มนุษย์ทุกคนล้วนเดินทางไปสู่ความสุข คนส่วนใหญ่อยู่ในโลกแห่งวัตถุ ก็จะแสวงหาความสุขที่อิงกับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงินทอง ลาภยศ คำสรรเสริญ โดยมีคนส่วนน้อยที่ไม่ได้ใส่ใจกับวัตถุ ก็จะแสวงหาความสุขที่ละเอียด เป็นความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ความสุขที่มีอยู่ภายในตนเอง ซึ่งไม่ว่าเรากำลังสนใจความสุขระดับไหน เมื่อพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ความสุขของเราก็จะละเอียดลงๆ
ฉบับที่แล้วเราพูดถึงเป้าหมายสุดท้ายของโยคี คือจิตที่คืนสู่สภาวะเดิมแท้ หยุดการปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง เห็นตามความเป็นจริง เป็นอิสระอย่างแท้จริง ฉบับนี้ เรามาพูดถึงจุดเริ่มต้นกัน (โปรดสังเกตว่า ในการเดินไปตามวิถี หรือในการทำอะไรก็แล้วแต่ เราเริ่มจากวางเป้าหมายให้ชัดก่อน)
จุดเริ่มต้นของวิถีแห่งโยคะก็คือการตระหนักถึงสถานภาพของเรา ณ ตอนเริ่มต้นนี้นั่นเอง ซึ่งก็มีความสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตเช่นกัน ผู้ฝึกบางคน ได้ยินใครต่อใครพูดกันว่าโยคะดี เห็นภาพคนทำท่าโยคะได้อย่างสวยงาม ก็ทำท่าตามเลย (โดยไม่รู้ว่าโยคะคืออะไร โดยไม่รู่ว่าตัวเองเป็นอย่างไร) อาจได้รับบาดเจ็บ ได้รับโทษจากการฝึกโยคะ
กล่าวได้ว่า การเห็นเป้าหมาย และรู้จุดยืนของตนเอง ณ ปัจจุบัน จะเป็นการสร้างวิถีขึ้นมา เป็นการสร้างทรรศนะในการดำเนินชีวิตขึ้นมา ซึ่งจะเป็นวิถีเฉพาะตน ที่เหมาะสมสอดคล้องกับตนเอง เพราะแม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน หากคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนจะมีวิถีเหมือนกันเป๊ะ
วิถีนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องออกแบบให้กับตนเอง ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ ดังนั้น การที่เราจะทำท่าโยคะท่าไหน ทำอย่างไร ทำนานแค่ไหน ครูอาจจะช่วยแนะนำในเบื้องต้น แต่เราต้องเป็นคนจัดปรับให้เหมาะสมกับตนเอง
เป้าหมายชัดแล้ว เห็นจุดตั้งต้นแล้ว ออกแบบวิถีที่จะดำเนินแล้ว จากนั้นก็ ออกเดิน ด้วยความเพียร (โยคะนั้น ดำเนินไปด้วยความเพียร และความละวาง)
ถ้าถามว่าในการฝึกโยคะ ส่วนไหนยากที่สุด ผู้เขียน อยากจะตอบว่าความเพียร นี่แหละยากที่สุด ตำราโยคะ โบราณไม่เคยบอกเลยว่าให้ทำท่าไหน แค่ไหน อย่างไร บอกเพียงให้มีความเพียร ให้ทำด้วยความสม่ำเสมอ ลองพิจารณาดูให้ดี ใครก็ตามที่ตั้งเป้าไว้ชัด หันทิศได้ถูกต้อง แล้วออกเดิน ย่อมต้องบรรลุเป้าหมายอย่างแน่นอน (ถ้าชาตินี้หมดเวลาเสียก่อน ก็มาเดินต่อชาติหน้า)
ผู้เขียนเคยปรึกษา นายแพทย์ วิศาล คันธารัตนกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยเรื่อง การรณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกาย ซึ่งระบุไว้ในงานวิจัยว่า ปัญหาที่หนักที่สุดคือ การชักชวนให้ประชาชนมาทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง เมื่อตระหนักข้อเท็จจริงนี้ ผู้อ่านที่จะดำเนินวิถีโยคะจะได้รู้จุดอ่อน และหาวิธีป้องกัน (ไม่ให้ตัวเองขี้เกียจน่ะ)
นอกจากการปฏิบัติให้สม่ำเสมอแล้ว ความเพียรอีกด้านหนึ่ง ที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญที่สุดสำหรับคนไทยคือ ความเพียรที่จะคิด ที่จะพิจารณาไตร่ตรอง ประเด็นนี้ได้เขียนมาหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งที่ไปสอนโยคะ ก็จะพูดถึงประเด็นนี้เสมอ เพราะพวกเราชาวไทย ยังคิดน้อยมาก ยังไม่มีทักษะในการคิด
ผู้เขียนอยากเห็นเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติด้วยซ้ำ ไม่เพียงแต่ในบรรดาผู้สนใจฝึกโยคะเท่านั้น ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ในกลุ่มคนเมือง แม้กระทั่งในองค์กรธุรกิจที่ใหญ่โต ก็พบว่า เราขาดความประณีตในการคิด การวิเคราะห์ การไตร่ตรองยังน้อยเกินไป
ขออนุญาตนอกเรื่องเล็กน้อย สำหรับผู้สนใจเรื่องพัฒนาการคิด ผู้เขียนแนะนำหนังสือ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ ที่วางหลักการไว้ให้เราได้ศึกษาและลองปฏิบัติ ใครไม่ถนัดคำพระคำบาลี ก็ลองหนังสือแนะนำเรื่องการคิดที่เป็นสากล ได้รับการยอมรับ เช่น แผนที่ความคิด Mind map ของ Tony Buzan ซึ่งมีภาคภาษาไทยโดย อาจารย์ธัญญา ผลอนันต์ หรือหนังสือวิธีคิดต่างๆ ของแพทย์ชาวอังกฤษ Edward de Bono ผู้ใช้เวลากว่า 30 ปี เขียนหนังสือเกี่ยวกับการคิด 80 เล่ม ซึ่งได้รับการแปลกว่า 40 ภาษาทั่วโลก ฯลฯ
โดยสรุป วิถีโยคะประกอบด้วย
1) เป้าหมายที่ชัดเจนคือจิตที่ปลอดจากอวิชชา
2) จุดเริ่มต้นที่ตรงตามความเป็นจริงคือการตระหนักถึงจุดยืนของตนเอง รู้ขีดความสามารถ ข้อจำกัดของตนเอง
3) วิถีทางที่จะเดิน ทรรศนะ ซึ่งโยคีแต่ละคนจะต้องออกแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับตนเอง
4) ความเพียรที่จะก้าวเดินไปอย่างสม่ำเสมอ ทั้งวินัยในการปฏิบัติและการติดอาวุธทางความคิดให้กับตนเอง และอย่าลืมที่จะละวาง คือตัดอุปสรรคอันได้แก่ "ความคาดหวัง" ทิ้งไป พึงระลึกว่าว่าอะไรที่เราทำได้ ต้องเพียรทำให้ถึงที่สุด ส่วนผลนั้น อยู่นอกขอบเขตของเราโดยสิ้นเชิง ผลเกิดจากเหตุที่เราใส่เข้าไปเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการบังคับ คาดคั้นของเราแต่อย่างใด
- อ่าน 4,654 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้