คำถาม "ออทิสติกกับการใช้ยา"
ออทิสติก
ออทิสติกเป็นโรคหนึ่งที่นับวัน จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น มักจะพบในเด็กเล็ก (ตั้งแต่อายุ 1-2 ขวบครึ่ง) ซึ่งเป็นลักษณะอาการผิดปกติของการพัฒนาการของสมอง จะแสดงออกทางด้านภาษา สังคม และพฤติกรรม เช่น เด็กดูดนมได้ไม่ดี ไม่ส่งเสียง อ้อแอ้ ไม่พูด หรือพูดช้า พูดไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจใคร ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและบุคคล ชอบแยกตัว เล่นอยู่คนเดียว (แต่บางรายอาจติดคนมากจนผิดปกติ) ทำอะไรซ้ำๆ ชอบเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง เรียกไม่ฟัง ไม่ชอบสบตาคนอื่น ชี้นิ้วไม่เป็น เป็นต้น
ปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่แน่นอนของโรคนี้ว่าเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับลักษณะทางพันธุกรรม และพัฒนาการของสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพราะมักจะเกิดในพี่ๆ น้องๆ ท้องเดียวกัน และยังพบอีกว่า คู่ฝาแฝดเหมือนหรือเกิดจากไข่ใบเดียวกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งเป็น อีกคนหนึ่งก็จะเป็นโรคนี้เหมือนกันอีกด้วย
พ่อแม่และผู้ปกครองส่วนใหญ่จะสังเกตความผิดปกติเหล่านี้ของลูกหลานได้ ตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป เช่น เมื่ออายุครบ 1 ขวบแล้วยังไม่สามารถพูดอ้อแอ้ หรือยังชี้นิ้วไม่ได้ หรือโบกมือไม่ได้ และเมื่อลูกอายุได้ขวบครึ่ง แต่ยังพูดเป็นคำๆ ที่มีพยางค์เดียวไม่ได้ ต่อมาเมื่ออายุได้ 2 ขวบก็พูดคำที่มี 2 พยางค์ติดต่อกันไม่ได้ เป็นต้น
หากสังเกตเห็นหรือไม่แน่ใจความผิดปกติเหล่านี้ของบุตรหลานช่วงหนึ่งจนถึง 2 ขวบครึ่ง (อาจจะเป็นปกติก็ได้) ก็ควรนำบุตรหลานไปพบกุมารแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษา ซักประวัติเพิ่มเติม และลงความเห็นวินิจฉัยความผิดปกติเหล่านี้แต่เนิ่นๆ เพราะพบว่า "ยิ่งได้รับการดูแลรักษายิ่งเร็วเท่าใด ผลการรักษาก็ยิ่งดียิ่งขึ้นเท่านั้น"
ออทิสติกกับการรักษา
การรักษาโรคออทิสติก ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดเป็นหัวใจของการรักษาคือ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง รองลงมา คือกุมารแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาเด็ก
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่ด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ความอดทน และความมุ่งมั่นทุ่มเทเสียสละของผู้ปกครองก็จะช่วยให้ลูกมีอาการดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และอาจดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทั้งด้านการเรียนและการทำงานเหมือนกับคนทั่วไปได้
วิธีการรักษาโรคออทิสติกที่ดีที่สุดคือ พฤติกรรมบำบัด (ไม่ใช่ยา)
พฤติกรรมบำบัดแบ่งเป็นวิธีต่างๆ ได้อีกหลายชนิด ซึ่งกุมารแพทย์จะให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเด็กแต่ละคนจะตอบสนองหรือได้ผลดีกับวิธีต่างๆ ระดับที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจได้ผลดีกับวิธีที่ 1 แต่อีกหลายคนอาจไม่ได้ผล ขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจได้ผลดีกว่าในวิธีที่ 2 หรือ 3 แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ใช้วิธีที่ 2 และ 3 แล้วกลับไม่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ระหว่างการรักษาแต่ละวันระดับอาการของโรคอาจขึ้นๆ ลงๆ ได้เป็นธรรมชาติของโรค แต่ให้พิจารณาโดยภาพรวมของการรักษาว่าเป็นอย่างไร ขอให้ "วันดี" มากกว่า "วันไม่ดี" ก็แล้วกัน และให้มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นก็คือ การสังเกตและการจดบันทึกถึงลักษณะ พฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยของเราช่วงเวลาต่างๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดูแลรักษา เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการเฝ้าติดตามดูแลรักษาและนำไปปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับปรุงพัฒนาการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลานของเรา
ออทิสติกกับการใช้ยา
ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าวิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือพฤติกรรมบำบัด ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี และแต่ละวิธีก็ได้ผลดีกับผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน แต่โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า "ด้วยความรักและความอบอุ่นของพ่อแม่ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่า..." ประกอบกับความเข้าใจ ความอดทน มุ่งมั่น ทุ่มเท อุตสาหะ จะช่วยส่งเสริมสร้างพลังและกำลังใจมหาศาล กระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย ให้มีพัฒนาการดังเช่นเด็กทั่วไป และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ขอให้กำลังใจกับทุกครอบครัวให้ยืนหยัดต่อสู้อย่าง เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีของบุตรหลาน ถึงจะเหนื่อย เครียด หรือท้อบ้างในบางครั้ง ก็อย่าถอย "ท้อได้.. แต่อย่าถอย" สู้ต่อไป เหมือนกับนักกีฬาโอลิมปิกของไทย ที่ตะโกนว่า "สู้...โว้ย..." แล้วก็พิชิตเหรียญทองโอลิมปิก สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิให้กับชาวไทยทั้งชาติ
การใช้ยารักษาโรคออทิสติกอย่างพอเพียง
การรักษาโรคออทิสติกจะใช้ยาเพื่อเสริมการรักษาพฤติกรรมบำบัด และเพื่อบรรเทาอาการหรือรักษาอาการบางอย่างที่ไม่ต้องการเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยรักษาระดับความรุนแรงของโรคให้ลดน้อยลงหรือหายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยจำนวนมากกลับได้ยารักษาโรคนี้ร่วมกับวิธีพฤติกรรมบำบัดด้วย
บรรดายาชนิดต่างๆ ที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการบางอย่างของโรคออทิสติกนั้น ส่วนใหญ่เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบสมอง เช่น ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาต้านลมชัก เป็นต้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยโดยที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ให้รักษาโรคนี้ได้
ปัจจุบันมียาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา แห่งสหรัฐอเมริกาให้ใช้ในผู้ป่วยออทิสติกได้คือ ยา risperidone (มีชื่อทางการค้าว่า Risperdal®) ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้บรรเทาอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว ก้าวร้าว หรือการทำร้ายตนเอง ของผู้ป่วยโรคออทิสติกที่มีอายุระหว่าง 5-16 ปี
ผลดีและผลเสียของยา risperidone
รายงานทางการแพทย์พบว่าเมื่อได้ใช้ยาชนิดนี้มา 8 สัปดาห์ ยาชนิดนี้จะให้ผลในการลดระดับของอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว ก้าวร้าว และโมโหง่าย ของผู้ป่วยโรคออทิสติกได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ยาชนิดนี้เป็นยารักษาโรคจิตเภทมา 10 กว่าปีแล้ว และพบผลข้างเคียงได้บ้าง ตัวอย่างผลข้างเคียงที่พบได้แก่ ง่วงนอน ท้องผูก อ่อนเพลีย เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เจริญอาหารและน้ำหนักเพิ่ม น้ำลายไหล ปากแห้ง มือสั่น ซึม เป็นต้น
นอกจากนี้ บางคนอาจพบมีน้ำนมไหลออกมาจากเต้านม ขี้โมโหมากขึ้น หัวใจเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติได้
โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักเพิ่มนี้พบได้บ่อย ทำให้เด็กเจริญอาหาร กินเก่ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
เด็กส่วนใหญ่เมื่อได้ใช้ยานี้แล้วมักจะช่วยให้นอนง่าย นอนเร็วขึ้น หลับตลอดทั้งคืน สมาธิและอารมณ์ดีขึ้น
ขนาดยาที่ใช้ เด็กที่มีน้ำหนักตัว 15-19 กิโลกรัม ควรเริ่มต้นด้วยขนาดยาวันละ 0.25 มิลลิกรัม และถ้าน้ำหนักตัวตั้งแต่ 20 กิโลกรัมขึ้นไป ควรใช้ยาวันละ 0.50 มิลลิกรัม โดยให้ใช้วันละ 1 ครั้ง ตอนเย็นหรือก่อนนอน และอาจเพิ่มขนาดยานี้ได้ทุกๆ 2 สัปดาห์ครั้งละ 0.25-0.50 มิลลิกรัม จนกว่าจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งขนาดยาที่ได้ผลดี จะอยู่ระหว่าง 0.5-3.0 มิลลิกรัม/วัน
ประเทศไทยมีทั้งชนิดเม็ด ขนาดเม็ดละ 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด และมีชนิดน้ำ ขนาด 30 มิลลิลิตร (โดยมีความเข้มข้นของ 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)
ยารักษาออทิสติกชนิดอื่นๆ
ได้มีความพยายามจากทุกฝ่ายในการคิดค้นนำยาหลายชนิดมาใช้รักษาโรคนี้ ซึ่งมีรายงานของผู้ปกครองที่ลูกของตนเองได้ใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ส่งมายังสถาบันวิจัยออทิสติก ประเทศสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 จนถึง พ.ศ.2548 รวมทั้งสิ้น 23,700 ราย (เอกสารดังเว็บไซต์ http://www.autism.com/treatable/form34qr.htm วันที่สืบค้นวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2551)
ผลรายงานบางส่วนที่ได้มานำเสนอดังแสดงในตารางด้านบนนี้ (ยาแต่ละชนิดอาจเป็นชื่อการค้าในสหรัฐอเมริกา) ให้ผลสำคัญ 3 ระดับคือ ร้อยละของผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลง (ช่องที่ 2) ร้อยละของผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนเดิม (ช่องที่ 3) และร้อยละของผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้น (ช่องที่ 4) และมีการคำนวณอัตราส่วนเปรียบเทียบร้อยละของกลุ่ม "ดีขึ้น" กับ กลุ่ม "แย่ลง ช่องที่ 5 ส่วนในช่องสุดท้ายเป็นจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่รายงานการใช้ยาแต่ละชนิด
พอมีความหวังบ้างใช่ไหมครับ แต่อย่างที่ได้กล่าว ไว้แล้ว ผู้ป่วยแต่ละคนตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกัน "ยามีคุณอนันต์ โทษมหันต์" การใช้ยาขอให้ใช้ด้วยความพอเพียง ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่มากหรือน้อยเกินไป ถ้าต้องการฉบับเต็มก็ขอให้สืบค้นต่อตามเว็บไซต์ที่อ้างถึง และไม่ควรไปซื้อยามาใช้เองโดยพลการ
ควรนำข้อมูลเหล่านี้พร้อมกับข้อมูลสำคัญของลูก ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดให้กับลูกน้อยของเรา
- อ่าน 28,113 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้