ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 65
ตำรวจ 2 นายถูกผู้ร่วมชุมชนในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ขับรถพุ่งชนจนได้รับบาดเจ็บ ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และถูกนำตัวไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังได้รับการตรวจรักษาเบื้องต้นในห้องฉุกเฉินแล้ว ตำรวจทั้ง 2 คนก็ถูกรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
ในหอผู้ป่วย ได้มีแพทย์ผู้หนึ่งสั่ง (หรือ ? พูดเล่น) พยาบาลในทำนองว่า "ไปให้น้ำเกลือมันทำไม ไม่ต้องไปรักษามันหรอก"
พยาบาลผู้นั้นจึงได้บอกกับตำรวจที่มาด้วย ให้รีบหาทางย้ายผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตำรวจทั้ง 2 คน ก็ได้รับการย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลาต่อมา
ในวันต่อๆ มา ได้มีแพทย์กลุ่มหนึ่งในโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ได้ออกแถลงการณ์และติดป้ายผืนใหญ่หน้าโรงพยาบาล และติดป้ายเล็กๆ ตามห้องตรวจในโรงพยาบาลในทำนองว่า "ไม่รักษาตำรวจ" จนเป็นข่าวใหญ่ในสื่อมวลชนทุกประเภท สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สังกัดอยู่
จนผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย ต้องออกมาปฏิเสธและแจ้งว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทยยังให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยเท่าเทียมกัน และไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายใดๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการลงโทษใดๆ ต่อแพทย์จำนวนไม่น้อยที่แสดงพฤติกรรมอันผิดจรรยาแพทย์อย่างร้ายแรง
เหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์หลายคนในโรงพยาบาลอื่นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็ได้แสดงพฤติกรรมในทำนองเดียวกัน (ดูข่าวในหนังสือพิมพ์ที่แนบมาด้วย)
ทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของวิชาชีพแพทย์และ ต่อวงการแพทย์ไทย และต่อสัญลักษณ์ "กาชาด" ด้วย
เพราะวิชาชีพแพทย์ และสัญลักษณ์ "กาชาด" เป็นวิชาชีพและสัญลักษณ์แห่งสถาบัน/องค์กรที่จะให้การช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางการเมือง ศาสนา อุดมการณ์ ชั้นวรรณะ ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม สีผิว อาชีพ และความแตกต่างใดๆ
แต่แพทยสภา ซึ่งมีหน้าที่จะต้องดูแลแพทย์ และรักษาเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพแพทย์ มิได้ดำเนิน การลงโทษแพทย์ที่กระทำผิดจรรยาแพทย์เหล่านั้น เพียงแต่ออกประกาศว่า แพทย์ทุกคนต้องทำการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยทุกคนในภาวะฉุกเฉิน จะปฏิเสธการรักษาไม่ได้ และแพทย์ที่ออกมาแสดงความเห็นว่า "ไม่รักษาตำรวจ" เป็นเพียงการแสดงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของแพทยสภาหรือแพทย์ส่วนใหญ่ จึงไม่ได้ดำเนินการลงโทษแพทย์ที่ประพฤติผิดจริยธรรมแพทย์เหล่านั้นให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน อย่างชัดเจน
เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และแพทยสภา ก็ "วางเฉย" ในลักษณะคล้ายๆ กัน โดยไม่ดำเนินการลงโทษแพทย์จำนวนไม่น้อยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เช่นในกรณีที่แพทย์จำนวนมากออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่าจะ "ไม่รักษาทหาร" หลังเหตุการณ์ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
วิชาชีพแพทย์ เป็นวิชาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพ (แพทย์) จะต้องทำการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยทั้งรวยและจน ทั้งโจรผู้ร้ายและโจรผู้ดี ทั้งคนดีมีเกียรติและไม่มีเกียรติ ทั้งคนที่ชอบ "สีเหลือง" และ "สีแดง" ฯลฯ อย่างเท่าเทียมกัน และเต็มความสามารถของตนในสภาวการณ์นั้นๆ
แม้แต่ในสนามรบ แพทย์-พยาบาลหลายคนต้องเสียชีวิต/เลือดเนื้อเพราะกระสุนปืน/ระเบิดของข้าศึก แต่เมื่อทหารฝ่ายข้าศึกบาดเจ็บ แพทย์/พยาบาลต้องให้การรักษาอย่างเต็มความสามารถเช่นเดียวกับทหารของฝ่ายตน
แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันผลิตแพทย์ต่างๆ และองค์กรแพทย์ทุกสถาบัน จะต้องปลูกฝังให้แพทย์ทุกคนมีอุดมการณ์และจรรยาแพทย์ดังกล่าวข้างต้น และไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ "การปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย เพราะความเห็นความเชื่อที่แตกต่างกัน" เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด
อนึ่ง แพทยสภาและองค์กรแพทย์ต่างๆ ก็ได้ละเลยที่จะดำเนินการลงโทษแพทย์ที่ใช้ "ความรู้ทางวิชาชีพแพทย์" ในการตัดสิน/ประณามผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาทางการเมือง เช่น
เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีแพทย์ผู้ใหญ่และแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา 3 คน ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นโรคสมองเสื่อม (Alzhimer's disease) โดยอ้างเหตุผลทางวิชาการต่างๆ เพื่อกดดันให้พลเอกชวลิต ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ปรากฏ ว่าพลเอกชวลิตป่วยเป็นโรคดังกล่าว
ในปี พ.ศ. 2551 ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หญิงคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแพทย์ ที่เคยเป็นถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก็ได้ใช้วิชาชีพแพทย์ ในการตัดสิน/ประณาม นายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยข้ออ้าง (เหตุผล) ทางการแพทย์ ซึ่งผิดจรรยาแพทย์อย่างชัดเจน
แต่แพทยสภาและองค์กรแพทย์ต่างๆ ก็ "วางเฉย" (ไม่ดำเนินการลงโทษการประพฤติผิดจริยธรรมทางการแพทย์ดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์)
จึงไม่น่าแปลกใจที่ศักดิ์ศรีของแพทยสภา ของสถาบันแพทย์ต่างๆ และของวิชาชีพแพทย์จะตกต่ำลง
สภากาชาดไทยก็เช่นเดียวกัน ปล่อยให้กลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" นำสัญลักษณ์ "กาชาด" (กากบาทสีแดง) ไปติดตามร่างกายของฝ่าย "พันธมิตร" และยานพาหนะของ "พันธมิตร" จำนวนไม่น้อย เพื่อขนย้ายการ์ดหรือผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรขนอาวุธ จับกุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม และอื่นๆ ที่ไม่ใช่การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
ซึ่งผิดหลักการของ "กาชาดไทย" และ "กาชาดสากล" อย่างชัดเจน จนองค์การ "กาชาดสากล" ได้ประท้วงมาหลายครั้ง แต่สภากาชาด ไทยก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อการยุติการใช้สัญลักษณ์ "กาชาด" ไปในทางที่ไม่ถูกต้องได้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้สัญลักษณ์ "กาชาด" ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธาว่าเป็น "กลาง" อีกต่อไปในประเทศไทย
หวังว่า ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจะเร่งฟื้นฟูศักดิ์ศรี และจริยธรรมของวิชาชีพแพทย์ และความเป็น "กลาง" ของสัญลักษณ์ "กาชาด" ไทยให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนไทยต่อไป
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2551
• เฉลิม เชื่อหมอต้านแค่การเมือง
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในหลักการมีกฎเกณฑ์ของแพทยสภาอยู่ว่า แพทย์มีหน้าที่ทำอะไร ซึ่งจากการตรวจสอบกลุ่มแพทย์ที่แสดงความคิดเห็นเป็นแพทย์ที่ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่ได้คัดค้านกลุ่มแพทย์ที่แสดงความเห็น ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่รับผิดชอบและแพทยสภาออกมาแก้ข่าวแล้วว่า คงทำอย่างนั้นไม่ได้ เข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มแพทย์นั้น คงกระทำในขณะที่มีอารมณ์ทางการเมือง แต่ก็เชื่อว่าคนเรียนแพทย์มาจะมีจรรยาแพทย์และจะไม่ทำอย่างนั้น
• รพ.จุฬาแจง ผบ.ตร. รักษาทุกคน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รอง ผบช.ก.ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ทาง รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รอง ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงการณ์ รักษาการแทน ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.ประสงค์ ศิริวิริยะกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รักษาการแทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือด่วนถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ชี้แจงยืนยันว่า ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ มีความรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้คำยืนยันว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย และยึดมั่นในหลักกาชาดสากล คือ ยึดหลักการรักษาตามหลักมนุษยธรรม ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา และความคิดเห็นทางการเมือง ไม่เกี่ยวข้องหรือเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในเวลาใดหรือกรณีขัดแย้งใด อันเนื่องมากจากเหตุผลทางการเมือง เชื้อชาติหรือศาสนา มีอิสระในบริการด้านมนุษยธรรม โดยไม่ขึ้นกับองค์กรหรือสถาบันใด ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เข้าใจ และผู้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว
• อจ. แพทย์ มช. ยันมีสิทธิตาม รธน.
ที่ จ.เชียงใหม่ นพ.ศตวรรษ ทองสวัสดิ์ อาจารย์แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า จากแถลงการณ์กลุ่มอาจารย์แพทย์ มช. 35 คน ที่จะงดตรวจบุคคลในคณะรัฐมนตรี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และตำรวจ เนื่องจากเป็นผู้สั่งการสนับสนุนเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนบริเวณรัฐสภา ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า 1. การเลือกตรวจบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน เป็นสิทธิที่แพทย์สามารถสงวนได้ โดยมีเหตุผลอันสมควร เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 เรื่องเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ ระบุชัดเจนว่า กรณีแพทย์เห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมระดับอาชญากร ประกอบการทำร้ายและฆาตกรรมประชาชนผู้ไร้ความผิดอย่างจงใจ โหดเหี้ยม ถือเป็นบุคคลที่พึงหลีกเลี่ยงให้ไกล เป็นที่ขยะแขยง แต่มีผู้ไต่ถามว่าหากโจรปล้นชิงทำร้ายแพทย์ ตำรวจย่อมมีสิทธิวางเฉยไม่ดำเนินการจับกุมเช่นเดียวกันใช่หรือไม่ ขอชี้แจงว่าเป็นวิธีคิดและตรรกที่ไม่ถูกต้อง เพราะกลุ่มบุคคลที่ของดตรวจเป็นผู้เข่นฆ่าประชาชน หาใช่บุคคลผู้ประกอบสัมมาอาชีพไม่ 2.แพทย์ย่อม ตระหนักดีว่า ในหมู่ข้าราชการตำรวจยังมีคนดีอยู่ แพทย์จึงมีวิจารณญาณในการเลือกรักษาคนดีได้ 3.การแสดงของกลุ่มอาจารย์แพทย์เป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาประชาชนต่อเหตุการณ์ปราบปรามคนไร้ความผิด เป็นการแสดงในบริบทและขอบเขตของผู้ประกอบวิชาชีพจะกระทำได้ ไม่ต่างจากการแสดงออกของสภาทนายความ สมาคมผู้สื่อข่าว หรือกลุ่มวิชาชีพอื่นใด 4.สิ่งที่ทำนั้นถือเป็นวิธีอารยะขัดขืน อหิงสา หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และ 5.การงดตรวจ เป็นมาตรการทางสังคมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้สังคมทั่วไปตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตำรวจฆ่าประชาชน มือเปล่าผู้บริสุทธิ์ หากปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ถูกต้อง ผู้ผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกลงโทษแล้ว การงดตรวจนี้ย่อมยุติลง นพ.ศตวรรษ กล่าว
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า กรณีแพทย์บางคนขึ้นป้ายว่า ไม่ตรวจรักษาตำรวจและนักการเมืองเลวๆ ถือเป็นสิทธิของแพทย์แต่ละคน เพราะถ้าทำหน้าที่ด้วยความไม่สบายใจอาจเกิดความผิดพลาดได้
วันพุธที่ 15 ตุลาคม พุทธศักราช 2551
• คณบดีแพทย์ มช. ยันรักษาทุกกลุ่ม
เมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ในนามผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ออกแถลงการณ์ ภายหลังมีกลุ่มแพทย์ มช.กลุ่มหนึ่ง แสดงความเห็นส่วนตัวจะไม่ตรวจรักษาคณะรัฐมนตรี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและตำรวจในเครื่องแบบจากเหตุสลายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีหน้าที่รับผิดชอบรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยทุกคน โดยไม่เลือกกลุ่มอาชีพหรือผู้ปฏิบัติงานใดๆ และเรียกร้องให้คนในสังคมช่วยกันสร้างความสมานฉันท์ ลดพฤติกรรมที่รุนแรงต่อกัน จะช่วยให้สังคมมีความสงบสุขมากขึ้น
- อ่าน 5,293 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้