ผาเดียวดายมิเดียวดาย
ยืนหน้าผาเดียวดาย ตะวันลายแสงสีแดง
ลมหนาวพัดมาแรง ชมธรรมชาติช่างงามยิ่ง
ผานี้มิเดียวดาย เพราะมากมายด้วยชายหญิง
เดินป่าหาความจริง ว่าทุกสิ่งพิงพึ่งกัน
ตกสายสาดแสงจ้า เห็นผืนป่าใต้ตะวัน
ธรรมชาติเปลี่ยนสีสัน ลมหนาวผันเย็นสบาย
สัจธรรมย้ำบอกว่า กาลเวลาย่อมผันกลาย
ทุกสิ่งอย่ายึดหมาย ใจไร้ทุกข์สุขนิรันดร์
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ณ ผาเดียวดาย เขาใหญ่ 15 ธันวาคม 2551 เวลา 8.15 น.
กวีบทนี้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและบทเรียนของผมจากการเข้าร่วม "โครงการเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อเข้าใจคุณค่าของชีวิต" ของนักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่ง ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
บ่ายวันแรกเข้าร่วมกิจกรรมเดินป่า มัคคุเทศก์ผู้ช่ำช่องได้พาเราเดินไปตามเส้นทางเล็กๆ ที่ลัดเลาะไปในแนวป่าที่มีไม้ใหญ่ขึ้นเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ ผ่านแหล่งน้ำที่สัตว์ป่าออกหากิน ปลัก (แอ่งโคลนเลน) ที่สัตว์มาคลุกเล่น ต้นไม้ใหญ่ที่ต้องใช้คน 5-6 คน โอบรอบโคนต้น ต้นไทรที่ขึ้นโอบไม้อื่นจนทำให้ไม้อื่นตาย (ได้ชื่อว่า "แจ๊กผู้ฆ่ายักษ์" แห่งพงพี)
ระหว่างทาง ผู้นำทางได้ชี้ให้สังเกตดูลักษณะรอยเท้าของสัตว์ป่า เช่น ชะมด กวาง หมูป่า ช้าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนิด และกองมูลของสัตว์เหล่านี้ ได้เห็น มูลช้างกองเบ้อเริ่มที่ยังสดๆ อยู่หลายกอง (ทำให้นึกถึงสุภาษิตที่ว่า "เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง") เห็นร่องรอย ของทางช้างผ่าน ได้แก่ รอยฉีกหักของต้นไม้เล็กที่ช้างลุยผ่าน รอยถลอกของผิวต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลำตัวช้างครูด บางครั้งก็ชี้ให้ดูรอยตีนหมีที่ปีนขึ้นต้นไม้สูง นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวป่าคอนกรีตอย่างพวกเรา
ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินถึงกว่า 3 ชั่วโมง บางช่วงต้องลุยข้ามลำธาร บางช่วงต้องปีนขึ้นเนินชันซึ่งเหนื่อยพอแรง ดีที่ป่าช่วยบังแดดและให้อากาศที่เย็นสบายและความสดชื่น จึงให้ความรู้สึกที่สบายๆ และเพลิดเพลินกับการชมธรรมชาติ และการเรียนรู้เรื่องป่าและระบบนิเวศ
เมื่อต้องเดินในจุดที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เช่น ขึ้นลงที่ชัน ข้ามสะพานไม้เล็กๆ ก็ฝึกย่างแต่ละก้าวด้วยสติที่ตื่นรู้ ลงเท้าอย่างมั่นคง พร้อมกับผ่อนลมหายใจเข้าออกลึกๆ นับว่าเป็นการ "เดินจงกรม" ที่ให้ความรู้สึกดีๆ อีกแบบหนึ่ง
ตอนค่ำ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น มีการเล่นเกมที่ให้การเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ และการอยู่ร่วมกันระหว่างป่ากับสัตว์
นักศึกษาท่านหนึ่งได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินป่าว่า ทำให้เข้าใจถึงธรรมชาติที่สรรพสิ่งต่างอิงอาศัยพึ่งพากัน และอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
ผมได้สะท้อนเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงป่าเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้ ร่างกายคนเราก็มีระบบย่อยๆ ที่ต่างก็พึ่งพากันและถ่วงดุลกัน จึงดำรงอยู่เป็นปกติสุข (สุขภาพ) แม้แต่สังคมมนุษย์ก็ต้องใช้กฎเกณฑ์ธรรมชาติข้อเดียวกันนี้ คือ อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพิงกันและถ่วงดุลกัน จึงจะเกิดสันติภาพ ตรงกันข้ามถ้ามีแต่แก่งแย่งแข่งขันกันหรือสูญเสียความสมดุล ร่างกายก็จะเกิดการเจ็บป่วย สังคมก็จะไร้ซึ่งสันติภาพ
เช้าของวันรุ่งขึ้น มัคคุเทศก์พาพวกเราไปชมทิวทัศน์ที่หน้าผาที่มีชื่อว่า "ผาเดียวดาย"
เราออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด อากาศบนเขาค่อนข้างหนาว ต้องใส่เสื้อผ้าหนาๆ ใส่หมวกและผ้าพันคอกันหนาว บางคนถึงกับใส่ถุงมือ บรรยากาศคล้ายอยู่เมืองหนาว
ที่หน้าผา มีลมหนาวพัดแรง เห็นขอบฟ้าฝั่งตะวันออกทาสีแดง พอตะวันขึ้นฟ้าสว่าง ก็เห็นธรรมชาติ ของป่าในหุบเขาเบื้องล่าง
พวกเราอยู่ชมธรรมชาติและกินอาหารว่างที่หน้าผาแห่งนี้อยู่จนสาย จึงค่อยเดินทางกลับที่พัก
ผู้ประสานงานโครงการนี้ ได้มอบสมุดพกให้ทุกคนเขียนความประทับใจด้วยภาพหรือข้อเขียน
ผมปลีกตัวนั่งอยู่บนก้อนหินที่หน้าผา กลั่นบทร้อยกรองออกมาที่ให้ชื่อว่า "ผาเดียวดายมิเดียวดาย" ดังปรากฏข้างต้น
ตอนเที่ยง ขณะกล่าวปิดโครงการเป็นคนสุดท้าย ผมได้ท่องกวีบทนี้เป็นการปิดท้ายบทเรียนรู้ของการเที่ยวเขาใหญ่ครั้งนี้ของเรา
- อ่าน 3,809 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้