทำท่าอาสนะน้อยลง แต่ความรู้สึกสุดท้ายคือความสงบจิต สงบใจ ยังได้รับเช่นเดิมไหม แกบอกว่าเหมือนเดิม
ผมบอกว่าคุณก็ยังคงทำโยคะอยู่นี่นา แม้จะไม่ได้ทำท่าอาสนะก็ตาม
ห้วงเวลาก่อนเช้านี่เอง ที่ทำให้โยคีมีความเป็นโยคี เพราะเป้าหมายสูงสุดของโยคีคือการบรรลุสภาวะที่จิตมีความสงบ ละเอียด จนขจัดม่านแห่งอวิชชา (ที่เบาบางลงมากแล้ว) ออกเสียได้ หยั่งรู้สู่ความจริงแท้ของโลกและความจริงแท้ของจิต ซึ่งยิ่งเราใช้เวลาก่อนเช้ามาพัฒนาทักษะได้มากเท่าได ก็ยิ่งเคลื่อนเข้าใกล้เป้าหมายมากเท่านั้น ส่วนเรื่องการห่มด้วยท่าอาสนะที่ดูแปลกตา ดูน่าทึ่ง เป็นแค่เปลือกภายนอก เท่านั้น
ถ้าพูดถึงในฐานะของครูโยคะ ที่เรายังคงมีหน้าที่ในการสาธิตท่าอาสนะให้นักเรียนได้ฝึกตาม การฝึกท่าโยคะก็เป็นองค์ประกอบของอาชีพอยู่ดี
เรื่องตื่นก่อนเช้านี้ ผู้ฝึกโยคะเบื้องต้นหลายคนบ่น คือเขารู้นะว่าดี แต่นอนดึกเลยตื่นไม่ไหว ผมเองเห็นด้วยว่าอย่าไปฝืนสังขาร อย่าไปเสียสตางค์ซื้อนาฬิกาปลุก แต่น่าจะกลับมาทบทวนว่าทำไมนอนดึกต่างหาก ซึ่งพอถามเข้าจริงๆ (ยกเว้นเพื่อนพยาบาลที่มีข้อจำกัดของเวลา) แทบทุกคนล้วนพบว่า การใช้เวลาช่วงดึกที่ผ่านมา ไม่มีคุณภาพเอาซะเลย เอ้าเมื่อรู้แล้วก็เหลือแค่ "ทำ"
ขอย้ำว่าความท้าทายของการเป็นโยคี ไม่ได้อยู่ที่การทำท่าโยคะ แต่ขึ้นกับความกล้า ความเพียรที่จะทำในสิ่งที่เราตระหนักว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจะต้องทำ ผู้อ่านเห็นด้วยมั้ยครับ
- อ่าน 6,479 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้