• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้บริบาล

บริบาล มาจากคำว่าปริ ซึ่งแปลว่ารอบ กับปาละ ซึ่งแปลว่าดูแล

ผู้บริบาล หมายถึง ผู้ดูแลโดยรอบ เช่น ดูแลคนแก่ ผู้ป่วย เด็ก คนพิการ อาจรวมถึงครูพี่เลี้ยงเด็ก ที่สามารถดูแลได้ที่บ้านหรือในชุมชน

เรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจะมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น อ่อนแรง เป็นอัมพาต มีความพิการอย่างอื่น ท่านเหล่านี้ไม่ควรไปอยู่ที่โรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลแน่นเร่งรีบ และแพง ไม่เหมาะกับการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังซึ่งต้องการการบริบาลที่ดี

การไปอยู่โรงพยาบาลก็เป็นการแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมอันคุ้นเคยที่บ้าน ทำให้ท่านผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีความสุขเลย และคอยจะร้องขอ "กลับบ้าน"Ž

ถ้าดูแลที่บ้านได้ท่านจะมีความสุขกว่ามาก จึงควรมีพยาบาลเยี่ยมบ้านไปเยี่ยมถึงบ้าน สัปดาห์ละครั้งหรือบ่อยเท่าไรตามความจำเป็น เพื่อทำหัตถการบางอย่างและสอนผู้ป่วยหรือญาติ บางคนอาจจะต้องการผู้บริบาลดูแลเป็นประจำ

ผู้บริบาลควรเป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับหนึ่ง ได้รับการอบรมประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ให้เข้าใจและมีทักษะในการบริบาล โดยเฉพาะมีความละเอียดอ่อนและความรับผิดชอบสูง

คนที่จะเป็นครูฝึกผู้บริบาลคือพยาบาล
ทั้งประเทศเรามีพยาบาลประมาณ 150,000 คน ถ้าคิดอัตราการอบรมเป็น 1 ต่อ 1 ก็ฝึกผู้บริบาลได้เป็นแสนคน

ความต้องการผู้บริบาลและครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กในชุมชนรวมกันจะเป็นจำนวนหลายแสนคน การมีผู้บริบาลจำนวนมากนี้จะเป็นทั้งการสร้างงาน สร้างคน และสร้างประโยชน์ที่ได้รับจากการบริบาลที่ดี

พยาบาลทั้งประเทศอาจจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายพยาบาลเพื่อประชาชน และในแต่ละอำเภอหรือเขตรวมตัวกันตั้ง "มูลนิธิพยาบาลเยี่ยมบ้าน" เพื่อให้บริการพยาบาลเยี่ยมบ้านแก่บ้านที่ต้องการ และมูลนิธิในแต่ละอำเภอหรือเขตรับผิดชอบในการฝึกอบรมผู้บริบาลให้เพียงพอต่อความต้องการ

โดยวิธีนี้เครือข่ายพยาบาลเพื่อประชาชนจะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นเพื่อนและดูแลประชาชนทั้งหมดตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

มนุษย์ต้องการเยียวยา (Healing) อย่างมาก ถ้าทำดีๆ พยาบาลและผู้บริบาลจะเยียวยาโลก (Heal the World) ได้

ข้อมูลสื่อ

358-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 358
กุมภาพันธ์ 2552
ศ.นพ.ประเวศ วะสี