• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเรื้อนไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เมื่อพูดถึงโรคเรื้อน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงสภาพความพิการน่าเกลียด น่ากลัว นิ้วมือ นิ้วเท้าหงิกงอ มีแผลเรื้อรัง และไม่กล้าเข้าใกล้ด้วยกลัวติดโรค ทั้งที่บางคนยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคเรื้อน

ความคิด ความเชื่อเหล่านี้มีสาเหตุมาจากประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าที่เคยพบเห็นผู้ป่วยโรคเรื้อนในอดีตที่มีความพิการมาก และมีการบอกเล่าสืบต่อกันมา ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเรื้อน และครอบครัวได้รับผลกระทบถูกรังเกียจจากสังคม ถูกตีตรา ต้องหลบซ่อนตัว ไม่กล้าออกมารับการรักษาทำให้มีความพิการรุนแรงมากขึ้น

สาเหตุ โรคเรื้อนมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง (Mycobacterium leprae) ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคเรื้อนน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีก็ยังคงมีการตรวจพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ปีละประมาณ 500 ราย

การติดต่อ โรคเรื้อนติดต่อกันได้ โดยการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อน ระยะติดต่อที่ยังไม่ได้รับการรักษา ถึงแม้โรคเรื้อนจะติดต่อกันได้แต่โอกาสที่คนจะเป็นโรคเรื้อนมีเพียงร้อยละ 3 กล่าวคือในคนที่ได้รับเชื้อโรคเรื้อน 100 คน จะมีคนเป็นโรคเรื้อนเพียง 3 คนเท่านั้น

อาการ
ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนไม่ให้เกิดความพิการ จะต้องช่วยกันแนะนำผู้มีอาการระยะเริ่มแรกของโรคเรื้อนให้รีบไปรับการรักษา โดยเราสามารถสังเกตอาการที่น่าสงสัยเป็นโรคเรื้อนจากอาการที่ผิวหนังเป็นวงด่างสีขาว หรือแดง ซึ่งจะมีอาการชา ไม่คัน ไม่เจ็บ หรือเป็นผื่น วงแดง เป็นตุ่มแดงไม่คัน บริเวณวงด่างผิวแห้ง ขนร่วง ใช้ยากินยาทามานานแล้วไม่หาย อาการเหล่านี้อาจพบได้ที่แขน ขา ใบหน้า หรือลำตัว สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีผื่น ตุ่มแดงกระจายทั่วตัวซึ่งเป็นอาการระยะติดต่อของโรค หรืออาจมีความพิการเกิดขึ้นได้

การรักษา ผู้ป่วย หรือผู้สงสัยเป็นโรคเรื้อนสามารถขอรับการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และปัจจุบันการรักษาโรคเรื้อนก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดระยะเวลารักษาให้เหลือเพียง 6 เดือน - 2 ปี เท่านั้น ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการระยะเริ่มแรกของโรค หรือเป็นมากจนเข้าสู่ระยะติดต่อ หรือมีความพิการเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถรักษาให้หายจากโรคได้ แต่ความพิการที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดแก้ไขความพิการ


หากเราได้ช่วยกันสำรวจตนเอง คนในครอบครัว หรือแนะนำผู้มีอาการสงสัยเป็นโรคเรื้อนให้รีบไปรับการตรวจรักษาตั้งแต่เริ่มแรกของโรค ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนไม่มีความพิการ และไม่แพร่โรคในชุมชน และจะเป็นการช่วยลดความรังเกียจ กลัวโรคเรื้อนอย่างผิดๆ ให้หมดไปในที่สุด

ข้อมูลสื่อ

357-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 357
มกราคม 2552
กรมควบคุมโรค
วิจิตรา ธารีสุวรรณ