• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้อหินเฉียบพลัน

ต้อหิน เป็นโรคตาชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้

โรคนี้ไม่เกี่ยวกับหินแต่อย่างใด แต่เรียกชื่อว่าต้อหิน ก็เนื่องจากโรคนี้มีภาวะความดันในลูกตาสูงกว่าปกติอันเกิดจากน้ำเลี้ยงภายในลูกตาระบายออกข้างนอกลูกตาไม่ได้ เกิดการคั่งอยู่ภายในลูกตาอย่างสะสม เหมือนการฉีดน้ำเข้าไปในลูกโป่ง จึงมีความดันภายในลูกตาสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าใช้นิ้วคลำลูกตาจากภายนอก จะพบว่าลูกตามีความแข็งตัวมากกว่าปกติ จึงเปรียบว่าคล้ายหินนั่นเอง

♦ ชื่อภาษาไทย ต้อหินเฉียบพลัน
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Acute glaucoma
♦ สาเหตุ
เกิดจากโครงสร้างของลูกตาผิดแปลกไปจากคนปกติ คือมีช่องลูกตาหน้า (ช่องว่างระหว่างกระจกตากับแก้วตา) แคบและตื้น จึงมีมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา (มุมระหว่างกล้ามเนื้อม่านตากับกระจกตา) แคบกว่าปกติ เมื่อมีเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว (ทำให้เห็นรูม่านตาขยายตัว) เช่น อยู่ในที่มืด มีอารมณ์โกรธ ใช้ยาหยอดหรือยากินที่ทำให้รูม่านตาขยาย (เช่น อะโทรพีน, ไฮออสซีน) ก็จะทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาถูกปิดกั้น น้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกไปไม่ได้ ก็เกิดคั่งอยู่ในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นเฉียบพลัน เกิดอาการของโรคต้อหินเฉียบพลัน (ปวดศีรษะและปวดตาข้างเดียว ตาพร่ามัว) ขึ้นทันทีทันใด

ต้อหินเฉียบพลันมักพบในผู้ที่มีสายตายาว (มองใกล้ไม่ชัด) เพราะมีกระบอกตาสั้น และช่องลูกตาหน้าแคบ และเกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก เนื่องเพราะแก้วตาของผู้สูงอายุมีความหนาตัว ทำให้ช่องลูกตาที่แคบอยู่แล้ว ยิ่งแคบมากขึ้นไปอีก จึงมีโอกาสเกิดต้อหิน มากขึ้น

ต้อหินชนิดนี้ สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ จึงมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย
                  
♦ อาการ
อยู่ๆ ผู้ป่วยมีอาการปวดลูกตา และศีรษะข้างหนึ่งอย่างฉับพลันรุนแรงต่อเนื่องนานเป็นวันๆ กินยาบรรเทาปวดก็ไม่ทุเลา มักจะปวดจนนอนไม่หลับ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีรุ้ง และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

บางรายอาจมีอาการปวดตา ตาแดง ตาพร่า เห็นแสงสีรุ้งเป็นพักๆ นำมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการมักจะเป็นตอนหัวค่ำ หรือขณะอยู่ในที่มืด (กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว รูม่านตาขยาย) หรือขณะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ (เพราะจะมีเลือดไปคั่งที่กล้ามเนื้อม่านตา ทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ยิ่งแคบมากยิ่งขึ้น) แต่ละครั้งอาจเป็นอยู่นาน 1-2 ชั่วโมง ก็ทุเลาไปได้เอง หรือนอนพักสักครู่ก็อาจทุเลาไปได้เอง

                                      

♦ การแยกโรค

อาการปวดศีรษะหรือปวดตาข้างเดียว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- ไมเกรน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ (บริเวณขมับ) ข้างเดียวและร้าวเข้ากระบอกตา เป็นๆ หายๆ มาตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว แต่ละครั้งปวดนาน 4-72 ชั่วโมง มักมีเหตุกระตุ้นให้กำเริบ เช่น ถูกแสงจ้า ใช้สายตามาก ได้ยินเสียงดัง ได้กลิ่นฉุนๆ อดนอน อากาศร้อน หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า ขณะมีประจำเดือน เป็นต้น การตรวจดูตา จะไม่พบสิ่งผิดปกติ (ซึ่งแตกต่างจากต้อหินเฉียบพลัน ที่จะมีอาการตาแดง ม่านตาขยาย)

- ไซนัสอักเสบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วงรอบๆ กระบอกตา มีเสมหะไหลลงคอ ขากออกมาเห็นเป็นเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว มักจะมีอาการหลังเป็นหวัด

- ม่านตาอักเสบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาข้างเดียว ตาพร่ามัว ตาแดง อาการคล้ายกับต้อหินเฉียบพลัน แต่จะตรวจพบรูม่านตาหดตัว

- โรคตาอื่นๆ
เช่น ตาอักเสบ (เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตา) แผลกระจกตา (ปวดตารุนแรง ตาแดง อาจมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ตา เช่น ถูกใบไม้ ใบหญ้าบาด)

- เลือดออกในสมอง
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน และเป็นต่อเนื่องเป็นวันๆ บางรายอาจมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน

                                     

♦ การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการตรวจพบว่าตาข้างที่ปวด มีลักษณะผิดปกติ คือตาแดงเรื่อๆ รอบๆ บริเวณตาดำ กระจกตาบวมขุ่น (มองไม่ชัด) และรูม่านตาโตกว่าข้างที่ปกติ
เมื่อทำการตรวจวัดความดันลูกตา จะพบว่าสูงกว่าปกติ

♦ การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดศีรษะและปวดตาข้างเดียว ให้ตรวจดูตาว่ามีลักษณะตาแดงหรือไม่
ถ้ามั่นใจว่าไม่มีอาการตาแดง และมีประวัติเคยเป็นไมเกรนมาก่อน ให้กินยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล) แล้วนอนหลับสักพัก ถ้าทุเลาได้ก็แสดงว่าน่าจะเป็นไมเกรน

ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะข้อใด ข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- กินยาบรรเทาปวดแล้วไม่ทุเลา
- ปวดรุนแรง ปวดจนนอนไม่หลับ หรือรู้สึกปวดมากกว่าที่เคยเป็น
- ตาแดง
- มีอาการตาพร่ามัวอย่างต่อเนื่อง
- มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว

♦ การรักษา

เมื่อตรวจพบว่าเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน แพทย์จะรีบให้การบำบัดทันที เช่น ให้ยากินและยาหยอดตาที่มีตัวยาในการลดความดันลูกตา แล้วนัดมาผ่าตัดเพื่อระบายน้ำเลี้ยงลูกตา
บางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดระบายน้ำเลี้ยงลูกตาด้วยแสงเลเซอร์ให้ทันที ซึ่งใช้เวลาไม่มากในการทำ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที ความดันลูกตาที่สูงขึ้นฉับพลัน จะทำลายจอประสาทตา จนทำให้ตาบอดอย่างถาวรได้

♦ การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดระบายน้ำเลี้ยงลูกตา จะช่วยให้โรคหายขาดได้ สายตาเป็นปกติ
แต่ถ้าปล่อยไว้ จนจอประสาทตาถูกทำลายก็จะทำให้สายตาพิการอย่างถาวร

♦ การป้องกัน
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กความดันลูกตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ถ้าพบว่ามีความดันลูกตาสูง แพทย์จะได้ให้ยาควบคุมและเฝ้าติดตาม เพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคต้อหินตามมา

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้ประปราย พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบในวัยกลางคนขึ้นไป

ข้อมูลสื่อ

359-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 359
มีนาคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ